LPN คอนโดลุมพินี

LPN ปรับองค์กร ชูความเป็น Modern-Classic เจาะกลุ่ม New Gen ขยายตลาดลงทุน

ไม่กี่วันก่อนเกิดเหตุแผ่นดินไหว เราได้พบปะพูดคุยกับ 2 ผู้บริหารใหม่ของบริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด(มหาชน) – LPN เป็น 2 ผู้บริหารที่เข้ามาหลังการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นของ LPN คนหนึ่งเป็นตัวแทนของกลุ่มผู้ถือหุ้นใหม่จากตระกูลฉัตรพิริยะพันธ์ที่เข้ามาถือหุ้น LPN อยู่ราวๆ 18% กว่า ก็คือ คุณดารณี ฉัตรพิริยะพันธ์ เข้ามานั่งในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อีกคนจะว่าเป็นตัวแทนจาก LPN ยุคดั้งเดิมก็ไม่เชิง แต่เป็นเพราะเขาเคยทำงานที่ LPN มาก่อน แล้วออกไปท่องยุทธจักรก่อนจะกลับมาอีกครั้งตามคำชักชวนของคุณพิเชษฐ ศุภกิจจานุสันติ์ ผู้เป็นนายเก่าและหนึ่งในผู้ก่อตั้ง LPN ก็คือ คุณสมบัติ ชาญยุทธกร เข้ามานั่งในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ

การพูดคุยกันในวันนั้นยังไม่ทันจะถูกถ่ายทอดสู่สาธารณะก็เกิดแผ่นดินไหวสร้างผลกระทบอันใหญ่หลวงให้กับอาคารสูงโดยเฉพาะคอนโดมิเนียมที่ถูกแรงสั่นสะเทือนจะผสุธาสะบั้นความเชื่อมั่นของผู้คนที่อยู่อาศัยบนอาคารสูง และเป็นบททดสอบสำคัญของผู้พัฒนาโครงการทั้งในเรื่องของคุณภาพและบริการ ซึ่ง LPN เป็นหนึ่งในบริษัทที่ถูกพูดถึงในเชิงบวกเป็นส่วนใหญ่จากผู้อยู่อาศัยจริงและในโลกออนไลน์ผ่านเรื่องเล่าต่างๆ มากมาย ทำให้นึกถึงคำถามและคำตอบจากผู้บริหารวันนั้นที่ว่า LPN ยุคใหม่ ภายใต้ผู้ถือหุ้นใหม่ ผู้บริหารใหม่ จะเดินไปในทิศทางไหน “เราจะคงความคลาสสิกของ LPN เอาไว้ พร้อมกับการปรับตัวตามยุคตามสมัยให้เข้าถึงลูกค้าในปัจจุบัน” นั่นคือคำตอบ

ความคลาสสิกของ LPN คืออะไร ก้าวต่อไปของ LPN จะเป็นเช่นไร ต่อไปนี้คือคำตอบจาก 2 ผู้บริหาร LPN

LPN คอนโดลุมพินี

การเข้ามาถือหุ้นใหญ่ใน LPN ของกลุ่มฉัตรพิริยะพันธ์ ซึ่งมีธุรกิจดั้งเดิมคือ ส่งออกทองแดงรีไซเคิล ภายใต้บริษัท เมทัล คอปเปอร์ เริ่มต้นด้วยการถูกมองว่า เป็นแค่นักลงทุนไม่ได้คิดจริงจังกับการเข้ามาเป็นดีเวลลอปเปอร์เต็มตัว และอาจจะถึงขั้นล้มเหลวเหมือนทุนนอกธุรกิจหลายๆ ราย เคยเป็นมา จากความไม่รู้และไม่จริงจังในการทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ คุณดารณี ย้ำถึงความตั้งใจว่า การเข้ามาลงทุนใน LPN เป็นการลงทุนของครอบครัวและลงทุนส่วนตัวอีกส่วนหนึ่ง เป็นความตั้งใจตั้งแต่ต้นในการขยายสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เพราะเป็นธุรกิจที่มีความน่าสนใจและท้าทาย

