ผ่านไตรมาส 1 เข้าสู่ไตรมาสที่ 2 บริษัทอสังหาริมทรัพย์ก็เริ่มปรับแผนรับมือผลกระทบจากวิกฤติไวรัสโควิด-19 เมื่อประเมินจากสถานการณ์ในไตรมาสแรกและที่กำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันแล้วคงใช้แผนตั้งรับธรรมดาๆ คงรับมือไม่อยู่ หลายๆ บริษัทจึงเริ่มปรับแผนจาก Plan A ไปสู่ Plan B ทั้งการปรับลดโครงการลงทุนใหม่ เร่งระบายสต๊อก รักษาสภาพคล่องทางการเงิน และรุกขยายตลาดออนไลน์
“วิกฤติไวรัสโควิด-19 ในครั้งนี้ ถือว่าเป็นอีกหนึ่งวิกฤติครั้งใหญ่ตั้งแต่ก่อตั้งพฤกษามา ยอมรับว่าเป็นความยากและท้าทายสำหรับเราเป็นอย่างมากในปีนี้ บริษัทได้จัดตั้งทีมทำงานชุดพิเศษเพื่อติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเป็นรายวัน และได้เร่งปรับแผนการดำเนินธุรกิจใหม่เพื่อรับมือสภาวะวิกฤติดังกล่าวอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรักษาสภาพคล่อง รวมถึงการบริหารค่าใช้จ่ายทุกประเภทภายในองค์กรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
นอกจากนี้ ยังมีการทบทวนแผนการเปิดโครงการใหม่ เน้นขายโครงการที่เป็น Inventory และควบคุมปริมาณก่อสร้างให้สมดุล พร้อมกันนี้ได้จับมือกับธนาคารพันธมิตรหลายแห่งจัดแคมเปญพิเศษเพื่อเร่งการโอน อาทิ ฟรีดอกเบี้ยนาน 2 ปี หรือดอกเบี้ยอัตราพิเศษ รวมถึงบริการวางแผนทางการเงิน เป็นต้น” นางสุพัตรา เป้าเปี่ยมทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท กล่าว
ด้านกลยุทธ์การตลาดและการขาย (Sale Innovation) บริษัทจะเน้นใช้ช่องทางดิจิทัลต่างๆ ในการสร้างประสบการณ์การขายแบบไร้รอยต่อให้ลูกค้ารู้สึกเหมือนได้เยี่ยมชมโครงการเองที่บ้าน เป็นการอำนวยความสะดวกสบายให้กับผู้บริโภคที่ต้องการบ้านในช่วงนี้ อาทิ Facebook Live พาเยี่ยมชมโครงการพร้อมมอบโปรโมชั่นพิเศษ โดยนำร่องทาวน์โฮมทำเลศักยภาพหลายโครงการ ซึ่งได้ปรับใช้กลยุทธ์นี้ไปก่อนหน้าแล้ว ได้ผลตอบรับเป็นอย่างดี และยังช่วยบริหารค่าใช้จ่ายด้านการตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ขณะเดียวกัน บริษัทได้เปิดแพลตฟอร์มการจองบ้านออนไลน์พร้อมราคาและเงื่อนไขสุดพิเศษ (Hot Deals) ผ่านทาง www.pruksa.com และยังมีการจัดแคมเปญพิเศษเพื่อกระตุ้นการตัดสินใจซื้อ และสื่อสารผ่านทาง Facebook Live รวมถึงการให้บริการผ่าน Line ที่มีผู้สนใจอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ที่ต้องการมีรายได้เสริมในช่วงนี้ สมัครเป็นนายหน้าขายอสังหาฯ (Freelance Broker) ไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์การขายมาก่อน โดยจะได้รับค่าคอมมิชชั่นจากการขายอยู่ที่ 2.5%
ด้านนายวิทการ จันทวิมล รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงาน Corporate Strategy and Creation บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบันยากที่จะประเมินได้ว่าจะจบเมื่อไหร่ หรือจุดพีคของกราฟที่เลวร้ายที่สุดจะไปในทิศทางไหน แต่ถ้ามองย้อนกลับไปเชื่อว่าผู้ประกอบการอสังหาฯ โดยเฉพาะรายใหญ่ในตลาดต่างเคยผ่าน Situation ที่เลวร้ายที่สุดที่เกิดขึ้นในประเทศไทย อย่างปี 2540 หรือ ต้มยำกุ้ง Crisis มาแล้ว
ทุกคนจะทราบดีว่าการบริหารจัดการกระแสเงินสด คือเรื่องที่สำคัญที่สุดเมื่อธุรกิจกำลังจะประสบกับภาวะวิกฤติ ซึ่งหากเทียบสถานการณ์ในวันนี้กับวิกฤตเมื่อปี 2540 อาจต่างกันตรงที่ ภาพรวมของเศรษฐกิจโลกดูแย่ทั้งหมด ดังนั้นเราต้องช่วยตัวเองให้ถึงที่สุด ซึ่ง Cash is King คือหนทางที่ดีที่สุดในการนำพาองค์กรให้รอดผ่านไปได้ โดยบริษัทได้มีการจัดทำแผนความต่อเนื่องทางธุรกิจ การบริหารจัดการกระแสเงินสด ตลอดจนแนวทางการดูแลลูกค้าและพนักงานอย่างสุดกำลัง” นายวิทการกล่าว
