fbpx
Untitled design 1

เอกชนเสนอมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อ พลิกฟื้นธุรกิจอสังหาฯ

หนึ่งในข้อเสนอของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และ 40+ ผู้บริหารธุรกิจ ในวันที่ประชุมร่วมกับนายกรัฐมนตรี ผ่านระบบ Video Conference เพื่อหารือแนวทางความร่วมมือระหว่างภาครัฐ-เอกชน ในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ก็คือ การกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งระยะสั้น-ระยะกลาง ไม่ว่าจะเป็นกระตุ้นการใช้จ่ายในกลุ่มผู้มีรายได้และกำลังซื้อสูง การกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนให้เกิดการจ้างงาน ซึ่งในแต่ละภาคธุรกิจก็คงต้องกลับไปทำการบ้าน เพื่อนำเสนอแผนที่จำเป็นต่อการฟื้นตัวของแต่ละธุรกิจกันต่อไป

ในภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ก็ได้มีการรวบรวมข้อเสนอของผู้ประกอบการในสาขาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งต่อให้กับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยนำไปพิจารณาเพื่อเสนอรัฐบาลต่อไป เรื่องนี้นายอิสระ บุญยัง ประธานคณะกรรมการสมาคมการค้ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ออกแบบ และก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้เปิดเผยว่า ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ได้มีข้อเสนอในการกระตุ้นเศรษฐกิจและกำลังซื้อของผู้บริโภค ประกอบด้วย

เรื่องแรกเป็นข้อเสนอโดยรวมของทุกๆ ภาคธุรกิจ เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ต่อเนื่องมาเกือบ 2 ปี พบว่า ใบอนุญาตก่อสร้างอาคารในทุกประเภทหมดอายุ ธุรกิจปิดกิจการ อาคารบางแห่งหยุดการก่อสร้าง ภาคเอกชนจึงเสนอขอต่อใบอนุญาตที่หมดอายุออกไป 2 ปี

ขอลดหย่อนภาษีที่ดินเพิ่มอีก 2 ปี
เรื่องที่ 2 คือการขอลดหย่อนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างออกไปอีก 2 ปี ในปี 2565-2566 เพื่อลดภาระของผู้ประกอบการในช่วงฟื้นตัวหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ช่วยลดภาระให้กับผู้ประกอบการที่กำลังเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ และเป็นการกระตุ้นผู้ประกอบการที่มีความพร้อมลงทุน ขณะเดียวกันก็ขอให้ทบทวนเรื่องของภาษีควบคู่กันไปด้วยว่า การจัดเก็บภาษีมีอะไรที่ต้องปรับปรุง มีอะไรที่มากไป หรืออะไรที่เหมาะสมแล้ว

คอนโดศุภาลัย

เว้นวรรคกฎเหล็ก LTV
ส่วนเรื่องที่ 3 เป็นเรื่องของมาตรการควบคุมสินเชื่อ หรือ LTV ที่ได้เคยเสนอไปก่อนหน้านี้แล้ว โดยจะขอผ่อนคลายมาตรการ LTV เป็นการชั่วคราว ซึ่งโดยหลักการทางเอกชนเห็นด้วยกับการใช้มาตรการ LTV เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาหนี้เสียในระยะยาว ป้องกันการเก็งกำไรในตลาดคอนโดในเวลานั้น แต่เมื่อเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เข้ามาซ้ำเติมธุรกิจ โดยขณะนี้ซัพพลายในตลาดคอนโดเริ่มลดน้อยลง และไม่เกิดภาวะการเก็งกำไร จึงขอผ่อนคลาย LTV ชั่วคราว จนกว่าสถานการณ์จะกลับมาเป็นปกติ

ต่ออายุลดค่าโอนบ้าน 3 ล้านบาทแรก
เรื่องที่ 4 ที่เสนอไป ได้แก่ มาตรการลดค่าโอนและค่าจดจำนอง สำหรับที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ซึ่งมาตรการจะมีผลถึงสิ้นปี 2564 แต่เนื่องจากที่ผ่านมาเกิดการแพร่ระบาดของโควิดระลอกที่ 2 และ ระลอกที่ 3 ทำให้ต้องใช้มาตรการล็อคดาวน์ การซื้อ-ขายที่อยู่อาศัยลดลง จึงขอเสนอให้กระทรวงการคลังขยายมาตรการออกไป และปรับเงื่อนไขของมาตรการเพื่อให้คนที่มีกำลังซื้อช่วยขับเคลื่อนตลาด ด้วยการให้ลดค่าโอนและจดจำนอง สำหรับการซื้อที่อยู่อาศัย 3 ล้านบาทแรก

