fbpx
ศุภาลัย ชวนพันธมิตรธุรกิจ สร้างดี เพิ่มพื้นที่ป่าชุมชน 01

ศุภาลัย ผนึกพันธมิตรธุรกิจ เพิ่มพื้นที่ป่าชุมชน จ.นครราชสีมา

ศุภาลัย แท็กทีม ตลาดหลักทรัพย์ฯและกรมป่าไม้ มอบพื้นที่สีเขียวให้ชาวบ้านชุมชนบ้านโคกพลวง อ.จักราช จ.นครราชสีมา ชวนผู้บริหาร ซัพพลายเออร์ สื่อมวลชนและพนักงานร่วมปลูกต้นไม้นานาพันธุ์จำนวน 2,000 ต้นเพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าจำนวน 10 ไร่ในโครงการ “ศุภพนาลัย by Care the Wild” ตั้งเป้าลดการปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ 25% ภายใน 3 ปี

นายไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาบริษัทได้จัดกิจกรรมเพื่อความรับผิดชอบและให้ความสำคัญต่อสังคมในทุกด้าน (CSR) ควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจ โดยต่อจากนี้กิจกรรมทั้งหมดจะอยู่ภายใต้ชื่อโครงการ “ศุภาลัย สร้างดี” เพราะนอกจากการสร้างบ้านที่ดีให้กับลูกค้ามาตลอด 33 ปีแล้ว บริษัทมีความเชื่อมั่นว่าหากมีความตั้งใจที่ดีแล้วก็สามารถขับเคลื่อนและสร้างคุณค่าต่างๆ ให้เกิดในสังคมได้อย่างมากมาย อาทิ การสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับโลก สร้างการศึกษาที่ดีให้กับเยาวชน ก่อให้เกิดการสร้างสังคมที่ดีแก่ประเทศชาติ รวมไปถึงการเป็นบรรษัทภิบาลที่ดี โดยการดำเนินธุรกิจอย่างซื่อสัตย์และมีความรับผิดชอบต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเช่นเดียวกับที่บริษัทฯได้ยึดมั่นและปฏิบัติตลอดมา

ในปัจจุบันวิกฤตด้านพลังงานและสภาพอากาศที่โลกกำลังเผชิญนั้นส่งผลกระทบต่อทุกชีวิต การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งทำให้เกิดวิกฤตภาวะโลกร้อนเป็นปัญหาที่ทุกประเทศต้องรวมพลังเพื่อร่วมกันลดภาวะก๊าซเรือนกระจก ลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือ CO2 ให้ได้มากที่สุด ซึ่งในปี 2565 บริษัท ศุภาลัยได้ตั้งเป้าหมายลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ 25% ภายใน 3 ปี และตระหนักถึงความสำคัญในการดูแลสิ่งแวดล้อมร่วมกับการดำเนินธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยมาโดยตลอด โดยในจังหวัดนครราชสีมาที่บริษัทฯได้เข้ามาพัฒนาธุรกิจมานานกว่า 8 ปีแล้ว จึงได้เข้าร่วมโครงการ “ศุภพนาลัย by Care The Wide” ร่วมกับพันธมิตรคือตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และกรมป่าไม้ เพื่อพลิกฟื้นผืนป่าชุมชน ณ บ้านโคกพลวง อ.จักราช จ.นครราชสีมา

ทั้งนี้ บริษัทได้ชวนผู้บริหาร พนักงาน พันธมิตรกลุ่มบริษัทคู่ค้า ทั้งกลุ่มบริษัท ธรรมสรณ์ จำกัด, เอสซีจี, ทีโอเอ เพ้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน), บริษัท สยามซานิทารีแวร์ จำกัด, สื่อมวลชนรวมทั้งชาวบ้านในละแวกใกล้เคียง ปลูกต้นไม้ จำนวน 2,000 ต้น ในพื้นที่ป่าชุมชนขนาด 10 ไร่ โดยมีชาวชุมชนบ้านโคกพลวงเป็นกำลังสำคัญในการรักษาป่า ให้อยู่รอดและเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนได้ 100% อีกทั้งชาวบ้านยังสามารถใช้ป่าชุมชนนี้เป็นแหล่งทำมาหากิน เพราะจะอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทั้งไม้ยืนต้นและไม้กินได้ อาทิ สัก, ปีบ, พะยูง, ยางนา, ประดู่, มะม่วง จำนวนมากถึง 2,000 ต้น ซึ่งได้ประโยชน์ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ การรักษาระบบนิเวศ และพัฒนาชุมชนให้อยู่ได้อย่างยั่งยืนต่อเนื่องไปได้หลายสิบปี

