กรมโยธาธิการและผังเมืองแนะการตรวจสอบอาคารในแต่ละประเภทภายหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวซึ่งมีรายละเอียดที่แตกต่างกันไป โดยมีจุดที่ควรพิจารณาและลักษณะความเสียหายที่สังเกตได้ดังนี้
อาคารโครงสร้างไม้
อาคารโครงสร้างไม้มีน้ำหนักเบาจึงได้รับผลกระทบน้อยกว่าโครงสร้างประเภทอื่น ความเสียหายส่วนใหญ่มักเกิดที่ จุดต่อ (connection) ของชิ้นส่วนโครงสร้างไม้ มากกว่าที่ตัวชิ้นส่วนเอง หากพบการวิบัติที่ตัวชิ้นส่วนโครงสร้าง แสดงว่าอาคารได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง ในการตรวจสอบเบื้องต้น ให้สังเกต:
- การเคลื่อนหลุดของตัวอาคารหรือเสาออกจากฐานราก
- การฉีกขาดของชิ้นส่วนโครงสร้างไม้บริเวณจุดต่อ
- การวิบัติของชิ้นส่วนโครงสร้างไม้ เช่น การฉีกขนานเสี้ยน การฉีกตั้งฉากเสี้ยน การหัก
เนื่องจากไม้เป็นวัสดุที่เปราะ เมื่อพบความเสียหายไม่ว่าที่จุดต่อหรือตัวชิ้นส่วน จะถือว่าอาคารสูญเสียสมรรถนะในการรับกำลังไปอย่างมาก และมีความเสี่ยงต่อการพังถล่ม
อาคารโครงสร้างอิฐก่อ
อาคารโครงสร้างอิฐก่อส่วนใหญ่ในประเทศไทยมักไม่มีการเสริมเหล็ก ผนังก่ออิฐทำหน้าที่รับน้ำหนักจากโครงสร้างส่วนอื่น การพังทลายส่วนใหญ่เกิดจากการเอนออกจากระนาบ (out-of-plane) ของผนังก่ออิฐ โดยเริ่มต้นจากการเกิดรอยแตกร้าวในแนวทแยง (diagonal cracks) เป็นรูปขั้นบันได ตามแนวปูนก่อ หากการสั่นสะเทือนรุนแรงมากขึ้น รอยแตกร้าวจะกว้างขึ้นจนผนังไม่สามารถคงสภาพในระนาบได้และพังถล่มลงมา ในการตรวจสอบเบื้องต้น ให้สังเกต:
- รอยแตกร้าวในแนวทแยงขนาดใหญ่ที่ผนัง
- การเคลื่อนหลุดออกจากระนาบผนัง
- รอยแตกร้าวในแนวนอนที่ฐานผนัง
- รอยแยกระหว่างโครงสร้างพื้นหรือหลังคาและผนังอิฐก่อ
- การถอนของอุปกรณ์ยึดต่างๆ ระหว่างโครงสร้างพื้นหรือหลังคาและผนังอิฐก่อ
- การเอนออกจากระนาบของผนังอิฐก่อ

อาคารโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก
โดยทั่วไปเป็นโครงข้อแข็งรับแรงดัด มีคาน เสา และผนังอิฐก่อเป็นผนังกั้น ลักษณะความเสียหายที่ควรนำมาพิจารณาในการตรวจสอบเบื้องต้น ได้แก่:
- การเอนหลุดออกจากตำแหน่งของเสาหรืออาคารมีการโย้
- รอยแตกร้าวทแยงเนื่องจากแรงเฉือนที่เสาหรือกำแพงรับแรงเฉือน
- การโก่งเดาะของเหล็กเสริมในเสาหรือกำแพงรับแรงเฉือน
- รอยแตกร้าวทแยงที่จุดต่อเสาและคาน
- รอยแตกร้าวและการหลุดล่อนของเนื้อคอนกรีตที่บริเวณปลายคาน
- รอยแตกร้าวที่พื้น
- รอยแตกร้าวในผนังอิฐก่อ
- การหลุดห้อยของผนังแผ่นคอนกรีต (ถ้ามี)
-สำหรับพื้นท้องเรียบ: การวิบัติแบบเฉือนทะลุ และการฉีกขาดของแผ่นพื้นบริเวณแนวคานหรือกำแพงรับน้ำหนัก
