fbpx

3 บริษัทอสังหาฯ โชว์ผลประกอบการไตรมาส 1/64

เอพี-อนันดา-เฟรเซอร์ เปิดผลประกอบการไตรมาส 1/64 บ้านแนวราบ-คอนโดพร้อมอยู่ ดันรายได้-ยอดขาย น่าพอใจ แม้ต้องเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 ต่อเนื่อง 

บริษัทอสังหาฯเริ่มทะยอยประกาศผลประกอบการไตรมาส 1/2564 กันแล้ว ล่าสุด 3 บริษัทรายใหญ่ ได้แก่ เอพี อนันดา และเฟรเซอร์ส ต่างโชว์ตัวเลขยอดขาย-รายได้ เป็นที่น่าพอใจ แม้ว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะเป็นอุปสรรคต่อการขาย แต่ก็ยังสามารถเอาตัวรอดกันมาได้ใน 3 เดือนแรกของปีด้วยการใช้กลยุทธ์ที่แตกต่างกันออกไป

เริ่มต้นที่ เอพี ไทยแลนด์ มีรายได้รวมจากสินค้าในกลุ่มบ้านแนวราบ คอนโดมิเนียม (100%JV) และธุรกิจอื่นๆ ได้สูงถึง 10,770 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 58% หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวมเท่ากับ 6,820 ล้านบาท ส่วนกำไรสุทธิทำได้กว่า 1,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 127% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่มีกำไรสุทธิรวมเท่ากับ 618 ล้านบาท

“วิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังคงสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจอย่างไม่สิ้นสุด หลายคนมองว่าปีที่ผ่านมาดำเนินธุรกิจด้วยความยากลำบากแล้ว แต่จากสถานการณ์การระบาดรอบใหม่นี้สะท้อนได้อย่างชัดเจนถึงความยากลำบากและความท้าทายที่รออยู่อีกมาก

บ้าน-คอนโดพร้อมอยู่ช่วยดันยอดขาย

สำหรับทางรอดของธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ นอกจากการบริหารจัดการความพร้อมภายในองค์กรรวมถึงงบกระแสเงินสดแล้ว การมีสินค้าพร้อมขายกระจายไปในหลายทำเล คืออีกหนึ่งกลยุทธ์สำคัญที่ผลักดันให้เอพีประสบความสำเร็จด้วยการขยายโอกาสที่มากขึ้น

โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มแนวราบที่ยังคงเป็นซูเปอร์สตาร์ โดยบริษัทมีรายได้รวมจากสินค้าแนวราบที่เติบโตสูงขึ้นในทุกไตรมาส สะท้อนถึงความแข็งแกร่งที่เกิดขึ้นจากภายใน ในการพร้อมรับมือกับกฎกติกาโลกที่เปลี่ยนแปลงไป” นายวิทการ จันทวิมล รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานกลยุทธ์องค์กรและการสร้างสรรค์ บริษัท เอพี ไทยแลนด์ จำกัด (มหาชน) กล่าว

ทั้งนี้ ณ วันที่ 30 เมษายน 64 เอพีมีสินค้ารอรับรู้รายได้ (Backlog) รวม 33,700 ล้านบาท ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถสร้างรายได้รวม (รวม 100% JV) ได้ตามเป้าหมาย 43,100 ล้านบาท โดยในเดือนมิถุนายนนี้จะเปิดตัว 3 โครงการใหม่ มูลค่ารวม 1,760 ล้านบาท ได้แก่ บ้านเดี่ยว 2 โครงการ มูลค่ารวม 1,650 ล้านบาท ประกอบไปด้วย CENTRO ราชพฤกษ์-สวนผัก 3 และ CENTRO พหลฯ-วิภาวดี 2 และโฮมออฟฟิศ District รามอินทรา-จตุโชติ มูลค่า 110 ล้านบาทบ้านเดี่ยว

ทางด้าน อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ในไตรมาสแรกมียอดโอนรวม 3,059 ล้านบาท โดยมีสัดส่วนยอดโอนจากลูกค้าชาวต่างประเทศใกล้เคียงจากปีก่อนที่ระดับ 21% ขณะที่มียอดขายรวม 3,979 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเป้าหมาย 17% ที่ระดับ 3,393 ล้านบาท จากโครงการพร้อมอยู่ที่ความต้องการซื้ออสังหาริมทรัพย์มีอย่างต่อเนื่อง แม้ในช่วงที่มีสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ก็ตาม

“แม้ว่ามีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ช่วงเดือนมกราคม และมีนาคมที่ผ่านมา ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจไทยทั้งประเทศในวงกว้าง แต่ในไตรมาสแรก ปี 2564 บริษัทยังมีผลการดำเนินงานในส่วนยอดขาย และยอดโอนเป็นที่น่าพึงพอใจ พร้อมปิดการขาย 100% ในโครงการไอดีโอ โมบิ อโศก มูลค่าโครงการกว่า 3,200 ล้านบาท

นอกจากนี้ บริษัทยังมุ่งเน้นดำเนินธุรกิจหลัก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน พร้อมทั้งลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง โดยค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร จำนวน 381 ล้านบาท ลดลงถึง 17% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ในไตรมาสแรกนี้ บริษัทมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยและค่าเสื่อมราคา หรือ EBITDA จากการดำเนินงานของธุรกิจหลัก กว่า 225 ล้านบาท” นายเสริมศักดิ์ ขวัญพ่วง ประธานเจ้าหน้าที่สายงานการเงิน บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าว

