fbpx
ปก ต้นทุน ดอกเบี้ย ขึ้น

กนง.ขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% ธอส.-แบงก์รัฐขยับตาม

กนง.ประเดิมปี 66 ขยับดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ธอส.ขึ้นดอกเบี้ยบ้านตาม ขณะที่แบงก์รัฐจ่อปรับในเดือนม.ค. EIC คาดปีนี้กนง.ขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 รอบ เป้าหมายอยู่ที่ 2%

ประชุมนัดแรกของปี 2566 เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2566 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ก็มีมติเป็นเอกฉันท์ประกาศปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ต่อปี เป็นการปรับขึ้นต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 4 จากการประชุมกนง. 4 ครั้งหลังสุด ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายขยับจาก 1.25% เป็น 1.50% ต่อปี และเป็นครั้งแรกนับจากวันที่ 25 กันยายน 2562 ที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายกลับมายืนอยู่ที่ 1.50%

นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการเห็นว่าการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องเป็นแนวทางการดำเนินนโยบายที่สอดคล้องกับแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ จึงเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี เนื่องจากเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ต่อเนื่องและมีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยภาคการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวเร็วขึ้นตามการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการจ้างงานและการกระจายรายได้ของลูกจ้างในภาคบริการและผู้ประกอบอาชีพอิสระที่มีอยู่จำนวนมาก รวมทั้งเป็นแรงส่งต่อเนื่องไปยังการบริโภคภาคเอกชนด้วย

ขณะที่การส่งออกสินค้าแม้มีแนวโน้มชะลอลงในปีนี้ แต่จะกลับมาฟื้นตัวในปี 2567 ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะผ่านจุดต่ำสุดในปี 2566 ก่อนจะปรับดีขึ้นในปี 2567 ซึ่งคณะกรรมการประเมินว่าเศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงด้านต่ำลดลง ตามแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศเศรษฐกิจหลักรวมถึงจีนที่ปรับดีขึ้น

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มลดลง โดยแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปทานทยอยคลี่คลายตามราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์โลกที่ปรับลดลง แต่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานคาดว่าจะทรงตัวในระดับสูงอีกระยะหนึ่งก่อนจะทยอยปรับลดลง ด้านอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีความเสี่ยงที่จะอยู่ในระดับสูงนานกว่าคาดจากการส่งผ่านต้นทุนที่อาจเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการเผชิญภาวะต้นทุนสูงต่อเนื่อง อีกทั้งการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวจะส่งผลให้แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์เพิ่มขึ้น จึงต้องติดตามความเสี่ยงเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด

ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ ธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนมีแนวโน้มปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ฐานะการเงินของผู้ประกอบการ SMEs และครัวเรือนบางส่วนยังเปราะบางและอ่อนไหวต่อค่าครองชีพและภาระหนี้ที่สูงขึ้น คณะกรรมการฯ เห็นควรดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเห็นความสำคัญของการมีมาตรการเฉพาะจุดและแนวทางแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนสำหรับกลุ่มเปราะบาง

ภาวะการเงินโดยรวมผ่อนคลายลดลง ต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนปรับสูงขึ้นสอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายและการสิ้นสุดมาตรการปรับลดอัตราเงินนำส่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF fee) แต่ปริมาณสินเชื่อและการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ยังขยายตัว ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐ ปรับแข็งค่าขึ้น ตามการคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ ในอัตราที่ชะลอลง และการผ่อนคลายมาตรการการเดินทางของจีนที่จะส่งผลบวกต่อการท่องเที่ยวไทย คณะกรรมการจะติดตามพัฒนาการในตลาดการเงินและความผันผวนในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด

ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยต้องติดตามความเสี่ยงเงินเฟ้อจากแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่อาจเพิ่มขึ้น

จึงเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเข้าสู่ระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยพร้อมที่จะปรับขนาดและเงื่อนเวลาของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หากแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อไทยเปลี่ยนไปจากที่ประเมินไว้

