fbpx
hong kong 1990268 1920

เปิดแนวคิด 5 สถานีรถไฟฟ้าต้นแบบ TOD สู่การพัฒนาเมือง

ในระหว่างที่ร่างผังเมืองกรุงเทพมหานคร ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 อยู่ในขั้นตอนของการพิจารณา สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร ก็ได้ทำการศึกษาและวางแผนพัฒนาพื้นที่ที่มีศักยภาพรอบบริเวณสถานีขนส่งมวลชน – TOD (Transit-Oriented Development)เป็นโครงการคู่ขนานกันไป โดยมีเป้าหมายที่สอดรับกับผังเมืองกทม.ฉบับใหม่ ในการส่งเสริมให้กทม.เป็นเมืองกระชับ มีการใช้ประโยชน์ที่ดินแบบผสมผสานเต็มศักยภาพของพื้นที่ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาระบบราง และผังเมืองรวมกทม.

รวมถึงส่งเสริมให้ลดการใช้รถยนต์ และสนับสนุนอัตลักษณ์ของย่านให้ผสมผสานกับการใช้ชีวิตสมัยใหม่ และที่สำคัญคือ จะต้องสร้างโอกาสให้กับคนในพื้นที่ ทั้งในเรื่องของคุณภาพการอยู่อาศัย การเข้าถึงระบบขนส่ง การสร้างธุรกิจใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นในพื้นที่ เป็นต้น เพื่อนำมาปรับปรุงข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินของผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 ในบริเวณรอบสถานีขนส่งมวลชนต่อไป

สำหรับการคัดเลือกสถานี ที่จะนำมาเป็นต้นแบบในการทำ TOD เริ่มต้นจากการทบทวนรายงานการศึกษาแนวคิดทฤษฎี กฎหมาย และแผนงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาแบ่งประเภทสถานีและคัดเลือกพื้นที่ที่มีศักยภาพ เพื่อเป็นพื้นที่ต้นแบบ 5 บริเวณ เพื่อนำมาจัดทำผังแม่บทการพัฒนาและผังแนวคิดการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ ซึ่งจากการคัดเลือกสถานีในระบบขนส่งมวลชนทั้งหมด จากการแบ่งกลุ่มสถานีตามการใช้ประโยชน์ที่ดินตามร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 เพื่อให้แนวทางการพัฒนา TOD เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับมาตรการทางผังเมือง สามารถแบ่งกลุ่มสถานีออกเป็น 6 กลุ่มได้แก่

  • กลุ่มย่านพาณิชยกรรมศูนย์กลางเมือง 50 สถานี
  • กลุ่มย่านที่อาศัยในเขตกรุงเทพฯชั้นใน 84 สถานี
  • กลุ่มย่านพาณิชยกรรมและย่านที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯชั้นกลาง 132 สถานี
  • กลุ่มย่านที่อยู่อาศัยและพื้นที่เกษตรกรรมในเขตกรุงเทพฯชั้นนอก 9 สถานี
  • กลุ่มย่านประวัติศาสตร์ 15 สถานี
  • กลุ่มย่านสถาบันราชการ 13 สถานี

การคัดเลือกสถานีศักยภาพเพื่อเป็นพื้นที่ต้นแบบ ประกอบด้วย 2 ขั้นตอน ได้แก่
ขั้นตอนที่ 1 การจัดลำดับคะแนนความเหมาะสมพิจารณาจาก 3 ปัจจัย ได้แก่ ปัจจัยด้านกายภาพ ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ และปัจจัยด้านสังคม
ขั้นตอนที่ 2 การคัดเลือกพื้นที่ที่มีศักยภาพเพื่อเป็นพื้นที่ต้นแบบพิจารณาจากเงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่งหรือร่วมกัน ได้แก่ 1.การเป็นพื้นที่ที่มีบทบาทสำคัญของกรุงเทพมหานครตามนโยบาย 2.การเป็นสถานีเปลี่ยนถ่ายการสัญจร และ 3.ความเร่งด่วนของการเปิดให้บริการสถานีรถไฟฟ้า

ตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว พบว่า สถานีที่มีศักยภาพ สำหรับการเป็นพื้นที่ต้นแบบการพัฒนา TOD 5 บริเวณ ประกอบด้วย

  • สถานีประตูน้ำ
  • สถานีวงเวียนใหญ่
  • สถานีเตาปูน
  • สถานีลำสาลี
  • สถานีบางขุนพรหม

โดยแนวทางการออกแบบ 5 สถานีต้นแบบ ตามหลักการของ TOD ตามมาตรฐาน Institute for Transportation and Development Policy จะประกอบไปด้วย การส่งเสริมการเดิน (WALK) การส่งเสริมการใช้จักรยาน(CYCLE) การสร้างเส้นทางเชื่อมต่อการเปลี่ยนถ่ายการขนส่ง(CONNECT) การออกแบบอาคารแบบผสมผสาน(MIX) การเพิ่มความหนาแน่น(DENSITY) การสร้างความกระชับ(COMPACT) และการสร้างความเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเดินทาง(SHIFT) โดยแต่ละสถานีมีแนวคิดการวางผังพัฒนาพื้นที่ดังนี้

