เอสซีจี ยังคงเดินหน้าสร้างความเข้มแข็งด้านการเงินอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับปัจจัยรอบด้านที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยในปี 2568 ตั้งเป้าให้มีกระแสเงินสดจาก EBITDA (กำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย) ไม่ต่ำกว่าปี 2567 และคาดหวังว่ากลุ่มธุรกิจซีเมนต์และวัสดุก่อสร้างยังคงทำกำไรได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการขยายตลาดส่งออกไปในตลาดใหม่ๆ ขณะที่ธุรกิจปิโตเคมี และแพ็คเกจจิ้งเริ่มฟื้นตัว และยังคงลงทุนต่อเนื่องอย่างมีคุณภาพด้วยวงเงิน 30,000-35,000 ล้านบาท ตั้งเป้ารายได้จากการขายเติบโตได้ 3-5%
นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า ในปี 2568 ธุรกิจที่จะเป็นขับเคลื่อนให้กับเอสซีจี คือกลุ่มซีเมนต์และวัสดุก่อสร้างที่เห็นทิศทางที่ดีขึ้นมาตั้งแต่ปี 2567 ที่ดีทั้ง Cash Flow และกำไรที่เพิ่มขึ้น และยังมีแนวโน้มที่จะมีกำไรเพิ่มขึ้นในปี 2568 จากการลงทุนก่อสร้างสาธารณูปโภคภาครัฐที่เพิ่มขึ้นจากการเบิกจ่ายงบประมาณที่คาดว่าจะเป็นไปอย่างต่อเนื่อง แม้ว่างานโครงการที่อยู่อาศัยจะยังคงเหนื่อยอยู่ ขณะเดียวกันตลาดในเวียดนาม และอินโดนีเซียเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น นอกจากนี้ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ได้แก่ ปูนคาร์บอนต่ำ Gen 2 จะยิ่งเพิ่มความเข้มแข็งในการส่งออกได้อีก ขณะที่แนวโน้มของตลาดแพคเกจจิ้งเริ่มฟื้นตัว โดยเฉพาะในอินโดนีเซีย ส่วนไทยนั้นตลาดดีอยู่แล้ว ส่วนธุรกิจปิโตรเคมีความเสี่ยงในด้านที่จะลดต่ำลงเริ่มน้อย และอาจจะมีผลกระทบทางบวกได้

นอกจากนี้ การปรับปรุงประสิทธิภาพองค์กรที่ได้ทำมาอย่างต่อเนื่องจะทำให้การแสเงินสดในปี 2568 จะดีขึ้นอย่างแน่นอน โดยได้ตั้งเป้าไว้ชัดเจนว่าจะต้องมากกว่าปี 2567 ที่มีกระแสเงินสดจาก EBITDA อยู่ที่ 53,946 ล้านบาทแน่นอน ขณะที่รายได้คาดว่าจะเติบโตได้ราวๆ 3-5% และยังคงลงทุนอย่างมีคุณภาพเน้นเฉพาะโครงการที่มีผลตอบแทนสูงและเร็ว ตั้งเป้าเอาไว้ไม่เกิน 30,000-35,000 ล้านบาท (ลดลงจากปีที่ 2567 ที่มีการลงทุน 55,305 ล้านบาท)
สำหรับผลการดำเนินงานในปี 2567 เอสซีจีมีรายได้รวม 511,172 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2% จากปี 2566 สะท้อนศักยภาพการปรับตัวภายใต้สภาวะเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวได้ช้า ธุรกิจปิโตรเคมีชะลอตัว สถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ ต้นทุนพลังงานผันผวน และอัตราดอกเบี้ยสูง ขณะที่ในไทย การเบิกจ่ายงบประมาณรัฐล่าช้าจากปีก่อน หนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง และสินค้าจีนเข้ามาแข่งขันอย่างไรก็ดี เอสซีจีสามารถรักษา EBITDA ให้อยู่ที่ 53,946 ล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับปี 2566 (ที่มี EBITDA อยู่ที่ 54,143 ล้านบาท) ได้จากการบริหารต้นทุนอย่างเข้มข้น และการลดเงินทุนหมุนเวียนต่อเนื่อง