“ที่เลือก LPN เพราะเป็นบริษัทที่มีเสน่ห์ในตัวเองทั้งในเรื่องของชื่อเสียงที่มีมายาวนาน (36 ปี) ถ้าพูดถึง LPN ก็จะรู้จักในฐานะผู้พัฒนาคอนโดที่มีความคลาสสิก และบริการหลังการขายที่ดี ซึ่งเราจะต้องรักษาความคลาสสิคนั้นไว้ พร้อมกับปรับเปลี่ยนองค์กรที่ผสมผสานระหว่างคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ให้สามารถทำงานร่วมกันได้ รวมทั้งปรับกระบวนการทำงานใหม่ให้เป็นระบบมากขึ้นโดยการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย” ซีอีโอในวัย 38 ปีกล่าวแนวทางการขับเคลื่อน LPN ยุคใหม่

ในฐานะที่เรียนจบทางด้านการเงิน คุณดารณีจึงให้ความสำคัญกับเรื่องเงินๆ ทองๆ เป็นพิเศษยิ่งในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจผันผวน ตลาดอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัว เรื่องของกระแสเงินสดและการคุมต้นทุนจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้บริษัทอยู่รอดปลอดภัย

LPN ผลดำเนินงาน

“ในช่วงเริ่มต้นจึงเน้นไปที่การบริหารกระแสเงินสดเป็นหลัก เน้นการขายที่รวดเร็วระบายสินค้าออกไปให้ได้มากที่สุดในปีที่ผ่านมาสามารถเราสามารถปิดขายโครงการไปได้ 7 โครงการ ลดดอกเบี้ย ลดภาระค่าใช้จ่ายไปได้มาก ผลก็คือ เรามีเงินสดสุทธิจากการดำเนินงาน ณ สิ้นปี 2567 เกือบๆ 2,500 ล้านบาท หนี้สินต่อทุนลดต่ำลงเหลือ 1.03 รวมถึงหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนของผู้ถือหุ้นรวมก็ลดลงเหลือ 0.88 ทำให้เราคล่องตัวมากขึ้น” คุณดารณีกล่าว

LPN กำไรสุทธิ
LPN หนี้ต่อทุน

“เรายังมีสถานะการเงินที่แข็งแรง จะเห็นว่าในปีที่แล้วเราบริหารจัดการเรื่องสภาพคล่อง โดยการเร่งระบายสินค้าออกไปก่อนเป็นรายแรกๆ เพราะซีอีโอมองเห็นแล้วว่า ถ้าไม่เร่งรีบจัดการในสถานการณ์เช่นนี้ก็จะเริ่มมีความน่ากังวล เมื่อเราจัดการตรงนั้นได้มันก็กลับมามาอยู่ในตัวเลขที่เราบริหารได้ แต่เรื่องเงินในปีนี้ก็ยังต้องระมัดระวังเหมือนเดิม แต่จะไม่ใช่เรื่องที่เราหนักใจ” คุณสมบัติขยายความเพิ่ม

LPN Presale
LPN รายได้

อย่างไรก็ตาม ยังมีการบ้านข้อใหญ่ให้ต้องขบคิดก็คือ สิ่งที่ถูกมองว่าเป็นจุดอ่อนของแบรนด์ LPN

“ในภาพที่เราเห็นก็ไม่ปฏิเสธว่า LPN ดูเป็นผู้ใหญ่(แก่)กว่าหลายๆ แบรนด์ ซึ่งก็ต้องยอมรับในจุดนี้ และด้วยความเป็นองค์กรที่มีอายุ 36 ปี ทำให้บางทีมีความช้าไม่คล่องตัว ซึ่งเราต้องมีการปรับเปลี่ยนอยู่หลายอย่าง ขณะที่บุคลากรที่อยู่กันมานาน การปรับเปลี่ยนอะไรก็จะมีความช้ากว่า แต่คนกลุ่มนี้ก็มีประสบการณ์ที่ประโยชน์กับองค์กรและทำให้ LPN อยู่มาได้จนถึงวันนี้ เพียงแต่ต้องมีการปรับ-เติมอะไรใหม่ๆ เข้าไป” คุณสมบัติพูดถึง Pain Point ของ LPN

เรื่องของกระบวนการทำงานต่างๆ ก็ได้มีการปรับปรุงให้มีความคล่องตัว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น เราได้เอากระบวนการพัฒนาอสังหาฯของเราทั้งหมดมานั่งดูกันใหม่ทั้งหมดว่าจะลดจะเพิ่มในส่วนไหนให้เกิดความคล่องตัว และนำเทคโนโลยี่เข้ามาช่วยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงการผสานการทำงานร่วมกันระหว่าง Gen เก่า ที่ทำให้เราอยู่ได้มาถึงทุกวันนี้ และไอเดียใหม่ๆ จากคน Gen ใหม่