สถานีเตาปูน


พื้นที่โดยรอบสถานีถูกกำหนดบทบาทตามผังเมืองรวมให้เป็นพื้นที่อยู่อาศัยหนาแน่นสูงพัฒนาต่อเนื่องจากพื้นที่พาณิชยกรรมศูนย์กลางรอง หรือ Sub CBD บริเวณศูนย์คมนาคมพหลโยธิน หรือสถานีกลางบางซื่อ ซึ่งในอนาคตจะเป็นศูนย์กลางการคมนาคมที่ใหญ่ที่สุดในเขตเมือง และเอชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงการเป็นจุดตัดสถานีรถไฟฟ้าระหว่างสายสีน้ำเงินและสายสีม่วงที่เปิดให้บริการแล้วในปัจจุบัน

แนวคิดในการพัฒนาพื้นที่สถานีเตาปูนเพื่อประสิทธิภาพการเชื่อมต่อสถานีเตาปูนกับย่านที่สำคัญโดยรอบ ไม่ว่าจะเป็นศูนย์คมนาคม รัฐสภาแห่งใหม่ โดยการเพิ่มเส้นทางและโครงข่ายการสัญจรทั้งภายในและภายนอกย่านทั้งในแนวเหนือ-ใต้และตะวันออก-ตะวันตกให้เชื่อมถึงกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังส่งเสริมโอกาสการขยายตัวทางเศรษฐกิจด้วยพาณิชยกรรมและการอยู่อาศัยชั้นดี ร่วมกับการรักษาอัตลักษณ์ของย่านค้าขายวัสดุก่อสร้างและเฟอร์นิเจอร์ไม้ บางโพ ซึ่งสามารถต่อยอดไปสู่พื้นที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ในอนาคตได้

สถานีบางขุนพรหม

พื้นที่รอบสถานีบางขุนพรหมตั้งอยู่ในพื้นที่ย่านประวัติศาสตร์เก่าของกรุงเทพฯต่อเนื่องกับเกาะรัตนโกสินทร์ทางเหนือ เป็นพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์รวมถึงมีย่านชุมชนเก่าแก่มีอัตลักษณ์อยู่เป็นจำนวนมาก สะท้อนลักษณะการตั้งถิ่นฐานแบบชาวบางกอกทำให้มีศักยภาพในการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและเชิงวิถีชีวิตชุมชน

ย่านบางขุนพรหมเป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ ดังนั้นการพัฒนาจะเป็นแบบการเพิ่มความหนาแน่นสร้างบรรยากาศและกิจกรรมใหม่ให้กับย่าน เพื่อความคึกคักโดยกำหนดกิจกรรมพาณิชย์รูปแบบต่างๆ ตอบรับคนทำงานใหม่ในพื้นที่ แนวคิดในการพัฒนาพื้นที่คือ ส่งเสริมโอกาสทางธุรกิจบนฐานของการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในพื้นที่ต่อเนื่องกับเกาะรัตนโกสินทร์

ประสานความหลากหลายของกิจกรรมเชิงพาณิชย์ที่มีอยู่เดิมและธุรกิจใหม่ ที่สะท้อนวิถีชีวิตชุมชนดั้งเดิมคงไว้ซึ่งเสน่ห์แห่งวิถีชุมชนบางกอกที่ร่วมสมัย ส่งเสริมการเชื่อมต่อการเดินทางท่องเที่ยวและการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะ พื้นที่ริมน้ำ ศาสนสถาน ตลอดจนแหล่งเรียนรู้วัฒนธรรมและวิถีชีวิตชุมชนด้วยระบบโครงข่ายทางเดินเท้าและจักรยานที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย

สถานีประตูน้ำ

พื้นที่โดยรอบสถานีประตูน้ำถูกกำหนดบทบาทตามผังเมืองรวมให้เป็นพื้นที่พาณิชยกรรมศูนย์กลางเมือง หรือ CBD เป็นศูนย์กลางด้านแฟชั่นของกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางของพื้นที่พาณิชยกรรมที่มีความหลากหลายในระดับนานาชาติ เช่น เสื้อผ้า คอมพิวเตอร์ สินค้าไอที ย่านธุรกิจการเงิน อาคารสำนักงานขนาดใหญ่ โรงแรม ร้านค้าและร้านอาหาร จำนวนมาก เป็นศูนย์กลางการจ้างงานและศูนย์รวมนักลงทุนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ รวมถึงเป็นศูนย์กลางสัญจรเปลี่ยนถ่ายทั้งทางบก ทางราง และทางน้ำ