ด้านผลกำไรสุทธิอยู่ที่ 6,342 ล้านบาท ลดลง 76% จากปีก่อน สาเหตุหลักมาจากผลประกอบการของโรงงานปิโตรเคมีครบวงจรในเวียดนาม (Long Son Petrochemicals หรือ LSP) และส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมลดลง ทั้งนี้ หากไม่รวมรายการพิเศษจากขาดทุนจากการด้อยค่าสินทรัพย์ของโรงงานซีเมนต์ในภูมิภาคและกำไรจากการปรับมูลค่ายุติธรรมของเงินลงทุน เมื่อปี 2566 กำไรสำหรับปีจะลดลง 52% จากปีก่อน ทั้งนี้ บริษัทยังคงแสดงความมั่นใจด้วยการจ่ายปันผล 5.00 บาทต่อหุ้น คิดเป็น 95% ของกำไรสุทธิ พร้อมย้ำเป้าหมายการดูแลผู้ถือหุ้นอย่างต่อเนื่อง
“ถ้าดูความเข้มแข็งจากกระแสเงินสดไม่มีอะไรน่าห่วง อย่าดูแค่ Net Profit เพราะมีค่าเสื่อมราคาที่เป็น Non-cash ซึ่งการตั้งโรงงานใหม่ๆ ค่าเสื่อมราคาจะสูง และ Net Profit จะน้อยลงอยู่แล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าเราอ่อนแอให้ดูกระแสเงินสด ถ้าเรายังมีกระแสเงินสดที่เข้มแข็งเราก็สามารถลงทุนได้ ลดหนี้ได้ จ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นได้จึงไม่ต้องกังวล เพราะเราจะดูแลความเข้มแข็งของกระแสเงินสดอย่างต่อเนื่อง” นายธรรมศักดิ์กล่าว
ทั้งนี้ เอสซีจี มุ่งสร้างสุขภาพองค์กรให้แข็งแรง ด้วยการรักษากระแสเงินสด ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการบริหารธุรกิจ ที่ผ่านมาได้เดินหน้ามาตรการเสริมความเข้มแข็ง ประกอบด้วย 1.) บริหารจัดการเงินทุนหมุนเวียน ลดลงประมาณ 6,200 ล้านบาทจากปีก่อน 2.) ปรับโครงสร้างการดำเนินงานและธุรกิจ และหยุดธุรกิจที่ไม่ทำกำไรในปี 2567 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน 3.) ควบคุมเงินลงทุน (CAPEX) เน้นเฉพาะโครงการที่มีผลตอบแทนสูงและเร็ว ทั้งหมดนี้ ส่งผลให้หนี้สินสุทธิลดลง 16,777 ล้านบาท จากไตรมาสก่อน อัตราหนี้สินสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นเท่ากับ 0.7 เท่า สถานะทางการเงินยังมั่นคงและแข็งแกร่ง โดยมีเงินสดคงเหลือ ณ สิ้นปี 53,331 ล้านบาท


สำหรับการดำเนินงานแบ่งตามธุรกิจหลัก ประกอบด้วย
เอสซีจี เคมิคอลส์ (เอสซีจีซี) ขาดทุน 7,990 ล้านบาท จากผลกระทบของโรงงาน LSP และการแข่งขันในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในภูมิภาคมีการแข่งขันรุนแรงมากขึ้นจากกำลังการผลิตใหม่ๆ ที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ความต้องการสินค้าอ่อนตัวจากเศรษฐกิจจีนชะลอตัว ในปี 2568 วัฏจักรปิโตรเคมีเริ่มทรงตัว ราคาน้ำมันมีแนวโน้มลดลง บริษัทคงเดินหน้าเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการกระแสเงินสดและต้นทุน ล่าสุด เอสซีจีซี เร่งเดินหน้าโครงการ LSP ด้วยการเพิ่มวัตถุดิบก๊าซอีเทน ที่ช่วยลดต้นทุนและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันระยะยาว

