ธอส.ชี้การผ่อนคลาย LTV ช่วยหนุนตลาดที่อยู่อาศัยให้ฟื้นตัว คาดภาพรวมอสังหาฯปี 68 ปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ REIC เผยผลสำรวจไตรมาส 4 ปี 67 ตลาดปรับตัวลงทั้งอุปสงค์-อุปทาน แต่ยังมีสต๊อกบ้าน-คอนโดรอระบายอีกกว่า 2.1 แสนหน่วย มูลค่ากว่า 1.3 ล้านล้านบาท
นายกมลภพ วีระพละ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวในงานสัมมนา “สถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ปี 2568” จัดโดยศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ว่า ธอส.มุ่งหวังที่จะเห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศขยายตัวดีขึ้น โดยเฉพาะการฟื้นตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ จากการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้ประกาศผ่อนคลายเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่ออื่นที่เกี่ยวเนื่องกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (เกณฑ์ LTV) ทำให้สามารถปล่อยสินเชื่อได้เต็ม100% ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการช่วยสนับสนุนและประคับประคองภาคธุรกิจที่อยู่อาศัยให้ฟื้นตัว และเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

การผ่อนคลายมาตราทางการเงินของธปท. ได้แก่ การลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จาก 2.25% เหลือ 2% เมื่อปลายเดือนกุมพาพันธ์ที่ผ่านมา และการประกาศผ่อนคลายเกณฑ์ LTV จะทำให้การซื้อที่อยู่อาศัยของประชาชนในปี 2568 มีมากขึ้นเมื่อเทียบปีที่แล้ว นอกจากนี้ หากรัฐบาลต่ออายุมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองลงเหลือ 0.01% จะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อได้อย่างแน่นอน เพราะจากตัวเลขการอนุมัติสินเชื่อในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567 โดยเฉพาะช่วงเดือนธันวาคมซึ่งเป็นเดือนสุดท้ายก่อนสิ้นสุดมาตรการมีอัตราการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ส่วนในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2568 (ม.ค.-ก.พ.) ธอส.ปล่อยสินเชื่อได้เดือนละประมาณ 11,000 ล้านบาท หากนับรวม 2 เดือนแล้วจะพบว่า ยอดการปล่อยสินเชื่อมากกว่า 2 เดือนแรกของปี 2567 ประมาณ 7,000 ล้านบาท แสดงให้เห็นว่าประชาชนมีความมั่นใจการซื้อบ้านมากขึ้น โดยในปีนี้ธอส.ตั้งเป้าหมายปล่อยสินเชื่อไว้ที่ 240,000 ล้านบาท สูงกว่าปี 2567 ที่ปล่อยสินเชื่อไปได้ 236,000 ล้านบาท โดยการออกผลิตภัณฑ์สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยและเงื่อนไขที่จูงใจประชาชนมากขึ้น และมั่นใจว่าสินเชื่อบ้านในปีนี้จะดีกว่าปีที่แล้วอย่างแน่นอน
จากปัจจัยบวกทั้งในด้านแนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2568 ที่คาดการณ์จะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 2.2-3.2 จากการใช้จ่ายภาครัฐที่เพิ่มขึ้น การลงทุนภาคเอกชนมีสัญญาณการฟื้นตัว และอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ รวมถึงกรณีที่ธปท.ผ่อนคลายเกณฑ์ LTV ชั่วคราว ในทุกระดับราคา ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคงค้างในระบบได้เป็นอย่างดี ซึ่งนายกมลภพ มั่นใจว่า ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในปี 2568 จะปรับตัวดีขึ้นกว่าปี 2567
ทั้งนี้ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ได้รายงานผลสำรวจอุปทานและอุปสงค์ โครงการที่อยู่อาศัยที่อยู่ระหว่างการขาย ประจำไตรมาส 4 ปี 2567 ในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล (กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม) โดยนางสาวสิทธิเพ็ญ สิทธัตถพงษ์ รักษาการผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า ตลาดที่อยู่อาศัยไตรมาส 4 ปี 2567 ทั้งอุปสงค์ และอุปทานปรับตัวลดลง โดยอุปสงค์ที่อยู่อาศัยขายได้ใหม่ ณ ไตรมาส 4 ปี 2567 มีจำนวน 15,038 หน่วย ลดลงร้อยละ -21.6 มูลค่า 90,713 ล้านบาท ลดลงร้อยละ -8.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2567 ขณะที่จำนวนที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่ในไตรมาส 4 มีจำนวน 17,153 หน่วย ลดลงร้อยละ – 45.3 มูลค่า 137,882 ล้านบาท ลดลงร้อยละ -42.5

การปรับตัวของอุปสงค์และอุปทานมีผลให้หน่วยที่มีการเสนอขายทั้งหมดในตลาดปี 2567 ลดลงร้อยละ -3.3 โดยมีจำนวนทั้งสิ้น 275,541 หน่วย มูลค่ารวม 1,700,189 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.2 โดยมีโครงการเปิดขายใหม่จำนวนทั้งสิ้น 62,771 หน่วย ลดลงร้อยละ -34.9 มูลค่า 500,957 ล้านบาท ลดลงร้อยละ -16.2 ส่วนที่อยู่อาศัยขายได้ใหม่มีจำนวนรวม 59,585 หน่วย ลดลงร้อยละ -20.8 มูลค่า 348,991 ล้านบาท ลดลงร้อยละ -10.7 มีผลให้หน่วยเหลือขายสิ้นงวด ณ ปี 2567 มีจำนวนทั้งสิ้น 215, 956 หน่วย เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9 คิดเป็นมูลค่า 1,351,198 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.5
นอกจากนี้ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ยังได้คาดการณ์ภาพรวมสถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัย ปี 2568 จะมีทิศทางการฟื้นตัวที่ดีขึ้น โดยจะมีการลงทุนพัฒนาโครงการใหม่สร้างอุปทานใหม่เสนอขายในตลาดที่อยู่อาศัยรวม (บ้านจัดสรรและอาคารชุด) ในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล เพิ่มขึ้นจากปี 2567 ร้อยละ 16.8 หรือประมาณ 73,291 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 519,692 ล้านบาท เป็นบ้านจัดสรร 37,800 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 348,564 ล้านบาท และเป็นอาคารชุด 35,491 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 171,128 ล้านบาท
ด้านอุปสงค์คาดว่า สถานการณ์การขายจะฟื้นตัวดีขึ้น โดยมีทิศทางที่ดีขึ้นของหน่วยขายได้ใหม่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 หรือประมาณ 61,714 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 361,216 ล้านบาท เป็นบ้านจัดสรร 37,173 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 252,975 ล้านบาท และอาคารชุด 24,542 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 108,241 ล้านบาท แต่ในส่วนของอัตราดูดซับในปี 2568 คาดการณ์ว่าจะยังไม่ฟื้นตัวมากนัก โดยภาพรวมคาดว่าอยู่ในอัตราร้อยละ 1.8 ขณะที่ที่อยู่อาศัยคงค้างในตลาดคาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3 หรือประมาณ 227,304 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 1,454,101 ล้านบาท เป็นบ้านจัดสรร 129,394 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 966,149 ล้านบาท และเป็นอาคารชุด 97,909 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 487,952 ล้านบาท