หลังจากกนง.ประกาศปรับอัตราดอกเบี้ย ธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) ก็ปรับดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับการซื้อที่อยู่อาศัยในทันที 0.25% โดยเป็นการปรับขึ้นครั้งแรกหลังจากที่กนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ยมาแล้ว 4 ครั้งๆ ละ 0.25% รวมเป็น 1% และเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เป็นครั้งแรกของ ธอส. ในรอบ 2 ปี 9 เดือน

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสินทรัพย์ หนี้สิน และการเงิน ของ ธอส.ได้มีมติให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภท 0.25% ต่อปี มีผลตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม 2566 เป็นต้นไป เพื่อให้สอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในตลาดหลังจากกนง.ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ต่อปี

ทั้งนี้ ในปี 2565 ธอส. ได้มีการประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก แต่ตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไว้มาโดยตลอดเพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการช่วยให้ลูกค้าเงินกู้ของธนาคารให้ได้มีเวลาปรับตัวรับกับภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นในอนาคต และยังเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 2 ปี 9 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2563 อีกด้วย โดยมีรายละเอียด ดังนี้

  • อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) จาก 6.15% ต่อปี ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 6.40% ต่อปี
  • อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (MLR) จาก 5.75% ต่อปี ปรับเพิ่มขึ้น เป็น 6.00% ต่อปี
  • อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้เบิกเกินบัญชี (MOR) จาก 5.90% ต่อปี ปรับเพิ่มขึ้น เป็น 6.15% ต่อปี

ธอส. ยืนยันว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในครั้งนี้ จะไม่ส่งผลให้ลูกค้าส่วนใหญ่ของธนาคารต้องผ่อนชำระเงินงวดเพิ่มขึ้น เนื่องจากธนาคารได้จัดทำผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่มีการคำนวณเงินงวดให้มีจำนวนเผื่อกรณีมีการปรับอัตราดอกเบี้ยไว้ให้กับลูกค้าอยู่แล้ว และ ธอส. ยังคงตระหนักถึงการดูแลลูกค้ากลุ่มเปราะบางที่รายได้ยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติให้ได้รับความช่วยเหลือผ่านมาตรการต่าง ๆ ของธนาคารอย่างเหมาะสมทั้งการลดภาระทางการเงิน การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และการเสริมสภาพคล่องต่อไป

นอกจากนี้ นายฉัตรชัย ในฐานะประธานกรรมการสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ ยังกล่าวด้วยว่า สถาบันการเงินของรัฐ มีความจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ โดยเริ่มมีผลตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 เป็นต้นไป เพื่อให้สอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในตลาดและจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากไปแล้วก่อนหน้านี้ รวมถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและสถานการณ์ COVID-19 ที่คลี่คลายลง อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ดังกล่าวยังเป็นระดับที่ต่ำกว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และจะไม่ส่งผลกระทบให้เงินงวดของลูกค้าส่วนใหญ่ต้องปรับขึ้นแต่อย่างใด

ขณะที่ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพภาณิชย์ (SCB EIC) ประเมินว่า กนง. จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องอีก 2 ครั้ง ในการประชุมเดือนมีนาคมและเดือนพฤษภาคม ส่งผลให้ดอกเบี้นสู่ระดับ 2% และคาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2% ตลอดปี 2566 เพื่อให้นโยบายการเงินค่อย ๆ กลับสู่ระดับที่เหมาะสมกับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว

ในปีนี้จะเป็นปีที่แต่ละธนาคารเริ่มปรับดอกเบี้ยเงินกู้ให้สอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้ได้มากที่สุด เป็นปีที่เข้าสู่ยุคดอกเบี้ยขาขึ้นอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งแน่นอนว่าจะกระทบกับต้นทุนการเงินของผู้ประกอบการ และความสามารถในการซื้อบ้านของผู้บริโภคที่จะลดลง ถือเป็นอีกหนึ่งโจทย์ใหญ่ของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปีนี้เลยทีเดียว