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เอพีให้ความสำคัญอย่างมากกับการรักษาสัดส่วนหนี้สินต่อทุนให้ไม่เกิน 1 และการบริหารจัดการ cash flow ซึ่งท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้ AP ยังมี cash flow ในจำนวนที่เพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจ และจะมีการ monitor อย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ บริษัทได้มีการจัดตั้งทุนสำรอง เพื่อใช้รับรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินขึ้น เพื่อไม่ให้กระทบต่องบกำไรขาดทุนของปีนั้นๆ เช่น การซื้ออุปกรณ์พิเศษต่างๆ อย่างหน้ากากอนามัย เครื่องฉีดพ่น ตลอดจนน้ำยาฆ่าเชื้อ เป็นต้น
นายพีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ กล่าวว่า บริษัทยังคงเฝ้าติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างใกล้ชิด และได้ปรับตัวอย่างต่อเนื่อง อาทิ การเสริมช่องทางการตลาดอื่นๆ โดยจับมือกับ Lazada และ Shopee ทยอยออกแคมเปญตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา พร้อมการออกมาตรการสร้างความมั่นใจด้านสุขภาพ และยังเดินหน้าพิจารณามาตรการใหม่ๆ 3 ด้านอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ 1.มาตรการเพื่อผู้บริโภค ทั้งเพื่อกลุ่มที่กำลังพิจารณาจะซื้อโครงการของออริจิ้น และกลุ่มที่ปัจจุบันเป็นลูกบ้านออริจิ้นแล้ว 2.มาตรการเพื่อพนักงาน และ 3.มาตรการเชิงธุรกิจ เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการธุรกิจ
ทั้งนี้ บริษัท เดินหน้าจับมือพันธมิตรใหม่ๆ ในรูปแบบ Open Platform เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้บริโภค พร้อมทั้งพิจารณาปรับปรุงแผนธุรกิจให้ยังคงสามารถขับเคลื่อนไปได้ภายใต้ทุกสถานการณ์ รองรับทั้งสถานการณ์โควิด-19 และสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงจาก Digital Disruption ที่ถูกเร่งให้เกิดเร็วขึ้น ดำเนินธุรกิจพร้อมทั้งส่งมอบสินค้าและบริการคุณภาพให้ผู้บริโภคได้ตามเป้าหมาย คาดว่าจะเห็นมาตรการใหม่ๆ ทยอยออกมาอย่างต่อเนื่องในเดือนเม.ย.นี้
นายชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ กล่าวว่า จากสถานการณ์ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ทุกคนต้องระมัดระวังตัวมากขึ้น ทำให้คนส่วนใหญ่เลือกที่จะอยู่กับบ้านไม่ออกไปไหน รวมถึงลูกค้าทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติไม่สามารถเดินทางเข้าเยี่ยมชมโครงการได้ บริษัทจึงต้องปรับแผนรับมือสถานการณ์กำลังซื้อที่ชะลอตัว โดยการเปิดช่องทางการขายผ่านทางออนไลน์ ด้วยการเปิดตัว “Ananda iStore” กับ 3 ช่องทางออนไลน์
ทั้งนี้ เพื่อให้ลูกค้าสามารถจับจองเป็นเจ้าของทั้งบ้านและคอนโดมิเนียมติดรถไฟฟ้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งเป็นกลยุทธ์การตลาดเพื่อผลักดันยอดขายในช่วงนี้ พร้อมตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป และรองรับดีมานด์ในตลาดที่ยังมีอยู่สูง ซึ่งต้องการซื้อที่อยู่อาศัยพร้อมเข้าอยู่ได้ทันที ผ่านช่องทางการตลาดออนไลน์ที่อำนวยความสะสวกให้กับลูกค้าได้ง่ายขึ้น โดยไม่ต้องออกจากบ้าน
เชื่อว่าแต่ละบริษัทจะทยอยปรับแผนธุรกิจกันใหม่ในช่วงไตรมาส 2 นี้ เพื่อรองรับกับวิกฤติที่ยังมองหาปลายทางยังไม่เจอ อย่างน้อยๆ ปีนี้แค่ประคองตัวให้รอดไปได้ก็ถือว่าเก่งมากแล้ว