fbpx
FB cover 93

ราคาบ้าน – คอนโด จะเป็นเช่นไร เมื่อต้นทุนก่อสร้างเริ่มผันผวน

ปัจจัยที่ส่งผลต่อ ราคาบ้าน – คอนโด เริ่มมีความเคลื่อนไหว ทั้งราคาที่ดินก่อนการพัฒนาที่ส่งสัญญาณชะลอตัวลง ขณะที่ราคาวัสดุก่อสร้างอย่างเหล็กเริ่มพุ่งทะยาน จะมีผลกับราคาแค่ไหนไปติดตามกัน

เริ่มเห็นสัญญาณการชะลอตัวของราคาที่ดินก่อนการพัฒนากันบ้างแล้ว ซึ่งจากการรายงานดัชนีราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ไตรมาส 1 ปี 2564 ของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ พบว่า มีค่าดัชนีเท่ากับ 326.2 จุด หากเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) ยังคงเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.2 แต่เริ่มเห็นสัญญาณที่ราคาที่ดินที่เริ่มลดลง เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของอัตราเปลี่ยนแปลงของราคาที่ดินเปล่าย้อนหลังไป 5 ปี (ปี 2559-2563) ที่อยู่ประมาณร้อยละ 17.7 ต่อไตรมาส

นอกจากนี้ การที่ดัชนีราคาที่ดินลดลงร้อยละ -2.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) ถือเป็นการลดลงครั้งแรกตั้งแต่เริ่มมีการจัดทำดัชนีราคาที่ดินเปล่าของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ มาตั้งแต่ปี 2555 เรื่องนี้ ดร. วิชัย วิรัตกพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า ภาวะการชะลอตัวและการปรับลดลงของราคาที่ดินเป็นไตรมาสแรกเมื่อเทียบกับไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 เป็นผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังมีการแพร่ระบาดต่อเนื่องในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯทั้งนี้ ภาวะการลดลงของดัชนีที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนายังถูกสะท้อนด้วยจำนวนความต้องการซื้อขายที่ดินเปล่าในกรุงเทพฯ-ปริมณฑลที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ลดลงถึงร้อยละ -13.3 เมื่อเทียบกับปี 2562 ซึ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ได้มีการปรับตัว โดยอาจมีการซื้อที่ดินสะสมไว้น้อยลง และมีการซื้อที่ดินใหม่เพื่อใช้ตามวัตถุประสงค์มากกว่าที่จะซื้อมาเก็บไว้รอการพัฒนาในอนาคต

สำหรับทำเลที่มีราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาเพิ่มขึ้นมากในไตรมาส 1 ปี 2564 ส่วนใหญ่ยังคงเป็นที่ดินตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า โดยแนวรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (บางแค-พุทธมณฑล สาย 4) ที่มีแผนจะก่อสร้างในอนาคต ซึ่งเป็นที่ดินโซนตะวันตกของกรุงเทพมหานครมีการปรับดัชนีราคาเพิ่มขึ้นสูงสุด โดยเส้นทางสายนี้เป็นแนวรถไฟฟ้าที่เชื่อมต่อกับแนวรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (หัวลำโพง-บางแค) ที่เปิดให้บริการแล้ว

ส่วนที่ดินตามแนวรถไฟฟ้าสายสีทอง (ธนบุรี-ประชาธิปก) ที่เพิ่งเปิดให้บริการไปเมื่อเดือนธันวาคม 2563 และสายสีน้ำเงิน (หัวลำโพง-บางแค) และ สายสีส้ม (ตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรม) ที่มีแผนจะก่อสร้างในอนาคต มีการปรับเพิ่มขึ้นมากเป็นอันดับ 2 ในไตรมาสนี้ สำหรับที่ดินตามแนวรถไฟฟ้า สายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) ซึ่งเป็นโครงการที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างที่มีความคืบหน้าการก่อสร้างโดยรวมอยู่ที่ร้อยละ 79.44 (ณ มีนาคม 2564) มีอัตราขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้นร้อยละ 35.7

ดัชนีราคานี้ทำให้เห็นว่าราคาที่ดินโซนตะวันตก และโซนตะวันออกของกรุงเทพมหานครมีราคาเพิ่มขึ้นมากในไตรมาสนี้

สำหรับทำเลที่มีเส้นทางรถไฟฟ้าผ่าน 5 อันดับแรกที่มีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้นสูงสุด

อันดับ 1 ได้แก่ สายสีน้ำเงิน (บางแค-พุทธมณฑล สาย 4) ซึ่งเป็นโครงการที่มีแผนจะก่อสร้างในอนาคต มีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้นร้อยละ 38.3 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