-สำหรับพื้นสำเร็จรูป: ความเสียหายของแผ่นพื้นที่อยู่ขนานกับโครงของอาคาร, รอยแตกร้าวในแนวนอนตลอดความกว้างของปีกแผ่นพื้นชนิด double-tee/hollowcore, การฉีกขาดของแผ่นพื้นที่ปลายแผ่นบริเวณฐานรองรับ, รอยแตกร้าวในแนวทแยงเนื่องจากแรงดัดหรือแรงเฉือนที่ส่วนเอวของแผ่นพื้นชนิด hollowcore
-สำหรับพื้นหล่อในที่รองรับด้วยแผ่นเหล็ก: การฉีกขาดของแผ่นพื้นและคานเหล็กรูปพรรณ
ดาวน์โหลด “คู่มือการสำรวจความเสียหายขั้นต้นของโครงสร้างอาคาร หลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว” ฉบับเต็ม
กรมโยธาธิการและผังเมืองยังแนะนำให้เจ้าของอาคารสูง โรงแรม คอนโดมิเนียม และห้างสรรพสินค้า ที่เป็นของภาคเอกชน ติดต่อผู้ตรวจสอบอาคารประจำอาคาร หรือผู้ตรวจสอบอาคารที่ขึ้นทะเบียนกับกรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งมีอยู่กว่า 2,600 ราย เพื่อประเมินความปลอดภัยของการเข้าใช้อาคารตามคู่มือสำรวจความเสียหายขั้นต้นของโครงสร้างอาคารหลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวของกรมโยธาธิการและผังเมือง หากเจ้าของอาคาร ผู้ใช้อาคารหรือผู้ตรวจสอบอาคารต้องการปรึกษาหรือขอคำแนะนำเพิ่มเติม สามารถติดต่อมาที่ศูนย์รับแจ้งเพื่อตรวจสอบความเสียของอาคารที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว ได้ตามช่องทางที่กำหนด ขณะเดียวกันในจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว ได้มอบหมายให้สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดจัดตั้งศูนย์รับแจ้งเพื่อตรวจสอบความเสียหายของอาคารที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว โดยให้รวบรวมวิศวกรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและวิศวกรอาสาในพื้นที่เข้าร่วมดำเนินการตรวจสอบอาคารเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ กรมโยธาธิการและผังเมืองได้เผยแพร่คู่มือสำรวจความเสียหายขั้นต้นของโครงสร้างอาคารหลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวของกรมโยธาธิการและผังเมือง หลังแผ่นดินไหว เพื่อให้เจ้าของอาคาร
ผู้ตรวจสอบอาคาร และประชาชนทั่วไปรับทราบผ่านทุกช่องทาง พร้อมทั้งเปิดสายด่วนสำหรับขอรับคำปรึกษาและแจ้งเหตุที่หมายเลข 02-299-4191 และ 02-299-4312 ตลอด 24 ชั่วโมง จึงขอให้ประชาชนและเจ้าของอาคารที่พบความเสียหาย ดำเนินการให้มีการประเมินตรวจสอบอาคาร เพื่อให้มีความปลอดภัยในการเข้าใช้อาคารต่อไป โดยในส่วนของอาคารบ้านเรือนของพี่น้องประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร กรมจะร่วมกับกรุงเทพมหานคร ดำเนินการตรวจสอบวิเคราะห์ ประเมิน ตามข้อมูลที่ได้รับผ่านแอพพลิเคชั่น Traffy Fondue(ทรัฟฟี่ฟองดู) ของกรุงเทพมหานครต่อไป
