ในเดือนมิถุนายนของทุกปีถือเป็นเดือนแห่งความเท่าเทียมทางเพศที่เรียกกันว่า Pride Month ของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากเหตุการณ์ใช้ความรุนแรงต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศที่สหรัฐอเมริกาในวันที่ 28 มิถุนายน 1969 ซึ่งนำมาสู่การเรียกร้องสิทธิของชาว LGBTQ+ ทั่วโลก และการเดินขบวนเรียกร้องสิทธิ LGBT Pride March ในปีถัดมา
ปัจจุบันสังคมทั่วโลกwfhตระหนักรู้และยอมรับความเสมอภาคทางเพศและได้ให้ความสำคัญไปจนถึงนำเสนอสินค้าหรือบริการที่เจาะกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้น อย่างไรก็ดี ผู้บริโภคชาว LGBTQ+ ต้องการการยอมรับจากสังคมด้วยความเข้าใจที่แท้จริง และความต้องการของเขาเหล่านี้ก็ไม่ได้ผิดแผกแตกต่างจากกลุ่มผู้บริโภคที่เป็นเพศชายและหญิงมากนัก แต่สิ่งที่ชัดเจนคือการยอมรับในความเป็นสมาชิกคนหนึ่งในสังคม
ข้อมูลจากรายงาน LGBT GDP, WEALTH & TRAVEL DATA 2018 โดย LGBT Capital คาดการณ์ว่าทั่วโลกมีจำนวนประชากรกลุ่ม LGBTQ+ ประมาณ 6.5% หรือประมาณ 496 ล้านคน อยู่ในแถบเอเชียประมาณ 293 ล้านคน โดยประชากร LGBTQ+ ชาวไทยมีถึง 4.5 ล้านคน ซึ่งผู้บริโภคกลุ่มนี้มีกำลังซื้อและพฤติกรรมการใช้เงินในระดับดี มีการประมาณส่วนแบ่งความมั่งคั่งในครัวเรือนของผู้บริโภค LGBTQ+ ชาวไทยอยู่ที่ 28,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
นอกจากนี้ งานวิจัยของเอาท์ นาว คอนซัลติ้ง ร่วมกับ เวิลด์ ทราเวล มาร์เก็ต (WTM) เผยว่า ชาว LGBTQ+ ใช้จ่ายไปกับการท่องเที่ยวสูงถึง 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีเลยทีเดียว เนื่องจากการที่ชาว LGBTQ+ ส่วนใหญ่มักไม่มีบุตรจึงไม่มีภาระค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ จึงเลือกวางแผนชีวิตอย่างเป็นรูปแบบและใช้จ่ายเพื่อซื้อความสุขให้ตัวเองตามไลฟ์สไตล์ที่สนใจมากขึ้นแทน
ทางด้านตลาดอสังหาริมทรัพย์ ความต้องการของชาว LGBTQ+ ยังสอดคล้องกับผู้บริโภคส่วนใหญ่ ข้อมูลจากผลสำรวจ DDproperty’s Thailand Consumer Sentiment Study พบว่า ปัจจัยภายในที่ผู้บริโภคชาวไทยให้ความสำคัญเมื่อต้องเลือกซื้อหรือเช่าที่อยู่อาศัย ส่วนใหญ่จะเน้นไปที่การพิจารณาขนาดที่อยู่อาศัยมาก่อนถึง 48% ตามมาด้วยความครบครันของสิ่งอำนวยความสะดวก 44% และความคุ้มค่าของราคาเฉลี่ยต่อพื้นที่ใช้สอย 38%
ในขณะที่ปัจจัยภายนอกโครงการที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อ/เช่าที่อยู่อาศัยนั้น ผู้บริโภคเกินครึ่ง หรือ 54% ให้ความสำคัญเรื่องทำเลที่ตั้งมากที่สุด ตามมาด้วยความสะดวกสบายจากการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะ 50% และความปลอดภัยในโครงการ 45%
ความท้าทายของชาว LGBTQ+ เมื่ออยากเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัย
แม้สังคมไทยปัจจุบันจะเปิดรับความหลากหลายทางเพศมากขึ้น แต่ยังไม่มีการรับรองความสัมพันธ์แบบคู่ชีวิตอย่างเป็นทางการ จึงส่งผลต่อการทำธุรกรรมของชาว LGBTQ+ เมื่อต้องการซื้ออสังหาฯ ซึ่งเป็นข้อจำกัดสำคัญของคู่รักชาว LGBTQ+ ที่ต้องการใช้สิทธิกู้ร่วมไม่น้อย
