Ananda Ride the Wave พลิกเกมสร้างโอกาสรับเศรษฐกิจฟื้นตัว เตรียมเดินหน้าขยายตลาดคอนโด Super Ultra Luxury ราคา 150-300 ล้าน ย่านทองหล่อ พร้อมแตกไลน์ธุรกิจใหม่สู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ เปิดแผนการดำเนินงานในปี 2566 รองรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและภาคอสังหาริมทรัพย์ภายใต้แนวคิด “Ananda Ride the Wave” รองรับโอกาสใหม่ๆ ที่จะเข้ามา ทั้งการทำตลาดอย่างเข้มข้นกับสินค้าพร้อมอยู่ที่สามารถสร้างรายได้ได้ทันที การเปิดโครงการใหม่ในระดับแฟลกชิพ รวมทั้งการขยายสู่ธุรกิจใหม่ที่จะสร้างความมั่งคงแข็งแรงในอนาคต โดยตั้งเป้ายอดขายที่ 18,000 ล้านบาท และยอดรับรู้รายได้ 14,500 ล้านบาท
“ตลาดอสังหาริมทรัพย์ปี 2566 ถือเป็นปีแห่งโอกาส โดยเริ่มเห็นสัญญาณบวกต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565 ที่มีแนวโน้มการเติบโตตามสภาพเศรษฐกิจ ซึ่งได้รับปัจจัยบวกจากภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่องที่กลับมาคึกคักอีกครั้งหลังมีการเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ บริษัทจึงพร้อมเดินหน้าภายใต้แนวคิด “Ananda Ride the Wave” เพื่อเตรียมรับโอกาสที่กำลังจะเข้ามาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ” นายชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าว
ปฏิบัติการ Ananda Ride the Wave โดยอาศัยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจรอบใหม่เป็นแรงส่งสำหรับการขับเคลื่อนไปข้างหน้า ผ่าน 4 เสาธุรกิจ ซึ่งประกอบด้วย การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นธุรกิจหลัก ธุรกิจบริหารและพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจเซอร์วิส อพาร์ตเมนต์ และธุรกิจเทคโนโลยี่ ด้านการศึกษา ที่จะนำพาอนันดากลับมาเติบโตได้อย่างยั่งยืน
ในส่วนของธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ภารกิจหลักคือการระบาย Inventory มูลค่าประมาณ 45,000 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วย โครงการที่เป็น RTM (READY TO MOVE) มูลค่า 34,880 ล้านบาท และโครงการที่จะสร้างเสร็จในปี 2566 มูลค่า 10,012 ล้านบาท ที่อนันดายอมอดเปรี้ยวไว้กินหวาน เพื่อรอปล่อยของในจังหวะที่เหมาะเจาะ
“โอกาสจากการเปิดประเทศของจีนที่มีความต้องการที่อยู่อาศัยพร้อมอยู่พร้อมโอนบนทำเลศักยภาพ ซึ่งบริษัทมีความพร้อมรองรับด้วยสินค้าพร้อมอยู่พร้อมโอน 30 โครงการบนทำเลที่ดีที่สุดของกรุงเทพฯ (Blue Chip Location) ครบทุกเซ็กเมนต์ ในราคาที่ยังไม่ได้ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาของที่ดินที่ปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยังคงเชื่อมั่นในศักยภาพคอนโดติดรถไฟฟ้าว่ายังเป็นสินค้าที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการใช้ชีวิตของคนเมืองได้เป็นอย่างดี” นายชานนท์กล่าว
นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ กล่าวเสริมว่า สิ่งที่อนันดายังมีอยู่ใน 45,000 ล้านบาท คือ โควต้าสำหรับต่างชาติที่เราไม่ยอมขายลดราคาเพื่อเร่งระบายของออกไปในช่วง 2 ปีที่เกิดโควิด ทำให้เรายังมีโควต้าขายให้กับต่างชาติอยู่ 34% บริษัทจึงเตรียมความพร้อมในการบุกตลาดต่างประเทศ เพื่อขยายฐานลูกค้าต่างชาติให้เพิ่มมากขึ้น โดยมีการร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจที่มีศักยภาพและแข็งแกร่งจากเอเยนต์ 224 เอเยนต์ และอีก 25 ฟรีแลนซ์ที่จะช่วยเราขาย โดยคาดว่ารายได้จากการจากต่างชาติจะมีสัดส่วนประมาณ 21% ของรายได้ที่ตั้งเป้าในปีนี้ที่ 14,500 ล้านบาท เติบโต 20% จากปีที่ผ่านมา
สำหรับตลาดในประเทศจะมี Event Marketing ที่ถี่และเข้มข้นขึ้น นอกจากงาน Ananda Urban Pulse ที่จัดอยู่ทุกปี เราจะมีการทำการตลาดในรูปแบบของ Ananda Urban Caravan โดยการ Relaunch โครงการพร้อมอยู่ไปเสิร์ฟถึงมือให้กับกลุ่มลูกค้า GEN-C ด้วยกิจกรรม Roadshow สไตล์คนเมืองตลอดทั้งปี โดยที่ลูกค้าสามารถหิ้วกระเป๋าเข้าอยู่ได้เลย เพราะเรามี Knowhow จากการบริหารเซอร์วิส อพาร์ตเมนต์ที่ทำให้รู้ความต้องการของลูกค้าได้เป็นอย่างดี
นอกจากการเร่งระบาย Inventory ที่เป็นภารกิจหลักในปี 2566 และคงต้องใช้เวลาอย่างน้อยๆ อีก 1-2 ปี แล้ว อนันดายังแสวงหาโอกาสใหม่ๆ จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเตรียมแผนเปิดโครงการใหม่เพิ่มอีก 2 โครงการ ซึ่งจะเป็นโครงการในระดับแฟลกชิพที่มีมูลค่ารวมกว่า 14,600 ล้านบาท หนึ่งในนั้นจะเป็นโครงการ Branded Residence ที่ไม่เคยมีมาก่อนในประเทศไทย
นายชานนท์ กล่าวว่า Branded Residence มีความต้องการเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทได้จับมือพันธมิตรระดับโลก (World Class Partner) เพื่อสร้างมาตรฐานใหม่ตอบโจทย์สินค้าในระดับลักชัวรี่ที่เพิ่มสูงขึ้นของกลุ่มลูกค้าไฮเอนด์ ด้วยการเปิดตลาด Super Ultra Luxury บนทำเลใจกลางสุขุมวิท(ทองหล่อ) โดยจะความร่วมมือสำหรับการพัฒนาที่อยู่อาศัยในแบบ Branded Residence ที่ไม่เคยมีมาก่อนในประเทศไทย ขายในราคา 150-300 ล้านบาทต่อยูนิต หรือในราคาเริ่มต้นที่ 2.5 แสนบาทต่อตารางเมตร มีมูลค่าโครงการประมาณ 6,500 ล้านบาท ถือเป็นโครงการที่ราคาสูงที่สุดตั้งแต่อนันดาเคยทำมา
ส่วนอีกโครงการจะเปิดการกลับมาเปิดตัวครั้งใหม่ของโครงการไอดีโอ พหล-สะพานควาย โดยนายประเสริฐ กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการ ไอดีโอ พหล-สะพานควาย มูลค่าโครงการประมาณ 8,100 ล้านบาท ถือเป็นโครงการที่มีมูลค่าสูงสุดของอนัดา โดยจะปรับ Design Concept ใหม่เป็นห้อง Hybrid New Series เพื่อชีวิตคน GEN C ที่ประสบความสำเร็จมาจากโครงการคัลเจอร์ จุฬาฯ โดยจะเปลี่ยนรูปแบบการขายคอนโดจากห้องกว้างxยาว เป็นการขายห้องที่เป็นบล็อค ใช้พื้นที่บนอากาศให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งจะทำคอนโดในเมืองราคาถูกลง ซึ่งห้องขนาด 2-3 ห้องนอนในเมืองต่อไปจะมีราคาอยู่ที่ 3 ล้านกลางๆ สำหรับไอดีโอ พหล-สะพานควาย จะตั้งราคาขายใหม่เป็น 1 แสนต้นๆ ต่อตารางเมตร จากที่เคยตั้งขายราคากว่า 2 แสนบาทต่อตารางเมตร
นอกจากนี้ ในปี 2566 บริษัทยังเตรียมแผนลงทุนสำหรับโครงการใหม่ในอนาคตอีก 10 โครงการ มูลค่ารวมประมาณ 21,200 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการแนวราบ 4 โครงการ มูลค่ารวมประมาณ 7,200 ล้านบาท คอนโดมิเนียม 4 โครงการ มูลค่ารวมประมาณ 10,000 ล้านบาท และธุรกิจ Serviced Apartments จำนวน 2 โครงการ มูลค่ารวมประมาณ 4,000 ล้านบาท โดยทั้งหมดคาดว่าจะเป็นโครงการร่วมทุน