ยกตัวอย่างเช่น คนที่ซื้อบ้าน 5 ล้านบาท ก็จะได้สิทธิ์ลดค่าโอนและจดจำนองใน 3 ล้านบาทแรก หรือ 0.01% ส่วนอีก 2 ล้านบาท ผู้ซื้อยังต้องจ่ายค่าโอนและจดจำนองเต็มจำนวน เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอจากภาคก่อสร้างในเรื่องของค่าเค รวมถึงเรื่องของแรงงานต่างด้าว ที่คาดว่าจะเกิดวิกฤติการขาดแคลนแรงงานอย่างหนักเมื่อสถานการณ์ต่างๆ เริ่มคลี่คลาย ขณะเดียวกันทางภาคเอกชนก็เข้าใจดีว่า เรื่องของความปลอดภัยในด้านสุขภาพ เรื่องของความมั่นคงเป็นเรื่องใหญ่ จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดร่วมกันวางแนวทางการรับแรงงานต่างด้าวตั้งแต่เนิ่นๆ รองรับการใช้แรงงานเมื่อสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย ซึ่งทางภาคเอกชนอยากให้มีการเตรียมการไว้ล่วงหน้าและให้มีความชัดเจน

ชี้โควิดระบาดแรงอสังหาฯทรุดหนัก
ทั้งหมดคือข้อเสนอที่ให้รัฐบาลได้พิจารณา เพื่อช่วยพลิกฟื้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในระยะต่อไป ซึ่งนายอิสระ ได้ประเมินสถานการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดอย่างรุนแรงด้วยว่า ในช่วงที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ต้องยอมรับว่า ตลาดได้รับผลกระทบมาอย่างต่อเนื่อง เพราะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เชื่อมโยงอยู่กับเศรษฐกิจโดยภาพรวม เมื่อการจ้างงานลดลง การทำมาหากินย่ำแย่ ถึงแม้ว่าจะมีความต้องการที่อยู่อาศัยอยู่ในกลุ่ม 2-5 ล้านบาท แต่โดยภาพรวมทั้งระบบก็ถือว่าตลาดชะลอตัวลง

แม้ว่าตัวเลขบางตัวเลขจะยังลดลงไม่มาก อย่างเช่น ตัวเลขการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัย แต่ก็เป็นที่ทราบดีว่าตัวเลขการโอนเป็นผลจากการขายเมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว แต่ก็เป็นภาพที่สะท้อนให้เห็นว่า กำลังซื้อที่เป็นคนไทยที่ผ่อนดาวน์อยู่หลายปียังไม่ทิ้ง แตกต่างจากวิกฤติปี 2540 ที่ผู้ซื้อทิ้งเงินที่ดาวน์ไว้เกือบทั้งหมด ขณะที่สถานะของสถาบันการเงินในปัจจุบันก็ยังแข็งแรง เงินสำรองระหว่างประเทศของไทยก็ยังมีความแข็งแกร่ง

ล็อคดาวน์พ่นพิษ ยอดขายบ้านลดวูบ
ขณะที่โครงการที่เปิดตัวใหม่ในครึ่งปีแรกลดลงไปถึง 50% และคาดว่าทั้งปีจะมีจำนวนโครงการเปิดใหม่เพียง 4-5 หมื่นหน่วย ลดต่ำสุดในรอบ 10 กว่าปีที่ผ่านมาจากที่เคยเปิดตัวสูงสุดกว่า 1.3 แสนหน่วย สะท้อนว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาผู้ประกอบการก็ระมัดระวังและได้ปรับตัว เพื่อลดความร้อนแรงของตลาด อย่างไรก็ตามถ้าดูตัวเลขจากการโอนจะพบว่า ที่อยู่อาศัยแนวราบยังอยู่ในทิศทางที่ดี จากความต้องการซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง ขณะที่คอนโดมิเนียมลดลงไปประมาณ 20%

ส่วนของยอดขายโดยรวมที่อยู่อาศัยแนวราบที่ผ่านมาดีขึ้น แต่ในเดือนกรกฎาคมที่เริ่มใช้มาตรการที่เข้มข้นขึ้นยอดขายเริ่มตกลงอย่างเห็นได้ชัด ยอดคนเข้าโครงการจาก 100 คนหรือแค่ 20-30 คนเท่านั้น ขณะที่ยอดจองเหลือประมาณ 40% เมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว ส่วนคอนโดมิเนียมยังชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากผู้บริโภคมีความวิตกกังวลที่จะไปปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นในช่วงการระบาดยังคงรุนแรง หรือมีการชะลอการซื้อออกไป เพราะกังวลกับสถานการณ์การเงินของครอบครัว

คงต้องตามลุ้นกันต่อไปว่า รัฐบาลจะตอบรับข้อเสนอของภาคอสังหาฯได้มากน้อยขนาดไหน แต่ในสถานการณ์ที่เป็นอยู่ขณะนี้บอกได้คำเดียว ถ้ารัฐไม่ยื่นมือเข้ามาช่วยภาคธุรกิจตายแน่ๆ