ที่ผ่านมา LPN มีแนวทางการพัฒนาศักยภาพและการเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ ให้กับพนักงานทุกรุ่น โดยเฉพาะ Gen เก่า สามารถปรับตัวและทำงานร่วมกับ Gen ใหม่ ที่อาจจะคุ้นเคยกับเทคโนโลยีมากกว่าได้อย่างราบรื่น และช่วยลดช่องว่างด้านทักษะที่อาจเกิดขึ้นระหว่างวัยได้ รวมถึงการแบ่งปันความรู้และถ่ายทอดประสบการณ์ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่ส่งเสริมให้พนักงานรุ่นเก่าสามารถถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์อันทรงคุณค่าให้กับพนักงานรุ่นใหม่ ในขณะที่พนักงานรุ่นใหม่อาจนำความรู้ใหม่ๆ หรือมุมมองที่แตกต่างมาแบ่งปันได้ เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน (Knowledge Sharing) ภายในองค์กร

หลังจากนั้น เราก็กลับมานั่งดูว่าเราจะไปต่อกันอย่างไร จะให้คนรับรู้แบรนด์เราแบบไหน จะให้ดูเซ็กซี่ ดูทันสมัย จะทิ้งสปิริตเดิมที่มีคุณลุงคนหนึ่ง ทำงานขยันมาก มีความตั้งใจ ส่งของที่มีคุณภาพให้กับลูกค้าจะทิ้งภาพนั้นไปไปหรือไม่ ซึ่งเราก็คงไม่ทิ้ง ความคลาสสิกในแบบของ LPN ต้องยังอยู่ แต่จะต้องทำให้มันเหมาะสมกับ Gen ในปัจจุบัน ต้องทำให้เห็นภาพเมื่อ 30 ปีที่แล้ว LPN ที่เปลี่ยนไป แต่ความเชื่อใจยังต้องเหมือนเดิมเป็นเรื่องแรกๆ ที่เราต้องทำ

คอนโดลุมพินี LPN

คุณสมบัติขยายความคำว่า คลาสสิกในแบบของ LPN ให้ฟังว่า “ถ้ารวมๆ แล้ว ก็คือ ความเชื่อใจที่สั่งสมมาตลอด 36 ปี จากการส่งมอบสินค้าที่มีคุณภาพมากกว่า 1.2 แสนยูนิต และบริการหลังการอยู่อาศัยที่ดีให้กับลูกค้ามาอย่างยาวนาน จนผู้บริโภคมีความเชื่อใจว่า ถ้าซื้อ LPN จะได้สินค้าที่ดีมีคุณภาพ และบริการหลังการอยู่อาศัยจาก LPP (บริษัทลูกของ LPN) ที่เรายังคงเป็นอันดับ 1 เพียงแต่ว่าจะต้องนำความคลาสสิกเข้าไปให้ถึงคนใน Gen ปัจจุบัน”

จริงๆ คำว่า คลาสสิก ในอีกมิติหนึ่งก็คือ ค่านิยมองค์กรของ LPN ซึ่งประกอบไปด้วยคำว่า “C-L-A-S-S-I-C” เป็นแนวทางบูรณาการในการดำเนินธุรกิจของ LPN ได้แก่

C – COST WITH QUALITY (บริหารต้นทุนพร้อมคุณภาพ): การใช้ทรัพยากรอย่างระมัดระวังและบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมุ่งเน้นลดต้นทุนทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมถึงค่าใช้จ่ายส่วนเกินอย่างต่อเนื่อง พร้อมคำนึงถึงคุณภาพงานเป็นเป้าหมายสำคัญ

L – LATERAL THINKING (คิดนอกกรอบ): การคิดใหม่ที่ยืดหยุ่นและแตกต่างจากเดิม เพื่อปรับปรุง เปลี่ยนแปลง พัฒนา และสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง นำไปปฏิบัติและวัดผลได้จริง โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มคุณค่าให้กับผลิตภัณฑ์ การบริการ และความก้าวหน้าขององค์กร

A – ALLIANCE (ปิยมิตร): การปฏิบัติต่อมิตรแท้ทางธุรกิจที่ทำงานร่วมกันมานาน ด้วยความไว้วางใจและเป็นธรรม ร่วมมือเกื้อหนุนกัน เพื่อบรรลุความสำเร็จร่วมกัน

S – SPEED WITH QUALITY (รวดเร็วพร้อมคุณภาพ): การพัฒนาและแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็ว ใส่ใจในรายละเอียด เพื่อให้งานมีคุณภาพและเสร็จก่อนกำหนด

