คิกออฟเปิดงาน “มหกรรมสุขเต็มสิบ” เพื่อเฉลิมฉลองการเปิดสะพานทศมราชัน วันแรก (วันที่ 10 มกราคม 2568 ตั้งแต่เวลา 16.00-22.00 น.) ไปจนถึง 19 มกราคม 2568 สำหรับงานมหกรรมสุขเต็มสิบ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กระทรวงคมนาคม ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและภาคเอกชน จัดขึ้นเพื่อเชิญชวนประชาชนคนไทยร่วมเฉลิมฉลองการเปิดสะพานทศมราชัน หรือสะพานพระราม 10 สะพานขึงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาคู่ขนานกับสะพานพระราม 9 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทางด่วนสายใหม่พระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก โดยเมื่อในวันที่ 14 ธันวาคม 2567 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดสะพานทศมราชัน และคาดว่าจะเปิดใช้สะพานได้จริงๆ ในช่วงปลายเดือนมกราคม 2568
สะพานทศมราชัน (ทด-สะ-มะ-รา-ชัน) ซึ่งหมายถึง พระมหากษัตริย์ลำดับที่ 10 เป็นส่วนหนึ่ง(สัญญาที่ 4 ) ของทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก ออกแบบโดยบริษัท เอพซิลอน จำกัด ก่อสร้างโดยบริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) วงเงิน 6,636 ล้านบาท เป็นสะพานขึงเสาคู่ (Double-Pylon Cable-Stayed Bridge) แบบไม่มีเสาอยู่ในลำน้ำเจ้าพระยาแห่งแรกของประเทศไทย ความยาวสะพาน 781.2 เมตร ความกว้างประมาณ 42 เมตร ออกแบบด้วยเทคโนโลยีการก่อสร้างขั้นสูงรองรับการจราจรได้ถึง 8 ช่องจราจร ถือเป็นสะพานข้ามแม่น้ำที่กว้างที่สุดในประเทศไทย มีโครงสร้างที่แข็งแรงรองรับแรงลมได้ถึง 270 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
กระทรวงคมนาคม โดยการทางพิเศษแห่งประเทศไทยได้นำแนวคิดในการออกแบบสถาปัตยกรรมสะพานเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยองค์ประกอบต่าง ๆ ของสะพานจะสื่อถึงพระองค์ท่าน ดังนี้
-ส่วนยอดของเสาสะพานภายในประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ หมายถึง ฝ่าพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แสดงถึงความโอบอุ้มปกป้อง ให้ความรัก และความห่วงใยต่อพสกนิกร และพสกนิกรต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่เหนือเกล้า
-ตราสัญลักษณ์พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ บนคานสะพาน จำนวน 4 ตำแหน่ง รวมถึงบนป้ายชื่อสะพานอีก 2 ตำแหน่ง
-สายเคเบิล เป็นสีเหลือง เพื่อสื่อถึงวันพระบรมราชสมภพ คือ วันจันทร์
-รูปปั้นพญานาคสีเหลืองทอง อยู่บนโคนเสาสะพานทั้ง 4 ต้น ซึ่งเป็นราศีประจำปีมะโรง ปีพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อถวายอารักขาแด่พระองค์
-รั้วสะพานกันกระโดด ออกแบบให้เป็นลายดอกรวงผึ้ง ซึ่งเป็นต้นไม้ประจำพระองค์
สำหรับสะพานทศมราชันจะเปิดให้ใช้ได้ประมาณปลายเดือนมกราคม ในเบื้องต้นจะเป็นการเชื่อมต่อการเดินทางในช่วงสั้นๆ ได้แก่
-ทิศทางขาเข้ากรุงเทพฯ สามารถใช้ทางขึ้นบริเวณด่านสุขสวัสดิ์ ถนนสุขสวัสดิ์ เพื่อใช้งานสะพาน วิ่งเข้าสู่ทางพิเศษเฉลิมมหานคร มุ่งหน้าบางนา-ดินแดง และทางพิเศษศรีรัช มุ่งหน้าแจ้งวัฒนะ-ถนนพระราม 9 บริเวณทางแยกต่างระดับบางโคล่
-ทิศทางขาออกกรุงเทพฯ สามารถใช้ทางพิเศษเฉลิมมหานครและทางพิเศษศรีรัช ผ่านจุดเชื่อมต่อเข้ามาที่สะพานบริเวณทางแยกต่างระดับบางโคล่ และลงที่ทางลงบริเวณด่านสุขสวัสดิ์ เชื่อมต่อไปยังถนนพระรามที่ 2 และพระประแดงได้
ในวาระแห่งการเฉลิมฉลองภายใต้การจัดงานที่ มหกรรมสุขเต็มสิบ ระหว่าง วันที่ 10-19 มกราคม 2568 ตั้งแต่เวลา 16.00-22.00 น. ของทุกวันจะเปิดให้ประชาชนเข้าชมสะพานทศมราชัน พร้อมถ่ายภาพในมุมมองที่ไม่เคยมีมาก่อนซึ่งเป็นโอกาสพิเศษครั้งแรกและครั้งเดียวที่ได้สัมผัสสะพานแห่งนี้ก่อนเปิดใช้งานจริง พร้อมทั้งเลือกชมสินค้า OTOP จากชุมชน ภายในงานได้รวมร้านค้าจากชุมชนและพันธมิตรกว่า 50 ร้านค้า ให้ผู้ร่วมงานได้เลือกซื้อและสนับสนุนสินค้าไทยและสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการชุมชนอีกด้วย
