รัฐบาลอัดงบ 115,375 ล้านบาท กระตุ้นเศรษฐกิจระลอกใหม่ผ่าน 481 โครงการ 8,939 รายการ จ้างงานกว่า 7 ล้านคน หวังกระตุ้น GDP ขยายตัวเพิ่ม 0.4%
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีเห็นชอบข้อเสนอโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ผ่านการพิจารณาของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ จำนวน 481 โครงการ 8,939 รายการ วงเงินรวมทั้งสิ้น 115,375.27 ล้านบาท ประกอบด้วย

1.ด้านโครงสร้างพื้นฐาน มีโครงการที่ผ่านการพิจารณาตามหลักเกณฑ์และมีความสำคัญสูง จำนวน 34 โครงการ 7,986 รายการ วงเงินรวมทั้งสิ้น 84,999 ล้านบาท หรือเกือบ 80% ของงบกระตุ้นเศรษฐกิจ แบ่งออกเป็น 2 ด้าน ดังนี้
-ด้านน้ำ 8 โครงการ 2,881 รายการ วงเงินรวมทั้งสิ้น 39,135 ล้านบาท เช่น เพื่ออุปโภคบริโภค ได้แก่ โครงการซ่อมแซมระบบประปาเดิม, ก่อสร้างระบบประปาผิวดิน/น้ำใต้ดิน, ซ่อมแซมสถานีสูบน้ำ, สระเก็บน้ำ เป็นต้น เป้าหมายคือเพื่อให้ประชาชนมีน้ำสะอาดใช้ ลดภาระค่าใช้จ่าย และลดความเสี่ยงจากอุทกภัย เพื่อการหน่วงน้ำ ได้แก่ ทำคลองระบายน้ำ, ประตูระบายน้ำ เพื่อจัดการการไหลของน้ำ เพื่อพัฒนาพื้นที่เกษตร ได้แก่ ทำระบบกระจายน้ำ, ฟื้นฟูแหล่งน้ำ, ซ่อมแซม/สร้างสถานีสูบน้ำ เพื่อดูแลภาคเกษตรกรรม ทำให้ลดผลกระทบจากภัยแล้ง/น้ำท่วม เพิ่มผลผลิตและรายได้

-ด้านคมนาคม 26 โครงการ 5,105 รายการ วงเงินรวมทั้งสิ้น 45,863 ล้านบาท เช่น โครงการเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทางและการขนส่ง ได้แก่ ซ่อมแซมถนนที่ชำรุด, ปรับปรุงแสงสว่าง, ติดตั้งกล้อง CCTV โครงการปรับปรุงและพัฒนาถนนเชื่อมโยงเมืองรองและแหล่งท่องเที่ยว เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวให้คล่องตัวยิ่งขึ้น โครงการแก้ปัญหาการขนส่งผลผลิตทางการเกษตร โครงการแก้ปัญหาจราจรในพื้นที่คอขวด

การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้เป็นการสร้างขีดความสามารถในระยะยาว และเชื่อมโยงกับแผนโครงสร้างพื้นฐานระยะกลาง-ยาวของประเทศ
2.ด้านการท่องเที่ยว มีโครงการที่ผ่านการพิจารณาและมีความสำคัญสูง จำนวน 420 โครงการ 922 รายการ วงเงินรวมทั้งสิ้น 10,052 ล้านบาท เช่น การปรับปรุง ซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐานของสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญและเป็นที่นิยม โครงการเพิ่มความปลอดภัยในพื้นที่ท่องเที่ยว เช่น ไฟส่องสว่างในที่เปลี่ยว, ห้องน้ำสาธารณะ โครงการเชื่อมโยงเส้นทางจากเมืองหลักสู่เมืองรอง/แหล่งท่องเที่ยว, พัฒนาป้ายบอกทาง, ห้องน้ำให้สะอาด และจัดสรรงบกระตุ้นการใช้จ่ายในการท่องเที่ยว