นายชานนท์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของธุรกิจ Serviced Apartment ในปี 2566 มั่นใจว่าจะสามารถสร้างรายได้ประจำอย่างต่อเนื่องให้กับบริษัทในทุกทำเล หลังเปิดให้บริการ Serviced Apartment เต็มรูปแบบทั้ง 5 โครงการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ได้แก่ โครงการซัมเมอร์เซ็ต พระราม 9 / โครงการแอสคอทท์ ทองหล่อ บางกอก / โครงการแอสคอทท์ เอ็มบาสซี สาทร / โครงการไลฟ์ สุขุมวิท 8 บางกอก / โครงการซัมเมอร์เซ็ต พัทยา) ด้วยปัจจัยบวกโดยตรงจากการเปิดประเทศ ซึ่งประเทศไทย โดยเฉพาะกรุงเทพและพัทยาเป็นเมืองที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจอยู่ในระดับต้นๆ ของโลก
ขณะเดียวกัน ในปีนี้อนันดามีแผนเปิดตัว Business Line ใหม่ ในรูปแบบของ Professional Services and Management Consultancy รับดำเนินงานบริหาร และพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์แบบ Total Solutions โดยอยู่ระหว่างการเจรจาข้อตกลงขั้นสุดท้าย กับบริษัท แรบบิท โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เพื่อบริหารและพัฒนาโครงการแรกบนทำเล Prime Area บริเวณสุขุมวิท 38 (ใกล้รถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีทองหล่อ) ซึ่งจะเป็นโครงการในรูปแบบ Mix Used มูลค่าโครงการ 5,700 ล้านบาท ที่ประกอบด้วยคอนโดมิเนียม เซอร์วิสอพาร์ทเม้นท์ และ Food and Beverages และคาดว่าจะมีความร่วมมือในโครงการอื่นๆ ลักษณะเดียวกันนี้ทั้งกับทางแรบบิท โฮลดิ้งส์ และพันธมิตรรายอื่นๆ ต่อไป เช่น มิตซุย ฟูโดซัง ดิ แอสคอทท์ เป็นต้น
รวมทั้งการพัฒนาด้าน Tech Education เพื่อเป็นส่วนช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจดิจิตอล มีจุดมุ่งหมายให้ไทยก้าวทันการพัฒนาด้านดังกล่าวทัดเทียมหลายประเทศในกลุ่มอาเซียน บริษัทจึงจัดตั้ง The Master Academy (TMA) ขึ้นมีวัตถุประสงค์ที่จะสร้างทักษะและเสริมความคิดในทางธุรกิจผนวกกับเทคโนโลยีดิจิตอล โดยเริ่มจากการ upskill / reskill โดยร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อเปิดตัวหลักสูตร The Data Master ทำหน้าที่ผลิตนักวิทยาศาสตร์ด้านข้อมูลหรือ Data Scientists ซึ่งปัจจุบันมีไม่เพียงพอกับความต้องการในประเทศ และในอนาคตมีแผนที่จะพัฒนาสู่หลักสูตรอื่นๆ เช่น Blockchain และ Cyber Security ร่วมกับมหาวิทยาลัยและบริษัทชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศโดยเน้นการนำไปใช้ได้จริง รวมถึงความร่วมมือกับ Singularity University (SU) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย
“อนันดาฯ มีความมั่นใจว่า ด้วยโอกาสและปัจจัยบวกที่กำลังเข้ามาในปีนี้ บริษัทมีสินค้าพร้อมอยู่พร้อมโอนบนทำเลศักยภาพmujสามารถรองรับความต้องการของลูกค้าคนเมืองได้ครบทุกเซ็กเมนท์รวมถึงลูกค้าต่างชาติ และการขยายสู่ธุรกิจใหม่ของบริษัทจะเป็นโอกาสที่ดีในการเติบโตของบริษัทอย่างแน่นอน” นายชานนท์ กล่าว