fbpx
shutterstock 1160793658

ธุรกิจอสังหาฯเร่งกระจายความเสี่ยง รับมือวิกฤติรอบด้าน

ยุคนี้การทำธุรกิจเดียวแบบเดี่ยวๆ อาจจะไปไม่รอดในสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงมีอยู่รอบด้าน ทั้งความเสี่ยงภายในภายนอกที่สามารถเกิดได้ทุกที่ทุกเวลา และสามารถส่งผลกระทบเชื่อมโยงถึงกันได้ทั่วทั้งโลก อย่างกรณีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่สร้างความเสียหายให้กับโลกทั้งโลกแบบที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่าจะเกิดขึ้นในยุคที่เทคโนโลยี่ทางการแพทย์ของเราก้าวหน้าไปไกลมากแล้ว

เมื่อความเสี่ยงในโลกยุคใหม่เกินกว่าที่จะคาดเดา ภาคธุรกิจจึงต้องหาวิธีป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ด้วยการปรับองค์กรให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืนและยืดหยุ่น สามารถเผชิญกับแรงเสียดทานที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ การกระจายความเสี่ยงไปสู่ธุรกิจอื่นๆ จึงเป็นสิ่งที่ต้องทำ ซึ่งหลายๆ บริษัทในภาคอสังหาริมทรัพย์ ก็เริ่มเดินหน้าเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง

บริษัทอสังหาฯเร่งกระจายความเสี่ยง
ตัวอย่างที่เกิดขึ้นในธุรกิจอสังหาฯล่าสุดก็เช่น แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ บริษัทในเครือ พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค โดดเข้าสู่ธุรกิจผลิตถุงมือยางจำหน่ายไปทั่วโลก การเข้าสู่ธุรกิจสุขภาพและสถานพยาบาล ของ พฤกษา เรียลเอสเตท โดยการก่อตั้งโรงพยาบาลวิมุต

ส่วน แสนสิริ ก็สยายปีกสู่ธุรกิจการเงินด้วยการเข้าถือหุ้นใน เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล พร้อมทั้งแตกบริษัท เอ็กซ์สปริง เอเอ็มซี เข้าสู่ธุรกิจบริหารทรัพย์สิน ขณะที่ สิงห์ เอสเตท ก็ขยายเข้าสู่ธุรกิจผลิตไฟฟ้า และนิคมอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ ยังมีบริษัทระดับกลางๆ ที่แตกธุรกิจกระจายความเสี่ยงด้วยเช่นกัน อย่างเช่น เสนาดีเวลลอปเม้นท์ ที่มี เสนา โซลาร์ เอนเนอร์ยี่ ทำธุรกิจโซล่าร์ เมเจอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ มีแผนขยายไลน์ไปสู่ธุรกิจสินค้าและบริการด้านสุขภาพ และเทคโนโลยีเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล กลุ่มชาญอิสสระ-มั่นคงเคหะการ-เอ็น.ซี.เฮ้าส์ซิ่ง ก็แตกไลน์สู่ธุรกิจเวลเนสเช่นเดียวกัน

ทาวน์โฮม

ส่วนแอสเสท ไวส์ ได้ตั้งบริษัท ดิจิโทไนซ์ จำกัด สู่ธุรกิจดิจิทัลแอสเสท เพื่อเพิ่มช่องทาง ในการรับเงินรูปแบบใหม่จากนิวเจน ด้าน กานดา พร็อพเพอร์ตี้ ขยายสู่ธุรกิจดิจิทัล เริ่มต้นด้วยการเปิดแพลตฟอร์มสำนักพิมพ์ออนไลน์ “กวีบุ๊ก” เป็นต้น

