5 ธุรกิจถูกจริตคนโสด LWS เผยผลสำรวจแนวโน้ม คนจะใช้ชีวิตโสดเพิ่มมากขึ้น และเป็นคนโสดที่พร้อมจ่าย เพื่อรองรับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตแบบโสดๆ
นายประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล ดับเบิลยู เอส วิสดอม แอนด์ โซลูชั่นส์ จำกัด หรือ LWS บริษัทวิจัยและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ในเครือ บริษัท แอล. พี. เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด(มหาชน) แนะนำ 5 ธุรกิจบริการ ที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตแบบ “คนโสด” ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเป็นกลุ่มประชากรที่มีกำลังซื้อสูง โดยประมาณว่า มีมูลค่าการใช้จ่ายเฉลี่ยต่อปี 1.4 ล้านล้านบาท
จากรายงานของ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ (สศช.) และ Euromonitor ระบุว่า ณ ปี 2566 มีจำนวนครัวเรือนที่อยู่เพียงลำพัง หรือ คนโสด จากทั่วโลกราวๆ 400 ล้านครัวเรือน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเฉลี่ย 3.3% ต่อปี ในขณะที่ประเทศไทย ณ สิ้นปี 2565 มีจำนวนครัวเรือนที่อยู่เพียงลำพัง กว่า 7 ล้านครัวเรือน หรือคิดเป็นสัดส่วน 26% ของครัวเรือนในประเทศไทยทั้งหมด เพิ่มขึ้นกว่า 10% จากปี 2555 โดยประเทศไทยถือเป็น 1 ใน 10 ประเทศ ที่มีค่าใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของครัวเรือนที่อยู่เพียงลำพัง สูงที่สุดในเอเชียแปซิฟิก โดยเป็นการใช้จ่ายในกลุ่มของสินค้า และบริการ คิดเป็นค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 1.4 ล้านล้านบาท ต่อปี
ในขณะที่ ผลสำรวจของ LWS เมื่อเดือน พฤษภาคม ปี 2566 จากจำนวนผู้อยู่อาศัยใน โครงการอาคารชุดในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล 729 ตัวอย่าง พบว่า มีสัดส่วนของคนที่อยู่เพียงลำพัง คิดเป็นสัดส่วน 45% สูงขึ้นจากปี 2563 ถึง 10% และ มีสถานภาพโสดมากกว่า 75% เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ประมาณ 5% โดยมีรายได้ต่อเดือนอยู่ในช่วง 20,000-40,000 บาท
จากแนวโน้มประชากร ไทยที่อยู่เพียงลำพัง หรือ คนโสด ที่เพิ่มขึ้น ทำให้การพัฒนาสินค้าและบริการ ที่ตอบโจทย์ กับความต้องการของประชากรในกลุ่มนี้จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการ ซึ่งจากผลการสำรวจ ของ LWS พบว่า 5 ธุรกิจบริการ ที่น่าสนใจ และ มีแนวโน้มของความต้องการที่เพิ่มขึ้น ของ “คนโสด” เป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการ ที่จะพัฒนา และ สร้างธุรกิจในกลุ่ม เพื่อรองรับ กับ ความต้องการ ของตลาด ได้แก่
1.ธุรกิจการเช่าที่อยู่อาศัย