อันดับ 2 ส่วนใหญ่เป็นโครงการรถไฟฟ้าที่เปิดให้บริการแล้ว ได้แก่ สายสีทอง (ธนบุรี-ประชาธิปก) ซึ่งเป็นโครงการที่เพิ่งเปิดให้บริการแล้วเมื่อเดือนธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา และสายสีน้ำเงิน (หัวลำโพง-บางแค) ส่วน สายสีส้ม (ตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรม) เป็นโครงการที่มีแผนจะก่อสร้างในอนาคต โดยทั้ง 3 โครงการมีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้นร้อยละ 35.9 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

อันดับ 3 สายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) ซึ่งเป็นเป็นโครงการที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ที่มีความคืบหน้าการก่อสร้างโดยรวม ณ มีนาคม 2564 อยู่ที่ร้อยละ 79.44 มีอัตราขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้นร้อยละ 35.7 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

อันดับ 4 ได้แก่ MRT ซึ่งเป็นโครงการที่เปิดให้บริการแล้ว ส่วน สายสีแดงเข้ม (บางซื่อ-หัวลำโพง) เป็นโครงการที่มีแผนจะก่อสร้างในอนาคต โดยทั้ง 2 โครงการ มีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้นร้อยละ 35.1 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

อันดับ 5 BTS สายสุขุมวิท ซึ่งเป็นโครงการที่เปิดให้บริการแล้ว มีอัตราการขยายตัวของราคาที่ดินเพิ่มขึ้นร้อยละ 34.0 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

นั่นคือตัวเลขที่ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์รายงานในไตรมาสล่าสุด ซึ่งแม้ว่าจะมีสัญญาณการชะลอตัวลงของราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนา แต่ก็ยังวางใจไม่ได้ว่าราคาจะชะลอตัวต่อไปอีก เพราะการแข่งขันในตลาดบ้านแนวราบที่สูงขึ้น โดยเฉพาะจากผู้ประกอบการรายใหญ่จึงอาจจะทำให้ความต้องการที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนามีสูงขึ้นตามไปด้วย ขณะที่ผู้ประกอบการหลายรายก็ยังบ่นว่า ราคาที่ดินไม่ได้ลงตามภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจและผลกระทบจากโควิด-19 เลยแม้แต่น้อย ก็ต้องคอดดูว่าในไตรมาสต่อๆ ไป ราคาที่ดินจะไปในทิศทางได้

แต่สิ่งที่น่ากังวลในช่วงนี้ คงจะเป็นเรื่องของวัสดุหลักในการก่อสร้างอย่างเหล็กที่ราคาพุ่งทะยานแบบน่าตกใจ และยังมีแนวโน้มที่จะขยับราคาขึ้นไปอีก ซึ่งอาจจะมีผลต่อต้นทุนบ้านในอนาคตอันใกล้นี้

เรื่องนี้นายอิสระ บุญยัง กรรมการผู้จัดการ บริษัท กานดา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ให้ความเห็นว่า ราคาเหล็กได้ขยับจาก 2 หมื่นบาทต่อตันบวก-ลบ มาเป็น 2.8 หมื่นบาทต่อตัน หรือราคาขึ้นไปถึง 40% ซึ่งจะกระทบต่อต้นทุนการก่อสร้างโดยเฉพาะอาคารสูงที่ต้องใช้ปริมาณเหล็กมากกว่าที่อยู่อาศัยแนวราบ แต่ปัจจุบันโครงการที่อยู่อาศัยแนวสูงก็ยังอยู่ในภาวะที่ชะลอการเปิดโครงการใหม่อยู่แล้ว

แต่ถ้ามองย้อนไปในอดีตราคาเหล็กเคยพุ่งขึ้นไปเตะ 4 หมื่นบาทต่อตัน ดังนั้นการที่ราคาเหล็กยังคงวิ่งอยู่ในระดับ 2-3 หมื่นบาทต่อตันจึงยังเป็นอะไรที่พอรับไหว แม้ว่าจะกระทบต่อต้นทุนอยู่บ้าง แต่เชื่อว่า ผู้ประกอบการคงต้องยอมเฉือนกำไร เพื่อให้ราคาบ้านอยู่ในระดับราคาที่สอดรับกับดีมานด์และสามารถแข่งขันในตลาดได้ “ขายของได้แต่กำไรลดลงย่อมดีกว่าไม่ได้ขาย” เป็นเรื่องสำคัญที่สุดในสถานการณ์ขณะนี้

สรุปก็คือ แม้ว่าเวลานี้จะมีความผันผวนของต้นทุนอยู่ไม่ว่าจะเป็นราคาที่ดิน หรือราคาวัสดุก่อสร้าง แต่ก็ยังไม่สามารถกดดันให้มีการเปลี่ยนแปลงของราคาที่อยู่อาศัยได้ เพราะสภาวะการแข่งขัน และความสามารถในการซื้อของผู้บริโภคลดลงจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ใครขืนปรับราคาสุ่มสี่สุ่มห้า ความเสี่ยงย่อมสูงขึ้นแน่นอน