S – SERVICE MINDED (ใจบริการ): การดูแลเอาใจใส่ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ด้วยการคิดในมุมมองของพวกเขา ให้บริการอย่างครบวงจรด้วยความเต็มใจและเกินความคาดหมาย

I – INTEGRITY (จริยธรรม): การปฏิบัติตนต่อองค์กรและทำธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์ รับผิดชอบ โปร่งใส ไม่เอาเปรียบ และมีศีลธรรม

C – COLLABORATION (ร่วมมือร่วมใจ): การรวมพลังเป็นหนึ่งเดียวกัน โดยการร่วมมือทำงาน รับผิดชอบ และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกัน

ทั้งหมดจะหลอมรวมสู่การเป็น LPN Way ซึ่งประกอบด้วย 2 เสาหลัก คือ “การพัฒนาอย่างต่อเนื่อง” (Continuous Development) และ “การยอมรับนับถือผู้มีส่วนได้เสีย” (Respect to Stakeholders) (ข้อมูลจาก One Report ของ LPN ฉบับล่าสุด 25 มีนาคม 2568)

LPN Classic

คำว่าคลาสสิกจึงเป็นกลยุทธ์สำคัญในการขับเคลื่อน LPN แต่ก็ต้องเข้าให้ถึงลูกค้าปัจจุบันให้มากยิ่งขึ้น ซึ่ง LPN ได้เริ่มทำการรีแบรนด์ไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ไม่ใช่แค่การปรับเปลี่ยนโลโก้บริษัทใหม่ แต่ยังปรับโปรดักต์ของ LPN โดยการสร้างแบรนด์ใหม่ “168” ให้มีความทันสมัย ดูเด็กลง เพื่อขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มคนรุ่นใหม่ เน้นภาพลักษณ์ที่ทันสมัยและสร้างความแตกต่างจากแบรนด์เดิมอย่างลุมพินีอย่างชัดเจน การเปลี่ยนแปลงนี้ถือเป็น Game Changer ที่สำคัญของบริษัท

“การรีแบรนด์เมื่อ 2 ปีก่อนก็เริ่มทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงลูกค้าที่เข้ามา ข้อแรกคือ ลูกค้าเราเด็กขึ้น เราเห็นหน้าตาของลูกค้าที่โฟกัสมากขึ้น เราเห็นความต้องการลงทุนเพื่อปล่อยเช่าของเด็กในกลุ่ม Millennials ที่มีเยอะมาก ซึ่งเราอาจจะได้ยินกลุ่มคนที่เรียกว่า Henry : High Earners, Not Rich Yet (คนที่หาเงินได้สูงแต่ไม่มีเงินเก็บ) ถือเป็นกลุ่มที่ค่อนข้างใหญ่ในหมู่คนรุ่นใหม่ แต่ก็ยังมีอีกลุ่มที่ชอบในเรื่องของการลงทุน ไม่ว่าจะเป็น คริปโต หุ้น และมีการลงทุนในอสังหาฯ

เรามีกลุ่มที่เข้ามาซื้อเพื่อลงทุนจากกลุ่มเด็กๆ (อายุ 28-35 ปี) เพิ่มขึ้นมากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ขณะที่กลุ่มผู้ใหญ่ค่อยๆ ลดลง ส่วนหนึ่งมาจากการรีแบรนด์ และการทำตลาดที่โฟกัสมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ส่วนข้อที่สอง เราดูข้อมูลจากการสำรวจในตลาดที่บอกว่า LPN ยังคงเป็นแบรนด์ในใจของผู้บริโภคแบรนด์หนึ่งโดยเฉพาะในกลุ่มนักลงทุน และอายุของคนที่ซื้อ LPN ก็น้อยลง ซึ่งเป็นการยืนยันข้อมูลที่เราได้จากการซื้อขายโดยตรง” คุณสมบัติกล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงหลังการรีแบรนด์ครั้งใหญ่เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา

คอนโดลุมพินี LPN

ดังนั้นในปี 2568 การทำตลาด แน่นอนว่าจะต้องให้เหมาะกับคนในปัจจุบัน โดยใช้ความคลาสสิคของ LPN และขายให้กับคนที่เข้าใจในเรื่องของความคุ้มค่าของ LPN ที่เป็นโปรดักต์ที่ Affordable และ Value for Money นอกจากนี้ เรายังมีแผนที่จะรุกเข้าไปทำตลาดต่างชาติ ซึ่งในภาพของกลุ่มลูกค้าต่างชาติส่วนใหญ่จะคิดว่าจะต้องเป็นห้องใหญ่ราคาแพง แต่จริงๆ แล้วคนต่างชาติก็มีการซื้อในหลายระดับ คอนโดของ LPN ก็มีต่างชาติที่เป็น Digital Nomad เข้ามาเช่าและซื้ออยู่จำนวนมากเช่นกัน เช่นเดียวกับตลาดเช่าที่ LPN นำห้องส่วนหนึ่งในหลายๆ โครงการมาปล่อยเช่า(ประมาณ 1,400-1,5000 ยูนิต) ก็มีอัตราการเช่าที่ดีมากๆ ถึง 90% โดยเราจะนำมาขายพร้อมผู้เช่า และการันตีผลตอบแทนสำหรับนักลงทุนที่สนใจ

คุณดารณีกล่าวเสริมในเรื่องนี้ว่า ธุรกิจครอบครัวทำเกี่ยวกับการส่งออกทองแดงรีไซเคิลไปต่างประเทศในหลายๆ ประเทศเช่น ญี่ปุ่น จีน อินเดีย และประเทศในฝั่งยุโรป ซึ่งจะมีการติดต่อธุรกิจกับคู่ค้าต่างชาติอยู่เป็นประจำ ก็จะนำมาเป็นจุดแข็งในการขยายตลาดลูกค้าต่างชาติให้กับ LPN ได้มากขึ้น

พร้อมกับเน้นย้ำว่า “การเข้ามาบริหาร LPN ในช่วงปีเศษๆ ที่ผ่านมามีความตั้งใจที่จะพัฒนาให้ LPN ไปให้ถึงจุดหมายที่ตั้งเป้าเอาไว้ ทั้งในเรื่องของรายได้และเรื่องของกำไรภายใน 5 ปีจะขึ้นไปติด Top 10 ของตลาด โดยมีรายได้ 14,000-15,000 ล้านบาท แต่ก็ต้องยอมรับว่า เศรษฐกิจในปีนี้อาจจะมีการเติบโตที่ลดลง ปัญหาหนี้ครัวเรือน และการปฏิเสธสินเชื่อที่ยังอยู่ในระดับสูง รวมถึงอัตราการเกิดที่ลดลง และเทรนด์ของตลาดที่เข้าสู่สังคมผู้สูงวัยมากขึ้น ขณะเดียวกันยังมีปัจจัยที่สนับสนุนภาคอสังหาฯทั้งเรื่องการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนอง และการผ่อนคลายเกณฑ์ LTV แต่ก็ยังคงเป็นปีที่มีความท้าทายที่เราจะต้องทำยอดขายให้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้” คุณดารณีกล่าว

สำหรับในปี 2568 LPN จะเน้นกลยุทธ์การปรับตัวอย่างยืดหยุ่น (Healthy Resilience) และขับเคลื่อนองค์กรด้วยกลยุทธ์ 5P ได้แก่ Products ที่มีการปรับให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ซื้อในปัจจุบันมากขึ้น People เน้นการพัฒนาศักยภาพการทำงานของทีมงานภายใต้แนวคิด “Work Smart with Commitment” Process การปรับกระบวนการทำงานให้มีความยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพ Partnership and Stakeholders สร้างพันธิมตรและดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และ Performance บริหารการเงินให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง พร้อมกับการเปิดตัวโครงการใหม่ 4 โครงการ มูลค่ารวม 6,000 ล้านบาท ตั้งเป้ายอดขาย 8,500 ล้านบาท และรายได้รวม 8,300 ล้านบาท

เหตุการณ์หลังแผ่นดินไหวทำให้ผู้บริหารของ LPN เชื่อมั่นว่า การรักษาความคลาสสิกของ LPN ทั้งในเรื่องของคุณภาพสินค้าและบริการจนทำให้เกิด Trust ในแบรนด์ LPN เป็นสิ่งที่เดินมาถูกทาง โจทย์ที่ท้าทายต่อไปก็คือ การจะส่งต่อ Trust ที่สั่งสมมาจากความคลาสสิกไปสู่คนรุ่นใหม่ๆ ได้อย่างไร LPN ยุคใหม่ จะเปลี่ยนจากความ CLASSIC ไปสู่ความ MODERN-CLASSIC ได้หรือไม่ เป็นสิ่งที่ผู้บริหารรุ่นใหม่ต้องพิสูจน์ฝีมือ