ปัจจุบันราคาที่อยู่อาศัย ที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ทั้งต้นทุนที่ดิน ค่าก่อสร้าง และภาระดอกเบี้ย ทำให้ ราคาที่อยู่อาศัย ปรับตัวสูงขึ้นเกินกว่ ความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัย ของผู้ซื้อ ผนวกกับความต้องการของคนรุ่นใหม่และคนโสดที่มีพฤติกรรมการทำงานอาชีพ อิสระมากขึ้น พร้อมที่จะย้ายที่อยู่อาศัยให้ใกล้กับที่ทำงาน และให้ความสำคัญกับการเดินทางและท่องเที่ยวมากขึ้น ทำให้ประชากรในกลุ่มนี้ ตัดสินใจที่จะ “เช่า” ที่อยู่อาศัย มากกว่า “ซื้อ”
จากการสำรวจพฤติกรรมการอยู่อาศัยในอาคารชุดพักอาศัย ของ แอล. ดับเบิลยู. เอส.ฯ ในปี 2566 พบว่า กลุ่มคนเช่าที่อยู่ตัวคนเดียวกว่า 30% มีความศักยภาพที่พร้อมจ่ายค่าเช่าตั้งแต่ 6,000-10,000 บาท/เดือน โดยรูปแบบการพัฒนาอสังหาฯอย่าง อาคารชุดที่พร้อมปล่อยเช่า จำเป็นต้องมีความปลอดภัย, ความสะดวกสบาย, Facility ที่ครบครันสามารถใช้บริการได้ 24 ชั่วโมง รวมไปถึงบริการเสริมที่สามารถเรียกใช้บริการผ่าน Application เช่น บริการรถรับ-ส่งไปยังสถานีรถไฟฟ้าหรือจุดขึ้นรถสาธารณะ บริการทำความสะอาดแบบ Package บริการซ่อมแซม/ตกแต่ง/ต่อเติมในห้องชุด บริการขนย้ายสิ่งของ เป็นต้น
2.อาคารชุดที่เลี้ยงสัตว์ได้
จากการสำรวจความสนใจซื้ออาคารชุดที่เลี้ยงสัตว์ได้ของ แอล. ดับเบิลยู. เอส. ในปี 2566 พบว่า 3 ใน 4 ของคนที่สนใจซื้อ อาคารชุดเพื่อพักอาศัย เลือกพิจารณาโครงการที่สามารถเลี้ยงสัตว์ได้เป็นองค์ประกอบหลักในการพิจารณา โดยส่วนใหญ่มองว่าในอนาคตถ้าต้องการเลี้ยงสัตว์ จะได้ไม่เป็นปัญหาต่อการอยู่อาศัยหรือต้องย้ายที่พักอาศัย
ผลการสำรวจดังกล่าว สอดคล้องกับผลวิจัยของมหาลัยมหิดล (CMMU) และ The 1 Insight ที่ระบุว่า ปัจจุบันคนไทยสัดส่วนมากกว่า 65% เลี้ยงสัตว์เหมือนลูกหรือสมาชิกในครอบครัว หรือที่เรียกว่า “Pet Parent” ในขณะที่ 33% เลี้ยงสัตว์เป็นเพื่อนคลายเหงา และ 2% เลี้ยงสัตว์เพื่อการบำบัดเยียวยาจิตใจ มีความสามารถรองรับค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงได้ 15,000 บาท/ปี ซึ่งการเลี้ยงสัตว์ในที่อยู่อาศัยมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตั้งแต่หลังการแพร่ระบาดของ โคโรน่าไวรัสสายพันธ์ใหม่ 2019 (Covid-19) เป็นต้นมา
การพัฒนาโครงการอาคารชุด ที่สามารถเลี้ยงสัตว์เลี้ยงได้ จำเป็นต้องมีบริการอำนวยความสะดวก เช่น บริการฝากดูแล / พาสัตว์เลี้ยงเดินเล่น บริการทำความสะอาดห้องชุดที่มีสัตว์เลี้ยง บริการออกแบบและติดตั้งอุปกรณ์สำหรับสัตว์เลี้ยงในห้องชุด ร้านขายอาหารสัตว์และอุปกรณ์สัตว์เลี้ยง บริการสปา / อาบน้ำ / แต่งขนสัตว์เลี้ยง
3.ร้านอาหารสำหรับทานคนเดียว