เอสซีจี ซีเมนต์แอนด์กรีนโซลูชันส์ มีรายได้จากการขาย 81,891 ล้านบาท ลดลง 5% จากปีก่อน เนื่องจากความต้องการสินค้าที่ลดลงจากภาคครัวเรือน และการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐที่ล่าช้าจากปีก่อน มีกำไร 2,428 ล้านบาท จากการบริหารต้นทุนพลังงานและการผลิตที่มีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกัน เอสซีจี ซีเมนต์แอนด์กรีนโซลูชันส์ จะรุกขยายตลาดส่งออกซีเมนต์คาร์บอนต่ำ ไปในตลาดใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพ เช่น อเมริกาเหนือ ออสเตรเลีย โดยตั้งเป้าเพิ่มยอดส่งออกเป็น 1 ล้านตัน ในปี 2568
เอสซีจี สมาร์ทลีฟวิง และเอสซีจี ดิสทริบิวชั่นแอนด์รีเทล รายได้จากการขาย 140,165 ล้านบาท ลดลง 8% จากปีก่อน เนื่องจากความต้องการตลาดฟื้นตัวช้า หลักๆ จากภาคครัวเรือน มีกำไรสำหรับปีอยู่ที่ 1,087 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 177 ล้านบาทจากปีก่อน จากการบริหารจัดการต้นทุนมีประสิทธิภาพและส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมที่เพิ่มขึ้น ในปี 2568 เอสซีจี สมาร์ทลีฟวิง จะเร่งผลักดันกลุ่มสินค้าสมาร์ทโซลูชัน อาทิ สินค้า Air Quality และ Solar จากแบรนด์ ONNEX by SCG Smart Living ตอบโจทย์การอยู่อาศัยทั้งเรื่องคุณภาพอากาศในบ้าน และประหยัดค่าใช้จ่ายจากการใช้พลังงานสะอาด พร้อมออกสินค้ากลุ่มราคาย่อมเยาต่อเนื่อง เพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภคที่มีงบประมาณจำกัด ครบทั้งกลุ่มหลังคา บอร์ด ไม้สังเคราะห์ และผนังพื้นตกแต่งภายนอกบ้าน ขณะที่เอสซีจี ดิสทริบิวชั่นแอนด์รีเทล จะเร่งขยายโมเดิร์นเทรดวัสดุก่อสร้างและสินค้าเพื่อที่อยู่อาศัย ‘Mitra 10’ ที่อินโดนีเซีย ตามเป้าหมาย 56 สาขา ในปี 2567 รับลูกค้ารวมมากกว่า 1 ล้านคนต่อเดือน และมุ่งสู่ 100 สาขาภายในปี 2573




เอสซีจี แพคเกจจิ้ง ปี 2567 รายได้จากการขาย 132,784 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% จากปีก่อน กำไร 3,699 ล้านบาท ลดลง 30% จากปีก่อน ในปี 2568 จะเร่งส่งออกบรรจุภัณฑ์พอลิเมอร์ บรรจุภัณฑ์อาหาร และกระดาษพิมพ์เขียนที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง
เอสซีจี เดคคอร์ ปี 2567 มีรายได้จากการขาย 25,563 ล้านบาท ลดลง 10% จากปีก่อน 810 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 40% ปี 2568 ตั้งเป้าส่งออกกระเบื้อง X- PORCELAIN ความแข็งแรงสูงเติบโต 2 เท่า หลังจากได้รับผลตอบรับที่ดี

เอสซีจี คลีนเนอร์ยี่ ในปี 2567 มีโครงการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ รวม 548 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 21.5% ตั้งเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตพลังไฟฟ้าสะอาดรวมประมาณ 3,500 เมกะวัตต์ ในปี 2573
ในปี 2568 เอสซีจีจะยังมุ่งเน้นการลดต้นทุน ขยายตลาดใหม่ และเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน โดยมีการลงทุนในพลังงานสะอาดและผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก นอกจากนี้ การเร่งโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐและการฟื้นตัวของตลาดอาเซียนจะเป็นปัจจัยสำคัญในการสนับสนุนการเติบโตของบริษัท