ออริจิ้นผนึกพันธมิตรลุย 3 ธุรกิจใหม่
ล่าสุด บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) ยังเดินหน้าเต็มตัวกับการแตกไลน์ธุรกิจกระจายความเสี่ยง ตามแผนธุรกิจที่ได้วางไว้ ทั้ง เฮลธ์แคร์ โลจิสต์ติกส์ บริหารทรัพย์สิน และพลังงานทดแทน โดยก่อนหน้าได้ร่วมกับบริษัท กันกุล เอ็นจิเนียริ่ง ตั้งบริษัทร่วมทุน ออริจิ้น กันกุล เอ็นเนอร์ยี รุกสู่ธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ไปแล้ว ล่าสุดร่วมกับ ‘KIN’ เพื่อรุกเข้าสู่ธุรกิจ Healthcare รองรับ Aging Society ด้วยการเปิดโรงพยาบาลกายภาพบำบัดแห่งแรก “คิน ออริจิ้น เฮลท์แคร์ เซ็นเตอร์”

พีระพงศ์ จรูญเอกนายพีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุคสังคมผู้สูงอายุ หรือ Aging Society อย่างเต็มรูปแบบเป็นประเทศแรกๆ ของภูมิภาค ด้วยสัดส่วนประชากรผู้มีอายุ 65 ปีขึ้นไปสูงถึงเกือบ 15% แต่ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีพื้นที่ที่เป็นคอมมูนิตี้ และมีอีโคซิสเท็มในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรกลุ่มนี้อย่างเพียงพอ

ออริจิ้นในฐานะผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร จึงมองเห็นทั้งโอกาสและความจำเป็นที่เราต้องเข้ามาพัฒนาทั้งที่อยู่อาศัย สิ่งอำนวยความสะดวก ตลอดจนบริการสุขภาพ ที่จะมาช่วยเติมเต็มสิ่งที่ผู้บริโภคกลุ่มนี้ต้องการรองรับยุค Aging Society

โครงการคิน ออริจิ้น เฮลท์แคร์ เซ็นเตอร์ พัฒนาเป็นอาคารสูง 8 ชั้น พื้นที่ใช้สอยรวม 2,800 ตร.ม.จำนวน 58 เตียง ตั้งอยู่ในพื้นที่ของโครงการออริจิ้น เวลเนส คอมเพล็กซ์ สุขุมวิท 107 ซึ่งเป็นโครงการมิกซ์ยูส บนเนื้อที่กว่า 2 ไร่ ประกอบด้วย โครงการคิน ออริจิ้น เฮลท์แคร์ เซ็นเตอร์ และคอนโดมิเนียมสำหรับพักอาศัยแบรนด์ใหม่ที่ชื่อว่า ‘ออริจินัล’ จับกลุ่มผู้สูงอายุ โดยพื้นที่ส่วนที่พักอาศัยคาดว่าจะเปิดตัวได้ในช่วงไตรมาส 4/2564

นอกจากนี้ บริษัท พรีโม เซอร์วิส โซลูชั่น จำกัด เป็นผู้ให้บริการด้านอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร ซึ่งเป็นบริษัทในเครือออริจิ้น ได้ตั้งบริษัท “พรีโม อินชัวรันส์ โบรคเกอร์ จำกัด เพื่อแตกไลน์ธุรกิจนายหน้าประกันภัยทั้งบ้าน คอนโดมิเนียม และรถยนต์

นางจันทร์เพ็ญ หล่อวิมงคล กรรมการผู้จัดการ บริษัท พรีโม อินชัวรันส์ โบรคเกอร์ เปิดเผยว่า บริษัท พรีโม อินชัวรันส์ โบรคเกอร์ จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจนายหน้าประกันภัย รองรับการเติบโตของตลาด พร้อมทั้งเติมเต็มอีกมิติหนึ่งของอีโคซิสเท็มในการใช้ชีวิตของผู้บริโภคที่ตื่นตัวกับการทำประกันภัยมากขึ้น