แนวคิดในการพัฒนาพื้นที่โดยการสนับสนุนศักยภาพและบทบาทของพื้นที่พาณิชยกรรมศูนย์กลางเมืองที่มีความหนาแน่นสูงเชื่อมโยงธุรกิจและแหล่งท่องเที่ยวหลักที่ต่อเนื่องจากย่านสยาม-ราชประสงค์และย่านมักกะสัน-พระราม 9 ส่งเสริมอัตลักษณ์ย่านแฟชั่นระดับนานาชาติของย่านประตูน้ำ เพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึงสถานีด้วยระบบขนส่งหลายรูปแบบ พร้อมด้วยโครงข่ายทางเท้าในพื้นที่รอบสถานีให้เชื่อมต่อแบบไร้รอยต่อ

สถานีลำสาลี


พื้นที่โดยรอบสถานีลำสาลีถูกกำหนดบทบาทตามผังเมืองรวมให้เป็นศูนย์ชุมชน หรือ community center และเป็นตัวอย่างการพัฒนา TOD ในพื้นที่เปลี่ยนถ่ายการสัญจรหลักทางฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯและพื้นที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง เพื่อรองรับการประกอบกิจกรรมทางธุรกิจการค้าการบริการและนันทนาการที่จะก่อให้เกิดความสมดุลระหว่างที่อยู่อาศัยและแหล่งงานของประชาชนรวมถึงเป็นจุดตัดสถานีรถไฟฟ้า 3 เส้นทางคือรถไฟฟ้าสายสีเหลืองสายสีส้มและสายสีน้ำตาล

แนวคิดในการพัฒนาพื้นที่สร้างความเชื่อมโยงการเปลี่ยนถ่ายการสัญจรของระบบรางได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีส้ม สีเหลือง และสีน้ำตาล พร้อมกับการพัฒนาพื้นที่พาณิชยกรรมผสมผสานวิถีชีวิตชุมชนดั้งเดิมและวิถีชีวิตคนเมืองสมัยใหม่ให้มีความสอดคล้องกันตลอดจนส่งเสริมพื้นที่นันทนาการ ริมคลองแสนแสบสำหรับการเดินทางเข้าสู่สถานี

สถานีวงเวียนใหญ่


พื้นที่โดยรอบสถานีถูกกำหนดบทบาทตามผังเมืองรวมให้เป็นพื้นที่พาณิชยกรรมศูนย์กลางรอง หรือ Sub CBD ต่อเนื่องจากศูนย์กลางพาณิชยกรรมหลัก หรือ CBD ของกรุงเทพฯย่านสีลม-สาทร และเป็นตัวอย่างการพัฒนาTOD ในพื้นที่พาณิชยกรรมหลักของฝั่งธนบุรี เพื่อส่งเสริมความเป็นศูนย์กลางธุรกิจการค้าการบริการและนันทนาการของพื้นที่

แนวคิดในการพัฒนาพื้นที่ โดยการฟื้นฟูและส่งเสริมกิจกรรมการค้า ไปพร้อมๆ กับการรักษาอัตลักษณ์ของย่านวงเวียนใหญ่ ด้วยการอนุรักษ์และพัฒนาอย่างสมดุลตอบสนองต่อการใช้งานพื้นที่ที่ผสมผสานวิถีชีวิตกิจกรรมของผู้คนแบบดั้งเดิมและแบบสมัยใหม่อย่างกลมกลืน ปรับปรุงโครงข่ายการสัญจรการเชื่อมต่ออย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้พื้นที่สามารถพัฒนากลุ่มอาคารเพิ่มความหนาแน่นและเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงรถไฟฟ้าด้วยการเชื่อมโยงกับระบบคลองได้

ทั้ง 5 สถานีต้นแบบจะมีแผนการพัฒนาเพื่อให้เป็นไปตามแนวคิดที่วางไว้ ทั้งเรื่องของแผนงานปรับปรุงทางเท้น ทางจักรยาน ปรับปรุงภูมิทัศน์ริมคลอง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเปลี่ยนถ่ายการสัญจรและการเข้าถึงสถานี การขยายถนน การปรับภูมิทัศน์ในพื้นที่ การพัฒนาสาธารณูปโภค สาธารณูปการ และบริการสาธารณะในพื้นที่ รวมถึงการส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่พาณิชยกรรมและการพัฒนาแบบผสมผสาน ด้วยมาตรการด้านผังเมือง เพื่อให้โครงการสามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรมตามแนวทางที่วางไว้ ซึ่งก็ต้องรอดูกันต่อไปว่าทั้ง 5 สถานีต้นแบบจะสามารถเดินหน้าจริงๆ ได้เมื่อไหร่ เพราะขณะนี้ ร่างผังเมืองรวมกทม. ก็ยังอยู่ระหว่างการปรับแก้ รอเวลาประกาศใช้ในราวๆ ปลายปี 2564 ถึงจะคิกออฟแผนการพัฒนา TOD เหล่านี้ต่อไป

*ภาพและวิดีโอ โดยสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร
*ภาพปกโดย David Mark จาก Pixabay