เป้าหมายเพื่อให้การเดินทางท่องเที่ยวสะดวก ปลอดภัย และดึงดูดทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ คาดว่าจะมีประชาชนประมาณ 7.6 ล้านคน ได้รับประโยชน์โดยตรงจากการปรับปรุงเส้นทางและบริการ
3.ด้านการลดผลกระทบภาคการส่งออกและเพิ่มผลิตภาพ มีโครงการที่ผ่านการพิจารณาและมีความสำคัญสูง จำนวน 10 โครงการ 10 รายการ วงเงินรวมทั้งสิ้น 11,122 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 3 ด้าน ดังนี้
-ด้านการลดผลกระทบแรงงาน 1 โครงการ 1 รายการ วงเงินรวมทั้งสิ้น 10,000 ล้านบาท โดยการสมทบเงิน 10,000 ล้านบาทเข้ากองทุนประกันสังคม ซึ่งมีธุรกิจ SME จำนวนมากที่เชื่อมโยงกับการส่งออก เพื่อรักษาการจ้างงานในกลุ่มธุรกิจเสี่ยง นอกจากงบประมาณนี้ รัฐบาลยังมีการเตรียมเงินซอฟท์โลนสนับสนุนการส่งออกผ่านธนาคารรัฐเพิ่มเติมอีกประมาณ 100,000-200,000 ล้านบาท
-ด้านดิจิทัล 5 โครงการ 5 รายการ วงเงินรวมทั้งสิ้น 961 ล้านบาท เพื่อให้การส่งออกมีความคล่องตัวมากขึ้น สามารถหาข้อมูลและจัดการเส้นทางการส่งออกได้โดยไม่ติดขัด
-ด้านการเกษตร 4 โครงการ 4 รายการ วงเงินรวมทั้งสิ้น 160 ล้านบาท

4.เศรษฐกิจชุมชนและอื่นๆ มีโครงการที่ผ่านการพิจารณาและมีความสำคัญสูง จำนวน 17 โครงการ 21 รายการ วงเงินรวมทั้งสิ้น 9,200 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 3 ด้าน ดังนี้
-กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (SML) 1 โครงการ 1 รายการ วงเงินรวมทั้งสิ้น จำนวน 4,000 ล้านบาท เน้นการสร้างงานและโครงการที่ก่อให้เกิดธุรกิจในท้องถิ่น ไม่ใช่แค่การซื้อของทั่วไป เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและสร้างรายได้ให้กับชุมชนฐานราก
-โครงการพัฒนาทุนมนุษย์ด้านการศึกษาเพื่อวางรากฐานเศรษฐกิจให้กับประเทศ 2 โครงการ 2 รายการ วงเงินรวมทั้งสิ้น 3,641 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนด้านการศึกษาในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี จัดอบรมในเชิงวิชาชีพที่สามารถนำไปปฏิบัติและทำงานได้จริง เติมเงินทุนในกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.): เพื่อสนับสนุนเด็กที่ต้องการเข้าถึงแหล่งเงินทุน
-โครงการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนและอื่นๆ 14 โครงการ 18 รายการ วงเงินรวมทั้งสิ้น 1,559 ล้านบาท

งบประมาณ 115,000 ล้านบาทจะกระจายไปเกือบทุกจังหวัดและทุกอำเภอทั่วประเทศ โดยภูมิภาคที่มีรายได้ต่อหัวต่ำจะได้จัดสรรงบประมาณที่สูง เช่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (รายได้ต่อหัว 99,000 บาทต่อคนต่อปี) ได้รับเม็ดเงินสูงถึง 1.81% ของขนาดเศรษฐกิจของตนเอง ขณะที่พื้นที่รายได้สูง เช่น กรุงเทพฯ และปริมณฑล (รายได้ต่อหัว 480,000 บาทต่อคนต่อปี) แม้จะได้รับเงินจำนวนมาก แต่คิดเป็นเพียง 0.34% ของขนาดเศรษฐกิจ ดังนั้น จังหวัดที่มีรายได้น้อยจะได้รับเงินลงทุนเป็นสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจของตนเอง ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจได้มากกว่าจังหวัดที่มีสัดส่วนน้อยกว่า และยังส่งผลมายังเศรษฐกิจในภาคส่วนอื่น ๆ อย่างทั่วถึง ส่งผลให้เกิดการจ้างงานเพิ่ม 7.4 ล้านคน และกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 โดยประมาณ