fbpx
สินเชื่อบ้าน ธอส.

ธอส.ปล่อยกู้แสนล้าน สินเชื่อบ้านครึ่งปีแรกขยายตัว 13%

ธอส. ปล่อยสินเชื่อใหม่ครึ่งปีแรก 100,981 ล้าน ขยายตัว 13% ขณะที่บ้านแนวราบขยายตัวเพิ่มขึ้น สวนทางคอนโดที่ลดลง ชี้ อัตราดอกเบี้ยต่ำ โปรโมชั่น และมาตรการกระตุ้นภาครัฐ ช่วยขับเคลื่อนตลาดที่อยู่อาศัย ภายใต้วิกฤติโควิด-19

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินการในครึ่งปีแรก ธอส.สามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ 100,981 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 12.99% และคิดเป็น 50% ของเป้าหมายปล่อยสินเชื่อใหม่ปี 2563 ที่ตั้งไว้จำนวน 210,000 ล้านบาท โดยมีกำไรสุทธิในครึ่งปีแรกอยู่ที่ 4,831 ล้านบาท และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จำนวน 56,827 ล้านบาท คิดเป็น 4.52% ของยอดสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้น 0.43% จากสิ้นปี 2562 ที่มี NPL อยู่ที่ 4.09%

สำหรับปล่อยสินเชื่อใหม่ในครึ่งปีแรก เป็นสินเชื่อวงเงินไม่เกิน 2 ล้านบาท สำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและปานกลางจำนวน 40,504 ราย นอกจากนี้ ยังเป็นที่สังเกตว่า สินเชื่อที่อยู่อาศัยแนวราบปรับตัวดีขึ้นมาก ขณะที่คอนโดมิเนียมลดลง ซึ่งเป็นไปตามกระแส new normal จากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ต้องการบ้านที่มีพื้นที่มากขึ้นในการ work from home ในช่วงของการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

“สาเหตุสำคัญที่ทำให้สินเชื่อปล่อยใหม่ยังคงขยายตัวได้ดี คือ อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ และการจัดทำโปรโมชั่นกระตุ้นการขายของโครงการที่อยู่อาศัย ถือเป็นโอกาสที่ดีในการมีที่อยู่อาศัยของลูกค้าประชาชนที่ไม่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 รวมถึงมาตรการสนับสนุนของภาครัฐผ่านโครงการต่างๆ อาทิ

  • มาตรการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของ ธอส. กรอบวงเงินรวม 50,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 2.5% ต่อปี คงที่ 3 ปีแรก มียอดอนุมัติสินเชื่อ 27,870 ราย เต็มกรอบวงเงิน 50,000 ล้านบาท
  • โครงการบ้านดีมีดาวน์ ซึ่งรัฐลดภาระในการซื้อที่อยู่อาศัยให้แก่ประชาชน โดยสนับสนุนเงินดาวน์จำนวน 50,000 บาทต่อราย ซี่งมีประชาชนที่ได้รับเงินโอนเรียบร้อยแล้ว 19,549 ราย
  • โครงการบ้านล้านหลัง ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ปรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขกรณีลูกค้ารายย่อย โดยเพิ่มราคาซื้อขายและวงเงินกู้เป็นไม่เกิน 1.2 ล้านบาท จากเดิม 1 ล้านบาท ล่าสุดมีลูกค้าที่ได้รับอนุมัติสินเชื่อแล้ว 29,931 ราย วงเงินสินเชื่อ 21,362 ล้านบาท ภายใต้กรอบวงเงินโครงการ 50,000 ล้านบาท ภายในปี 2564” นายฉัตรชัย กล่าว

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังยังเผชิญกับปัญหาจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ต่อเนื่องจากในช่วงครึ่งปีแรก กระทรวงการคลังจึงได้เปิดให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจปรับเป้าหมายผลการดำเนินงานในปี 2563 อีกครั้ง ซึ่งคณะกรรมการธนาคารได้มีมติเห็นชอบให้ปรับเป้าหมายสินเชื่อปล่อยใหม่จาก 210,000 ล้านบาท ลดลงเหลือ 170,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ หากสถานการณ์ของ COVID-19 เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องธนาคารจะสามารถปล่อยสินเชื่อใหม่เพื่อช่วยให้ประชาชนให้ได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองได้ไม่น้อยกว่า 170,000 ล้านบาท หรือใกล้เคียงกับเป้าหมายเดิมที่กำหนดไว้ที่ 210,000 ล้านบาท