ไฮไลท์กิจกรรมห้ามพลาดในงาน “มหกรรมสุขเต็มสิบ”
1.เดินชมสะพาน พร้อมถ่ายรูปครั้งประวัติศาสตร์ ถือเป็นโอกาสสุดเอ็กซ์คลูซีฟที่มีครั้งสุดท้ายก่อนเปิดใช้จริง กับการเดินชมสะพานทศมราชันจากมุมมองใหม่ พร้อมสัมผัสความงดงามท่ามกลางวิวแม่น้ำเจ้าพระยาสุดยิ่งใหญ่
2.เก็บโมเมนต์น่ารักกับจุดถ่ายรูป “น้องหมูเด้ง” พิกัดถ่ายภาพเช็กอินที่ออกแบบมาเพื่อเป็นแลนด์มาร์กสุดพิเศษ สำหรับบันทึกและแบ่งปันความทรงจำดี ๆ
3.ช้อปเพลิน เดินอิ่มกับร้านค้าและร้านอาหาร Food Truck ขนทัพสินค้าคุณภาพและร้านอาหารมากมายหลากหลายเมนูจากเจ้าดังและร้านชุมชนกว่า 50 ร้าน ให้ทุกคนได้เดินช้อปเพลิน ๆ และลิ้มลองความอร่อยกันแบบจุใจ โดยไม่ต้องกลัวหิว
4.สุดฟิน! Dinner กลางสะพาน ร่วมสัมผัสประสบการณ์ดินเนอร์สุดพิเศษ พร้อมวิวพระอาทิตย์ตกดินในบรรยากาศสุดโรแมนติกบนสะพาน
5.รับชมกิจกรรมดนตรีและการแสดงจากศิลปินชั้นนำ สนุกสุดมันส์ไปกับการแสดงและการเล่นดนตรีจากศิลปินมากมายตลอดงาน
นอกจากนี้ ในวันที่ 26 มกราคม 2568 ยังมีกิจกรรมเดิน-วิ่ง บันทึกประวัติศาสตร์ สะพานทศมราชัน ๒๕๖๘ ระยะทาง 10 กิโลเมตร เริ่มต้นจากทางขึ้นสะพานทศมราชัน มุ่งหน้าบางโคล่ 2 โดยมี ไฮไลต์สำคัญอยู่ที่กลางสะพานซึ่งประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุให้ผู้เข้าร่วมได้รับพรเสริมสิริมงคล พร้อมดื่มด่ำกับแสงแรกของวันใหม่บนสะพานแห่งนี้ ค่าสมัคร 499 บาท โดยผู้สมัคร 10,010 คนแรก จะได้รับ เสื้อ Finisher พร้อมเหรียญที่ระลึกทันทีหลังเข้าเส้นชัย (ผู้สมัครหลังจาก 10,010 คนแรก จะได้รับของที่ระลึกจัดส่งถึงบ้านทางไปรษณีย์ภายใน 30 วันหลังจบงาน) และ Top 100 คนแรกที่เข้าเส้นชัย (ชาย 100 คน หญิง 100 คน) จะได้รับเหรียญที่ระลึกปี 2530 ซึ่งเป็นปีที่เปิดสะพานพระราม 9
สำหรับผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมเดิน-วิ่ง บันทึกประวัติศาสตร์ สะพานทศมราชัน ๒๕๖๘สามารถลงทะเบียนได้ที่ https://race.thai.run/SukTem10 ตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2568 เวลา 10.10 น.
หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่าจะขึ้นไปชมความงดงามของสะพานต้องไปขึ้นตรงจุดไหน เดินทางอย่างไร ซึ่งการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เน้นย้ำให้เดินทางโดยรถสาธารณะจะสะดวกกว่า เพราะมีข้อจำกัดในเรื่องของจุดจอดรถ
สำหรับทางขึ้นสะพานซึ่งเป็นจุดลงทะเบียนเข้า-ออกงานจะอยู่บริเวณพื้นที่ใต้ทางพิเศษบริเวณทางแยกต่างระดับบางโคล่
พิกัดจุดลงทะเบียน: https://maps.app.goo.gl/jZKxW2fU7TnQhhnW8
การเดินทางด้วยรถสาธารณะ หากเดินทางด้วยแท็กซี่ให้ปักหมุดมาที่จุดลงทะเบียนได้เลย ส่วนรถโดยสารประจำทาง สามารถใช้บริการรถประจำทางสาย 102: ปากน้ำ-สาธุประดิษฐ์, สาย 3-52: เซ็นทรัลพระราม 3-หัวลำโพง และสาย 67: วัดเสมียนนารี-สาธุประดิษฐ์ ลงบริเวณป้ายรถเมล์ใต้ทางด่วนสาธุประดิษฐ์ เดินต่อไปยังจุดลงทะเบียนได้เช่นกัน นอกจากนี้ กทพ. ยังได้เตรียมจุดจอดรถและบริการรถรับ-ส่งเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้เข้าร่วมงาน 3 จุด ได้แก่ ใต้ด่านบางโคล่ 2 รองรับรถยนต์ได้ 70 คัน ใต้สะพานพระราม 9 รองรับรถยนต์ได้ 70 คัน บริเวณจุดลงทะเบียนฝั่งตรงข้าม รองรับรถจักรยานยนต์ได้ 100 คัน ผู้เข้าร่วมงานสามารถใช้บริการ Shuttle Bus ฟรี รับ-ส่งระหว่างจุดจอดรถและพื้นที่จัดงาน โดยมีตารางเวลาดังนี้
รอบรับ: 16.00 / 18.00 / 20.00 น.
รอบส่งกลับ: 17.00 / 19.00 / 21.00 / 23.00 น.
ขอบคุณภาพประกอบจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย