“พิษณุพร อุทกภาชน์” CEO บริษัท เคหะสุขประชา ชี้แจงกรณีถูกพาดพิงเกี่ยวกับบริษัท CEMCO พร้อมเผยโครงการเคหะสุขประชา “บ้านเช่าพร้อมอาชีพ” มีบ้านมีงาน ไม่ต้องรอถึง 200 ปี ที่จะคืนทุน
นายพิษณุพร อุทกภาชน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เคหะสุขประชา จำกัด (มหาชน) (K-HA) และในฐานะอดีตกรรมการผู้จัดการ บริษัท จัดการทรัพย์สินและชุมชน จำกัด หรือ CEMCO เปิดเผยถึงกรณีโดนพาดพิงในการอภิปรายไม่ไว้วางใจและเรื่องผู้บริหาร บริษัท จัดการทรัพย์สินและชุมชน จำกัด หรือ CEMCO ในเรื่องของผลการดำเนินงานและเรื่องการรับงานของ การเคหะแห่งชาติ (กคช.) โดยชี้แจงว่า ตามที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แจ้งให้ตรวจสอบผลประโยชน์ทับซ้อนใน CEMCO ซึ่งบริษัทพบว่า มีกรรมการ 2 ท่าน ที่เข้ามาช่วงปี 2558 – 2559 ขาดคุณสมบัติในการเป็นกรรมการ เนื่องจากขัดกับข้อบังคับของบริษัทที่ห้ามกรรมการประกอบธุรกิจอย่างเดียวกับบริษัท
“เป็นที่สงสัยว่าหลังกรรมการใหม่เข้ามา ผลการดำเนินงานของ CEMCO ได้ขาดทุน ในขณะที่ธุรกิจที่กรรมการดำเนินอยู่นั้นมีผลกำไร และยังมีประเด็นเรื่องของการบันทึกบัญชีที่อาจจะบิดเบือนต่อการดำเนินงาน มีการตั้งลูกหนี้เทียมขึ้นมา ส่งผลให้ CEMCO ได้รับความเสียหายประมาณ 2 ล้านบาท และเราต้องตัดหนี้ของลูกหนี้รายนั้น ซึ่งเราได้ดำเนินการฟ้องร้องต่อผู้ที่เกี่ยวข้องไปหมดแล้ว แต่การอภิปรายได้หยิบเอาประเด็นในอดีตมาปะติดปะต่อเชื่อมโยงจนเหมือนเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน” นายพิษณุพร กล่าว
ทั้งนี้บริษัท จัดการทรัพย์สินและชุมชน จำกัด (CEMCO) ได้ก่อตั้งเมื่อปี 2538 บริษัทในเครือการเคหะแห่งชาติ (กคช.) โดย กคช.ถือหุ้น 49 % ด้วยทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาท โดยมีภาระกิจหลักการดูแลชุมชน ต่อจาก กคช. ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการก่อตั้ง ได้แก่ 1. เพื่อดำเนินงาน บริหารจัดการ นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร นิติบุคคลอาคารชุด นิติบุคคลอาคารเช่า 2. เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนและพัฒนาชุมชนให้น่าอยู่ และ 3. ดำเนินการด้านอื่นๆ ตามภาระกิจที่การเคหะแห่งชาติมอบหมาย
นายพิษณุพร กล่าวต่ออีกว่า หลังจากที่ตนได้เข้ามารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการในปี 2560 บริษัทมีผลขาดทุนสะสมอยู่ ณ สิ้นปี 2560 เท่ากับ 13.4 ล้านบาท และในส่วนของผู้ถือหุ้นมีอยู่เพียง 6.85 ล้านบาท จะว่าไปแล้ว บริษัทเหมือนจะต้องล้ม พนักงานมีความกังวลในเรื่องของเงินเดือน ไม่รู้จะออกวันไหน และแม้แต่ทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ได้ระบุ ถ้าบริษัทลูกของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจมีปัญหาและเป็นภาระให้กับบริษัทแม่ต้องดูแล ก็ควรจะปิดทิ้งได้ แต่ด้วยการบริหารอย่างโปร่งใส และการทุ่มเททำงานเพื่อพลิกฟื้นบริษัทให้กลับมา รวมถึงได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการและผู้บริหารกคช.ในชุดปัจจุบัน
ส่งผลให้ผลประกอบการของ CEMCO ณ สิ้นปี 2564 มีสถานะกลับมาเป็นบวก มีกำไรก่อนภาษี 18.4 ล้านบาท และมีกำไรสะสมอยู่ที่ 2.55 ล้านบาท สำหรับส่วนของผู้ถือหุ้น ณ สิ้นปี 64 กลับมาแสดงยอดได้เหมือนเดิมเพิ่มเป็น 22.8 ล้านบาท (ด้วยทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาท) แสดงถึงความเสียหายที่เคยเกิดขึ้นจากการดำเนินงานของบริษัทลูก ก็กลับมามีทุนจดทะเบียนเหมือนเดิมและมีกำไรเพิ่มขึ้น และในอนาคตอาจจะมีปันผลคืนไปสู่รัฐบาล
นายพิษณุพร กล่าวว่า ในส่วนของบริษัท เคหะสุขประชา ได้รับการจัดตั้งตามที่การเคหะแห่งชาติได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 ให้จัดตั้ง บริษัท เคหะสุขประชา จำกัด (มหาชน) เพื่อมาช่วยให้การดำเนินโครงการบ้านเคหะสุขประชาคล่องตัว และประสบความสำเร็จได้เร็วขึ้น โดยมี กคช.ถือหุ้น 49% และผนึกกำลังกับพันธมิตรที่เข้มแข็งและมีความเป็นมืออาชีพถือหุ้น 51% โดยมีเป้าหมายสร้างจำนวน 100,000 หน่วย ภายในระยะเวลา 5 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2564-2568 โดยสร้างปีละ 20,000 หน่วย มีทุนจดทะเบียน 500 ล้านบาท และได้มีการแต่งตั้งบอร์ดบริหาร ซึ่งมีการตรวจสอบเป็นอย่างดี
สำหรับโครงการเคหะสุขประชา เป็นการพัฒนาโครงการบ้านเช่าพร้อมอาชีพ เป็นการระดมทุนจากเอกชนในตลาด หาเม็ดเงินมาทำโครงการให้กับการ กคช. โดยไม่ได้ใช้เงินงบประมาณของแผ่นดิน หรือของรัฐบาลมาใช้แต่อย่างใด จะเป็นการระดมทุนเอง แต่ทำงานเพื่อรัฐ และภาคเอกชนที่เข้ามาร่วมลงทุนจะเข้ามาทำงานเพื่อสังคมไม่ได้มุ่งเน้นเรื่องการแสวงหากำไรเหมือนโครงการอสังหาริมทรัพย์เอกชนทั่วไป และในอนาคตมีเป้าหมายที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์อยู่แล้ว ทำให้มีกระบวนการตรวจสอบ และโปร่งใสอย่างชัดเจน ซึ่งการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯก็ไม่ใช่การเข้าไปเพื่อเก็งกำไร แต่เป็นการระดมทุนเม็ดเงินมาทำงานเพื่อสร้างที่อยู่อาศัยให้กับคนยากไร้ และพร้อมกับอาชีพให้ด้วย
โครงการนี้ถ้าพูดถึงมันคือโครงการกึ่งสังคม และเป็นมหากุศลที่ยิ่งใหญ่ ที่จะช่วยประชาชนผู้มีรายได้น้อย กลุ่มเปราะบางให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเองและมีอาชีพ การที่บอกว่า โครงการนี้ต้องใช้เวลา 200 ปี กว่าจะคืนทุนนั้น ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นจริง หน่วยงานราชการที่มีส่วนในการกลั่นกรอง รวมถึงครม.คงไม่อนุมัติโครงการแบบนี้ได้ อย่างไรก็ตาม โครงการนี้อาจจะมีระยะเวลาคืนทุนที่นานกว่าโครงการเอกชน เพราะเป็นโครงการกึ่งสังคม
“แต่สิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงคือวิธีการทำงาน วิธีคิด จากการทำกำไรในเชิงพาณิชย์ มาเป็นการคืนกำไรแก่สังคม เปลี่ยนการขายบ้านมาให้คนรายได้น้อยเช่าราคาเริ่มต้น 1,500 – 3,000 บาท แล้วแต่ขนาด ประชาชนอยู่ได้ตลอดชีวิต และไม่ใช่แค่การสร้างบ้าน แต่เป็นการสร้างบ้านพร้อมส่งเสริมอาชีพเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ของประเทศที่จะทำโครงการนี้” นายพิษณุพร กล่าวสรุปในตอนท้าย