ด้านนายอำนวย จิรมหาโภคา ผู้ช่วยผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัญหาภาวะโลกร้อนเป็นปัญหาใหญ่ที่ไม่สามารถแก้ไขได้โดยคนๆ เดียว ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วน ซึ่งบริษัท ศุภาลัย เป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ มานานกว่า 30 ปี มีผลประกอบการที่ดี มีฐานะการเงินที่มั่นคงแข็งแรง และมีการบริหารจัดการที่คำนึงถึงธรรมาภิบาลและการเติบโตอย่างยั่งยืนหรือ ESG อีกทั้งที่ผ่านมาก็มีส่วนร่วมในการรับผิดชอบและช่วยเหลือต่อสังคมมาโดยตลอด ซึ่งการปลูกป่าในครั้งนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทุกฝ่ายจะร่วมกันสร้างคุณค่าและประโยชน์ให้กับพื้นที่ป่าของชาวบ้านในชุมชนโคกพลวงต่อไป

นางนันทนา บุณยานันต์ ผู้อำนวยการสำนักจัดการป่าชุมชน กรมป่าไม้ กล่าวขอบคุณโครงการ Care The Wild ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มในการระดมทุนจากภาคธุรกิจให้มาปลูกป้องป่า เพื่อสร้างพื้นที่สีเขียวให้กับประเทศไทย ขอขอบคุณ บริษัท ศุภาลัย ที่เข้ามาสนับสนุนในการปลูกต้นไม้ และขอบคุณที่บริษัทฯเชื่อมั่นและเห็นความสำคัญของกรมป่าไม้ที่จะเข้ามาประสานงานเชื่อมโยงชุมชนนำมาสู่การปลูกต้นไม้ให้เป็นป่าในพื้นที่ชุมชนในครั้งนี้

ชุมชนบ้านโคกพลวงเป็นชุมชนคนรักป่าและมีจิตสำนึกในการหวงแหนป่าที่ได้ร่วมดูแลรักษาป่าชุมชน และชุมชนแห่งนี้ก็จะปกป้องและดูแลต้นไม้ให้เติบใหญ่และจะดูแลรักษาไปอีก 10 ปี ซึ่งในอนาคตป่าแห่งนี้จะเอื้อประโยชน์ให้กับคนในชุมชน เป็นคลังอาหาร ลดรายจ่าย-เพิ่มรายได้ สร้างเศรษฐกิจชุมชน เชื่อมโยง BCG โมเดล และป่าแห่งนี้จะทำหน้าที่รักษาสมดุลของระบบนิเวศ เพื่อส่งต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่สมบูรณ์ ให้เป็นมรดกทางธรรมชาติให้กับลูกหลานไทยสืบต่อไป

นายชาตรี เพชรนอก ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 11 และประธานคณะกรรมการป่าชุมชนบ้านโคกพลวง เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้บริเวณพื้นที่ชุมชนโคกพลวงมีการบุกรุกป่ามากว่า 10 ปี จนเมื่อปีพ.ศ. 2552 ชาวบ้านโคกพลวงได้มีการต่อสู้ทวงคืนผืนป่ากลับคืนมาจากนายทุน และได้ร่วมกันเริ่มต้นปลูกป่าด้วยฝีมือมนุษย์พร้อมทั้งช่วยกันดูแลจนเกิดพื้นที่สีเขียวมากขึ้นในพื้นที่ โดยการเข้ามาช่วยเหลือจากภาครัฐและเอกชนในครั้งนี้ช่วยเสริมความเข้มแข็งให้กับชุมชนในการมุ่งมั่นสร้างพื้นที่ป่าอย่างยั่งยืนให้กับชาวบ้านโคกพลวงต่อไป