โดยทั่วไปแล้วการขอสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของชาว LGBTQ+ หากเป็นการกู้เพียงลำพังก็สามารถดำเนินการยื่นขอสินเชื่อได้ทันทีไม่ต่างจากเพศชายและเพศหญิง แต่ไม่สามารถขอสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยในฐานะผู้กู้ร่วมได้เฉกเช่นคู่รักทั่วไปได้ เนื่องจากไม่เข้าเงื่อนไขของธนาคารที่ระบุว่าผู้กู้ร่วมนั้นจะต้องเป็นบุคคลที่มีความใกล้ชิดกัน เป็นผู้ที่มีความสัมพันธ์ร่วมเชื้อสายเดียวกัน เช่น พ่อ แม่ พี่ น้อง หรือเป็นชายหญิงที่เป็นคู่สมรสกัน ซึ่งจะจดทะเบียนหรือไม่จดทะเบียนก็ได้ ในขณะที่ปัจจุบันกฎหมายไทยยังไม่รองรับการจดทะเบียนสมรสของคู่รัก LGBTQ+ จึงทำให้ความสัมพันธ์ดังกล่าวไม่มีผลทางนิตินัยไปโดยปริยาย
นอกจากนี้ ธนาคารประเมินว่าความเสี่ยงของการกู้ร่วมของกลุ่ม LGBTQ+ สูงกว่าของคู่สมรสชายหญิง และก็สูงกว่าการกู้ร่วมของชายหญิงที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส การรับรู้ความเสี่ยงที่สูงกว่านี้เป็นปัจจัยที่ธนาคารอาจพิจารณาให้วงเงินกู้ที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับการกู้ร่วมของคู่สมรสที่จดทะเบียนสมรส ทำให้ชาว LGBTQ+ อาจไม่ได้รับวงเงินสินเชื่อตามที่ตั้งเป้าไว้ หรือต้องปรับลดสเปกที่อยู่อาศัยที่ต้องการลงมา ซึ่งชาว LGBTQ+ ต่างรอติดตามความคืบหน้าของร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. … และร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่…) พ.ศ. … ว่าจะเข้ามาช่วยลดช่องว่างของปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไรบ้าง
Mix & Match หลากไลฟ์สไตล์ ค้นหาที่อยู่อาศัยโดนใจชาว LGBTQ+
ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (DDproperty) เว็บไซต์มาร์เก็ตเพลสด้านอสังหาริมทรัพย์ ได้เผยไลฟ์สไตล์โดดเด่นของชาว LGBTQ+ ที่น่าสนใจ และน่าจับตามอง เพื่อนำมาค้นหาที่อยู่อาศัยที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของชาว LGBTQ+ ที่เต็มที่ทุกเรื่องแบบ ‘Work hard, play harder’ ได้อย่างลงตัว ที่หลายคนจะมองว่าคอนโดฯ เหมาะกับการใช้ชีวิตมากกว่า แต่แท้จริงแล้วมีไลฟ์สไตล์ที่น่าสนใจกว่านั้น
-พื้นที่ใช้สอยคุ้มค่า รองรับชีวิตแบบมัลติไลฟ์สไตล์
ชาว LGBTQ+ มีรูปแบบการใช้ชีวิตที่หลากหลาย จะเห็นได้จากกิจกรรมยามว่างที่แตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นการร่วมสังสรรค์/ปาร์ตี้เพื่อเข้าสังคม พักผ่อนภายในบ้านกับงานอดิเรกไม่ว่าจะเป็นสร้างมุมปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว แยกมุมทำงานเป็นสัดส่วน โซนอเนกประสงค์ไว้เล่นเกมหรือทำกิจกรรมสานสัมพันธ์กับคนในครอบครัวและเพื่อนฝูง
นอกจากนี้ การที่ส่วนใหญ่ชาว LGBTQ+ มักจะไม่มีบุตร จึงนิยมมีงานอดิเรก เช่น เลี้ยงสัตว์เป็นเพื่อนแก้เหงา ที่อยู่อาศัยที่มีพื้นที่ในการทำกิจกรรมนอกบ้านจึงจำเป็นไม่แพ้กัน บ้านหรือคอนโดฯ ที่มีพื้นที่ใช้สอยเพียงพอรองรับไลฟ์สไตล์ที่หลากหลายเหล่านี้ รวมทั้งการมีพื้นที่ส่วนกลางที่มาพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกครบครันจึงเป็นตัวแปรลำดับแรก ๆ
-สุขนิยม สุขภาพดีทั้งกายและใจต้องมา