 

ขณะที่กำไรสุทธิลดลงจาก 13,177 ล้านบาท เหลือ 8,227 ล้านบาท สอดคล้องกับการตั้งสำรองที่สูงขึ้นเพื่อรองรับสถานการณ์หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPLs หลังจากสิ้นสุดระยะเวลามาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ของธนาคารในวันที่ 31 ตุลาคม 2563 วงเงิน 2,500 ล้านบาท

โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าที่พักชำระเงินต้นและพักชำระดอกเบี้ย ซึ่งในเดือนสิงหาคมหรือก่อนสิ้นสุดระยะเวลาของมาตรการจำนวน 30 วัน เจ้าหน้าที่ธนาคารจะทยอยติดต่อลูกค้าเพื่อนำข้อมูลมาใช้ในการประเมินความสามารถในการ  ชำระหนี้ในอนาคต และหาแนวทางช่วยเหลือให้ลูกค้ากลับมามีสถานะบัญชีปกติให้มากที่สุดต่อไป

นายฉัตรชัยกล่าวต่ออีกว่า สำหรับแผนที่จะทำในครึ่งปีหลัง ภารกิจหลักจะยังคงอยู่ที่การดูแล ช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ตามมาตรการต่างๆ ทั้ง 8 มาตรการ จำนวน 490,725 บัญชี วงเงินสินเชื่อ 488,024 ล้านบาท โดยจะมีการรีเช็ค เพื่อประเมินสถานการณ์ของลูกค้าว่าจะกลับมาสู่ภาวะปกติได้หรือไม่ และถ้ายังไม่สามารถกลับมาได้ จะมีมาตรการช่วยเหลือต่อเนื่องอย่างไร

ขณะเดียวกัน จะขยายการให้บริการผ่าน ดิจิทัล เซอร์วิส ให้มากขึ้น หลังจากพบว่า ลูกค้าธนาคารมีความต้องการและเกิดความคุ้นเคยที่จะใช้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลมากขึ้น จึงได้จัดทำแผน GHB New Normal Services ด้วยการนำบริการทางการเงินและสินเชื่อไปให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลเพิ่มเติมผ่าน Application  GHB ALL และเว็บไซต์ของธนาคารอาคารสงเคราะห์ www.ghbank.co.th

ในส่วนการให้บริการเงินฝากจะนำเข้าสู่บริการผ่าน Application  GHB ALL ทั้งหมดภายในเดือนกันยายนนี้  ขณะที่การให้บริการสินเชื่อ จะให้บริการผ่าน Application  GHB ALL ในขั้นตอนของการยื่นคำขอกู้ ส่วนขึ้นตอนของการยื่นเอกสารและเซ็นสัญญายังต้องมาทำที่ธนาคาร ขณะที่ขั้นตอนการอนุมัติ การชำระหนี้ และการขอกู้เพิ่ม สามารถทำผ่าน Application  GHB ALL ได้เช่นกัน รวมถึงการประมูลทรัพย์ NPA Online ซึ่งจะเปิดประมูลผ่านออนไลน์ครั้งแรกในวันที่ 17 เดือนกรกฎาคมนี้ เป็นต้นไป

ทั้งนี้ ณ วันที่ 14 กรกฎาคม 2563 ธนาคารมีจำนวนลูกค้าที่สมัครใช้บริการ Application : GHB ALL และยังใช้งานอยู่จำนวน 656,783 บัญชี เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2562 ที่มีจำนวนลูกค้าใช้งานอยู่ 242,180 บัญชี และปัจจุบันลูกค้ามีการทำธุรกรรมการโอนเงินและชำระหนี้เงินกู้ผ่าน GHB ALL จำนวน 509,123 รายการ เพิ่มขึ้นจาก ณ สิ้นปี 2562 ที่มีการทำธุรกรรมจำนวน 375,981 รายการ หรือเพิ่มขึ้น 35.4%