ตั้งแต่ปี 2565 หลังสถานการณ์ Covid-19 เริ่มคลี่คลาย สิ่งที่เปลี่ยนไปและสังเกตได้ชัดเจนคือ การมีร้านอาหารทางเลือกสำหรับการรับประทานอาหารคนเดียวชัดเจนมากขึ้น เช่น ร้านอาหารที่ปรับรูปแบบให้เหมาะกับการนั่งคนเดียวโดยมีตุ๊กตาหมีนั่งเป็นเพื่อน, ร้านราเมงจำลองสถานที่สอบเพื่อการรับประทานอาหารคนเดียว หรือร้านปิ้งย่างที่ลดขนาดโต๊ะให้เหมาะกับการรับประทานคนเดียว จากการผลสำรวจเป็นที่ยืนยันได้ว่า กลุ่มคนที่อาศัยอยู่คนเดียวกว่า 50% ชื่นชอบการทำกิจกรรมนอกบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหาร หรือกิจกรรมอื่นๆ คนเดียว ถ้าจะกล่าวว่าธุรกิจร้านอาหารสำหรับรับประทานคนเดียวเติบโตอย่างต่อเนื่อง คงไม่แปลกเพราะกำลังเป็นเทรนด์ที่ได้ผลตอบรับตามกระแสนิยมในปัจจุบัน
4.การท่องเที่ยวคนเดียว
ปัจจุบันแนวโน้ม การเดินทาง ท่องเที่ยวคนเดียว เพิ่มสูงขึ้นทั่วโลกอย่างมีนัยยะสำคัญ จากผลสำรวจของสำนักวิจัยการตลาด จากประเทศเยอรมัน Statista ระบุว่า ในปี 2566 60% ของนักท่องเที่ยวมีแผนออกเดินทางท่องเที่ยวคนเดียวในช่วง 12 เดือนข้างหน้า โดยเฉพาะในกลุ่มคนโสด ชื่นชอบการเดินทางคนเดียว ท่องเที่ยวมากกว่า 5 ครั้ง/ปี ที่สำคัญตัดสินใจเร็ว กล้าจ่ายแม้ไม่ใช่ช่วงโปรโมชั่น และในปัจจุบัน Application เป็นสิ่งที่สนับสนุนการเที่ยวคนเดียวออกมาให้ใช้งานกันอย่างแพร่หลาย เช่น Flush ไว้หาห้องน้ำ, Agoda ไว้จองห้องพัก ฯลฯ
5.บริการเพื่อนรับจ้าง
ปัจจุบันธุรกิจเช่าเพื่อนเริ่มเป็นที่นิยมอย่างมากของกลุ่มคนรุ่นใหม่ทั้งในรูปแบบออนไลน์ และออนไซต์ โดยเฉพาะในประเทศจีน และญี่ปุ่น จากข้อมูลสำนักงานข่าวนิกเคอิ เอเชีย และ กรุงศรี กูรู รายงานว่า ธุรกิจที่สร้างรายได้จากการให้เช่าเวลาของตัวเอง เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า จากสถิติที่เก็บโดยเจ้าของธุรกิจ พบว่ากลุ่มลูกค้าที่ใช้บริการเช่าส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง 70% เช่าเพื่อปรึกษาหรือหาคนรับฟังสิ่งที่เค้าพูด และอีก 30% เช่าเพื่อขอให้ช่วยงานบางอย่างหรือไปเที่ยว, กินข้าว ไปจนถึงพาไปโรงพยาบาลหรือฝากดูแลผู้สูงอายุ โดยมีอัตราค่าบริการเริ่มต้นที่ 250-600 บาท/ชั่วโมง
เช่นเดียวกันกับในประเทศไทย มีบริการมาเติมเต็มในกลุ่มผู้สูงอายุอย่าง “บริการลูกรับจ้างหลานจำเป็น” ของบริษัท Joyride ที่คอยดูแล, รับ-ส่งถึงที่หมาย มีค่าบริการเริ่มต้น 500 บาท/ชั่วโมง และหากมองหาบริการที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตแบบคนโสด โดยใช้รูปแบบบริการที่มีให้บริการในต่างประเทศมาปรับใช้ได้ไม่ยาก แน่นอนธุรกิจดังกล่าวเป็นบริการทางเลือกที่น่าสนใจ และคาดว่าจะมีมูลค่าตลาดที่สูง เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนกลุ่มลูกค้าที่สามารถเข้าถึงบริการ
“จากแนวโน้มดังกล่าว การพัฒนาธุรกิจบริการที่ตอบโจทย์ การใช้ชีวิตเพียงลำพัง จึงเป็นโอกาส สำหรับผู้ประกอบการ ในทุกภาคธุรกิจ ที่จะพัฒนาทั้งผลิตภัณฑ์และบริการ ที่ตอบโจทย์กับ ลูกค้าในกลุ่มนี้ ที่มีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น รวมทั้ง ผู้ประกอบการอสังหาฯ ที่ต้องพัฒนาทั้งผลิตภัณฑ์ และบริการ ที่สนองความต้องการของ ผู้ซื้อ และ ผู้เช่า ที่อยู่อาศัยในปัจจุบัน” นายประพันธ์ศักดิ์ กล่าว