ในปี 2564 ถือว่าเป็นอีกปีที่ต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลา เพื่อรองรับสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงรับมือกับความเสี่ยง และความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้นได้ โดยที่วัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 จะเป็นความหวังของชาวไทย และต่างประเทศ ทำให้การท่องเที่ยวกลับมาฟื้นตัวและกำลังซื้อจากลูกค้าชาวต่างชาติโดยเฉพาะลูกค้าชาวจีนที่มีความต้องการซื้อสูง จะเป็นตัวช่วยให้แนวโน้มและความมั่นใจกลับมาดีขึ้น และเชื่อว่าเมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลายลงทุกอย่างก็จะกลับสู่ภาวะปกติ

สำหรับแผนธุรกิจในปี 2564 อนันดายังคงตั้งเป้าหมายยอดโอนรวมที่ 16,008 ล้านบาท และยอดขาย 18,570 ล้านบาท พร้อมเตรียมเปิด 5 โครงการใหม่ มูลค่าโครงการรวมกว่า 24,422 ล้านบาท บนทำเลศักยภาพ ใกล้รถไฟฟ้า ได้แก่ ทำเลทองหล่อ สุรวงศ์ สะพานควาย สุขุมวิท 38 และลำสาลี พร้อมแนวคิดใหม่ ดีไซน์การออกแบบใหม่ เพื่อตอบโจทย์วิถีการใช้ชีวิตแบบใหม่ ขณะที่ ณ สิ้นไตรมาส 1 บริษัทยังคงรักษาเงินสดรวมโครงการร่วมทุนเกินกว่า 10,000 ล้านบาท

มาที่ธุรกิจอสังหาฯค่ายน้ำเมาของกลุ่มนายเจริญ สิริวัฒนภักดี เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) โดยนายธนพล ศิริธนชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวว่า เฟรเซอร์ส มีรายได้รวมในไตรมาสแรกของปี 2564 อยู่ที่ 4,282 ล้านบาท คิดเป็นกำไรสุทธิ 510 ล้านบาท  แม้จะเผชิญกับความท้าทายและความไม่แน่นอนด้านเศรษฐกิจจากสถานการณ์โควิด-19 ก็ตาม โดยกลุ่มธุรกิจ “เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮม” ก็ยังสามารถสร้างรายได้จากการขายบ้าน โดยมียอดพรีเซลในไตรมาสที่ 1 อยู่ที่ 8,255 ล้านบาท ปรับตัวสูงขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าถึง 24%

Rejection Rate พุ่ง 51% ทุบยอดโอนบ้าน
อย่างไรก็ตาม การปฏิเสธสินเชื่อและยอดการยกเลิกจากลูกค้า (Home Loan & Customer Rejection Rate) ยังคงอยู่ในอัตราสูง คิดเป็นร้อยละ 51 ทำให้บันทึกรายได้จากการขายในรอบ 3 เดือนแรกอยู่ที่จำนวน 3,163 ล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนการเปิดโครงการบ้านฟังก์ชั่นครบ ตอบโจทย์การ Work from Home เพิ่มเติมอีก 11 โครงการในปีนี้ เพื่อรองรับดีมานด์ของลูกค้าที่เพิ่มสูงขึ้นจากไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไปตามวิถีชีวิตแบบ New Normal

ส่วนกลุ่มธุรกิจที่สร้างรายได้จากค่าเช่าและค่าบริการ ประกอบด้วยกลุ่มธุรกิจ “เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ อินดัสเทรียล” และ กลุ่มธุรกิจ “เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ คอมเมอร์เชียล” ก็ยังสามารถสร้างกระแสรายได้ที่สม่ำเสมอให้แก่บริษัท โดยมีการบันทึกรายได้รวมจากค่าเช่าและการบริการในไตรมาสแรกจำนวน 543 ล้านบาท

“ด้วยแพลตฟอร์มอสังหาฯครบวงจรและกลยุทธ์ ‘One Platform’ สู่ความยั่งยืน ทำให้ บริษัท สามารถผลักดันการเติบโตของธุรกิจในระดับที่น่าพอใจ และมั่นใจว่าในปีนี้ บริษัทจะสามารถสร้างรายได้ตามเป้าที่ 17,000 ล้านบาทอย่างแน่นอน” นายธนพลกล่าว

พอสรุปได้ว่า การที่แต่ละบริษัทยังคงสร้างยอดขายและรายได้เป็นที่น่าพอใจท่ามกลางวงล้อมของโควิด-19 ได้ ต้องปรับทั้งภายนอกภายใน ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มประสิทธิการการดำเนินงาน การลดค่าใช้จ่าย การบริการจัดการกระแสเงินสด การพัฒนาโครงการให้สอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปในยุค New Normal พร้อมทั้งกระจายความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างบ้านพร้อมอยู่ ขยายทำเล การเพิ่มขาธุรกิจ ขณะที่สัญญาณที่บ่งชี้ว่า กำลังซื้อผู้บริโภคยังคงเปราะบางก็คือยอด Rejection Rate ที่ยังอยู่ในระดับสูง

ที่กล่าวมาทั้งหมดแต่ละบริษัทต้องทำกันอย่างเข้มข้น เพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนของธุรกิจที่ยังคงได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวสัสโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง และจะหนักหน่วงยิ่งขึ้นจากการระบาดรอบที่ 3 ที่จะสร้างผลกระทบอย่างรุนแรงในไตรมาสที่ 2 คาบเกี่ยวถึงไตรมาสที่ 3 เป็นอย่างน้อย