ผู้บริโภคกลุ่มนี้ให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์และรูปร่าง จึงให้ความสนใจในเรื่องสุขภาพมาเป็นอันดับต้นๆ โครงการอสังหาฯ ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกส่วนกลางที่ตอบโจทย์พฤติกรรมเพื่อสุขภาพนี้จะได้คะแนนจากผู้บริโภคที่อยู่ระหว่างการเลือกหรือตัดสินใจซื้อหรือเช่าที่อยู่อาศัย
สอดคล้องกับข้อมูลจากผลสำรวจ DDproperty’s Thailand Consumer Sentiment Study ล่าสุด เผยว่า สิ่งอำนวยความสะดวกยอดนิยมในคอนโดมิเนียมหรืออะพาร์ตเมนต์ที่ผู้บริโภคเลือกใช้บริการบ่อยที่สุดจะเน้นไปที่การออกกำลังกายเพื่อดูแลสุขภาพมาเป็นอันดับต้นๆ โดยเกือบครึ่งของผู้บริโภค หรือ 47% เลือกใช้บริการที่ออกกำลังกายเพื่อดูแลสุขภาพเป็นประจำ ตามมาเกือบ 1 ใน 3 ใช้บริการสระว่ายน้ำ 32% และห้องโถงอเนกประสงค์ 13%
-ชอบการท่องโลกออนไลน์ อินเทอร์เน็ตต้องพร้อมใช้
ข้อมูลจากผลการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ปี 2562 ของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA พบว่า LGBTQ+ เป็นกลุ่มที่ใช้อินเทอร์เน็ตมากที่สุดถึง 11 ชั่วโมง 20 นาทีต่อวัน ถือว่าสูงที่สุดเมื่อเทียบกับเพศชายและหญิง เมื่อรวมกับเทรนด์ในปัจจุบันประกอบกับสถานการณ์โควิด-19
สะท้อนให้เห็นว่าพฤติกรรมของชาว LGBTQ+ มีการใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตในหลายมิติมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นการสร้างสรรค์คอนเทนต์หลากหลายรูปแบบ ฝึกฝนและเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ หรือใช้เป็นช่องทางในทำธุรกิจบนโลกออนไลน์ ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานสัญญาณอินเทอร์เน็ตของโครงการที่มีคุณภาพและเสถียรต้องตอบโจทย์นี้ ไม่ว่าจะอยู่ภายในที่อยู่อาศัยหรือพื้นที่ส่วนกลาง
-ใส่ใจการออกแบบ สะท้อนตัวตนผู้อยู่
ความพิถีพิถันใส่ใจทุกรายละเอียดเป็นอีกอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของชาว LGBTQ+ ซึ่งรวมถึงเรื่องที่อยู่อาศัยที่สะท้อนตัวตนได้เป็นอย่างดีพอๆ กับการดูแลรูปลักษณ์ภายนอกหรือเครื่องแต่งกาย ผู้บริโภคจะพิจารณาการออกแบบและตกแต่งที่สะท้อนบุคลิกอย่างมีสไตล์ การออกแบบเป็นเอกลักษณ์ชัดเจน รวมถึงการเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ที่เข้ากันกับบ้าน
แม้ร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. … และร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่…) พ.ศ. … จะยังไม่รับรองสถานะของคู่รัก LGBTQ+ ทำธุรกรรมกู้ร่วมตามกฎหมายเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยได้ในเวลานี้ อย่างไรก็ดี เวลานี้มีสถาบันการเงินหลายแห่งที่เปิดโอกาสให้คู่ LGBTQ+ สามารถยื่นเรื่องกู้สินเชื่อร่วมกันได้ภายใต้เงื่อนไขในการพิจารณาของแต่ละสถาบัน
เว็บไซต์ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (www.ddproperty.com) ได้รวบรวมข้อมูลธนาคารที่ให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยระหว่างผู้กู้ร่วมที่มีความหลากหลายทางเพศไว้ให้ชาว LGBTQ+ ได้ศึกษาเป็นข้อมูลในการตัดสินใจเบื้องต้น พร้อมทั้งรวบรวมข่าวสาร เรื่องน่ารู้ในแวดวงอสังหาฯ และประกาศซื้อ-ขาย-เช่าที่อยู่อาศัยมากมาย เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคทุกเพศทุกวัยสามารถเข้ามาศึกษาหาข้อมูลและเตรียมความพร้อมก่อนมีบ้านได้อย่างมั่นใจ