“ปัจจัยที่เร่งให้คนตื่นตัวกับการทำประกันภัย ได้แก่ 1.สถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อต้นปี 2563 และ 2.การเข้าถึงองค์ความรู้ด้านการวางแผนการเงิน เราเชื่อว่าความตื่นตัวดังกล่าวจะเป็นตัวเร่งให้ธุรกิจนายหน้าประกันภัยมีโอกาสเติบโตอย่างมีนัยยะสำคัญ” นางจันทร์เพ็ญ กล่าว

ดี-แลนด์เดินหน้ารุกธุรกิจรับสร้างบ้าน
ขณะที่ ดี–แลนด์ กรุ๊ป บริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่มีฐานหลักอยู่ในจังหวัดสมุทรสาคร ก็ได้ปรับตัวรับความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ด้วยการขยายตัวไปสู่ธุรกิจรับสร้างบ้าน

นายศิริพงษ์ สมบูรณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดี–แลนด์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า ดี–แลนด์มีแผนจะขยายสู่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์โดยใช้ทรัพยากรบุคคลให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ในช่วงที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด–19 จึงแตกไลน์ธุรกิจรับสร้างบ้าน เพื่อต่อยอดธุรกิจและสร้างความมั่นคงด้านรายได้ เนื่องจากกลุ่มลูกค้าที่ต้องการสร้างบ้านบนที่ดินของตนเองโดยส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีความมั่นคงทางการเงิน

สำหรับธุรกิจรับสร้างบ้านของดี–แลนด์ จะจับกลุ่มลูกค้าระดับกลางบนในจังหวัดสมุทรสาครและจังหวัดใกล้เคียงซึ่งยังมีความต้องการสร้างบ้านบนที่ดินของตัวเองอยู่ โดยมีแบบบ้านให้เลือก 5 แบบ ราคา 4-8 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีบริการรับออกแบบและสร้างบ้านตามความต้องการของลูกค้า พร้อมบริการให้คำปรึกษาฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย

“แม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจและตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2564 จะยังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เช่นเดียวกับธุรกิจรับสร้างบ้าน แต่ในปี 2565 มีแนวโน้มว่าธุรกิจรับสร้างบ้านจะปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น เนื่องจากความต้องการสร้างบ้านที่ชะลอไว้

ขณะที่ดี–แลนด์ฯ มีความพร้อม และมองเห็นโอกาสในการขยายตลาดที่ต้องแข่งขันกันด้วยคุณภาพและบริการหลังการขาย โดยตั้งเป้ารายได้จากธุรกิจรับสร้างบ้านในปี 2566 จะเพิ่มขึ้นเป็น 100 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนรายได้ประมาณ 10% ของรายได้รวม” นายศิริพงษ์กล่าว

จะเห็นได้ว่า การกระจายความเสี่ยงโดยการขยายธุรกิจของบริษัทอสังหาฯ มีทั้งการขยายตัวไปในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง และธุรกิจใหม่ๆ ที่ไม่ใช่อสังหาฯ แต่ก็ยังเป็นส่วนหนึ่งอีโคซิสเทมในการใช้ชีวิตของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปกับเทรนด์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น

ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับสุขภาพ เทคโนโลยี่ พลังงานทดแทน นอกจากนี้ยังมีธุรกิจที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจแวร์เฮ้าส์ ธุรกิจเกษตรสมัยใหม่ สินค้าออร์แกนิกส์ และสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เป็นต้น

แต่สิ่งที่ต้องพิจารณาให้รอบครอบในการขยายธุรกิจเพื่อกระจายความเสี่ยงก็มีอยู่หลากหลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็น ตลาดโอกาสและความเสี่ยงของธุรกิจใหม่ที่จะไป บุคลากรที่จะมารองรับ เม็ดเงินลงทุน และผลกำไรที่คุ้มค่าเมื่อขยายธุรกิจ ไม่เช่นนั้นแล้ว การกระจายความเสี่ยงจะกลายเป็นการเพิ่มความเสี่ยงไปในทันที