fbpx
กรณ์

ทำความเข้าใจ “ปัญหาเศรษฐกิจไทย”…แบบง่ายๆ กับ กรณ์ จาติกวณิช

วันนี้ เศรษฐกิจไทย ไม่ได้วิกฤตแบบต้มยำกุ้ง ที่พังทลายเพียงชั่วข้ามคืน แต่มันค่อยๆ ซึม ความหวังของผู้ประกอบการค่อยๆ หายไปมันเป็น “วิกฤตศรัทธา”

นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้บรรยายพิเศษในงานสัมมนาในหัวข้อ วิกฤตเศรษฐกิจไทยในวันที่ “ต้องรอด” ในประชุมใหญ่สมาคมอสังหาริมทรัพย์ฉะเชิงเทรา ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2567 โดยมีหลายประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

“หลายคนมีคำถามและมีความหวังว่ารัฐบาลตระกูลชินวัตรกลับเข้ามาบริหารประเทศในรอบนี้จะสร้างความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจได้เหมือนเมื่อ 20 ปีที่แล้วหรือไม่ ก่อนถึงบทสรุปจำเป็นต้องวิเคราะห์สิ่งที่แตกต่างไปจากอดีตก็คือ

กรณ์ จาติกวนิช

1.เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมีผลต่อผู้ประกอบธุรกิจส่งออก: โดยในปี 2548 ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐอยู่ที่ประมาณ 40 บาทต่อดอลลาร์ขณะที่ปัจจุบันค่าเงินบาทเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 34 บาทต่อดอลลาร์ การแข็งค่าของเงินบาทสะท้อนถึงโครงสร้างเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป ส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกของไทยลดลงเมื่อเทียบกับ 20 ปีก่อน ซึ่งการส่งออกเป็นหนึ่งในปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในยุคนั้น

2.อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงกับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้: อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของธนาคารแห่งประเทศไทยในปัจจุบันอยู่ที่ 2.5% ซึ่งเป็นผลจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อตอบสนองต่อนโยบายการเงินสากล โดยเฉพาะการปรับตัวของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในไทยยังคงสูงกว่านั้นอยู่มาก โดยเฉพาะในกลุ่มสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยหรือสินเชื่อผู้บริโภค ช่องว่างระหว่างดอกเบี้ยอ้างอิงและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ส่งผลให้ผู้บริโภคและธุรกิจประสบปัญหาในการขยายการลงทุนและการบริโภค

3.โครงสร้างทางเศรษฐกิจและประชากรที่เปลี่ยนไป: โครงสร้างทางสังคมและเศรษฐกิจของไทยในปัจจุบันต่างจากเมื่อ 20 ปีก่อน โดยเฉพาะสัดส่วนของประชากรสูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้แรงงานในระบบไม่เพียงพอและทำให้ต้องพึ่งพาแรงงานต่างชาติเพิ่มมากขึ้น ขณะที่การบริโภคในประเทศก็ลดลงเนื่องจากประชากรวัยทำงานมีสัดส่วนลดลง การเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม ทำให้ไม่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้เหมือนในอดีต

4.รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่เอื้อต่อการบริหารของรัฐบาล: ความแตกต่างของรัฐธรรมนูญปี 2548 กับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่เน้นการตรวจสอบและการบริหารที่ต้องผ่านกระบวนการที่เข้มงวดมากขึ้น ส่งผลให้รัฐบาลมีข้อจำกัดในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมากกว่ายุคก่อน ที่รัฐบาลสามารถผลักดันนโยบายได้โดยไม่มีการตรวจสอบมากนัก

5.ปัญหาหนี้ครัวเรือนและการกู้ยืม: ในปัจจุบันหนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ในระดับสูง อยู่ในอันดับ 9 ของโลก สัดส่วนหนี้ที่มีต่อ GDP ของไทยอยู่ในระดับที่น่ากังวล โดยเฉพาะหนี้ที่เกิดจากการบริโภคที่มีสัดส่วนถึง 70% ซึ่งต่างจากประเทศสวีเดนที่หนี้ส่วนใหญ่มาจากการซื้ออสังหาริมทรัพย์ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มขึ้นทุกปี ปัญหาหนี้ครัวเรือนจึงเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย

สมาคมอสังหาฯ ฉะเชิงเทรา กรณ์

    แนวโน้มเศรษฐกิจและโอกาสใหม่
    ทั้งนี้นายกรณ์ได้เสนอแนวทางเศรษฐกิจใหม่ 7 ประการ ประกอบด้วย

    -เศรษฐกิจสาย Blue (สีฟ้า): สร้างเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยี (สายเทค) โดยเน้นการสร้าง Platform ของไทยเพื่อสนับสนุนการพัฒนาทางดิจิทัล

    -เศรษฐกิจสาย Green (สีเขียว): ส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยให้ทุกบ้านสามารถขายไฟฟ้าได้

    -เศรษฐกิจสาย Grey (สีเทา): เน้นการเปลี่ยนส่วย (เงินใต้โต๊ะ) ให้เป็นภาษี โดยเปลี่ยนเงินที่ไม่โปร่งใสให้ถูกกฎหมายและนำไปใช้พัฒนาประเทศ

    -เศรษฐกิจสาย White (สีขาว): ส่งเสริมการท่องเที่ยวทางศาสนา โดยสนับสนุนแหล่งท่องเที่ยวศักดิ์สิทธิ์ในประเทศไทย

    -เศรษฐกิจสาย Yellow (สีเหลือง): เศรษฐกิจสร้างสรรค์ผ่านการส่งเสริมกองทุน Soft Power เพื่อพัฒนาศักยภาพทางวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์

    -เศรษฐกิจสาย Rainbow (สีรุ้ง): สนับสนุนเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับกลุ่ม LGBTQ เพื่อเพิ่มโอกาสในการดึงดูดนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ

    -เศรษฐกิจสาย Silver (สีเงิน): เน้นการสร้างงานสำหรับผู้สูงอายุในประเทศไทย ซึ่งเป็นการตอบโจทย์การเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย

    สำหรับภาคอสังหาริมทรัพย์ ณ เวลานี้ ข้อดีคือนับเป็นอุตสาหกรรมเดียวที่ไม่ถูกโจมตีโดยสินค้าจากประเทศจีน เนื่องจากต้นทุนการขนส่งสูงกว่าสินค้าในประเทศ ทั้งในเรื่องของวัสดุก่อสร้างและแรงงานก่อสร้าง จังหวัดฉะเชิงเทราซึ่งถือเป็น 1 ใน 3 จังหวัดหลักของกลุ่มจังหวัด EEC หากเราต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่นี้ยังคงมีความจำเป็นที่ต้องได้รับการสนับสนุน เพียงแต่รูปแบบการสนับสนุนหรือการลงทุนในพื้นที่อาจเปลี่ยนไปจากเดิม

    รวมถึงการกระตุ้นให้มีกำลังซื้อจากต่างประเทศเนื่องจากกำลังซื้อในประเทศไทยลดลงไม่เพียงพอต่อการซื้อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการเปิดให้ต่างคนต่างชาติเข้ามาซื้ออสังหาริมทรัพย์ โดยส่วนตัวไม่ชอบกับนโยบายนี้แต่เราคงเลี่ยงไม่ได้ จึงจำเป็นต้องมีวิธีบริหารจัดการที่เหมาะสม เพราะทุกนโยบายย่อมมีผลกระทบข้างเคียงเสมอ เราสามารถเปิดพื้นที่ให้คนต่างชาติซื้อได้ในบางพื้นที่ และในบางกลุ่มระดับราคา เช่นเดียวกับในประเทศสิงคโปร์ที่ภาครัฐสนับสนุนให้ประชาชนในประเทศมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง และเปิดให้ต่างชาติเข้ามาซื้ออสังหาริมทรัพย์ในราคาที่สูง เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