ธนาคารไทยพาณิชย์เปิดผลสำรวจ SCB EIC Real estate survey 2566 จากผู้ตอบแบบสอบถามผ่านช่องทางออนไลน์จำนวน 1,479 ราย สะท้อนให้เห็นว่า ปัจจัยเศรษฐกิจยังคงส่งผลให้การฟื้นตัวของกำลังซื้อในตลาดที่อยู่อาศัยเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยทำเลที่มีความใกล้เมืองเริ่มกลับมามีความสำคัญมากกว่าพื้นที่ใช้สอย จากที่ผู้คนกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติหลังการแพร่ระบาดของ COVID-19
ขณะที่ปัจจัยเศรษฐกิจ ได้แก่ ค่าครองชีพ และภาระหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง รวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้น เป็นแรงกดดันสำคัญต่อกำลังซื้อในตลาดที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ระดับปานกลางลงมา อย่างไรก็ดี ในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า จะมีความต้องการซื้อจากกลุ่มที่มีรายได้ระดับปานกลางลงมา ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 50,000 บาท/เดือน ในสัดส่วนที่มากขึ้นตามเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป และหนุนตลาดที่อยู่อาศัยระดับราคาปานกลางลงมาขยายตัว
แรงหนุนของตลาดที่อยู่อาศัยปี 2566 ส่วนใหญ่จึงยังเป็นความต้องการซื้อจากกลุ่มที่มีรายได้ระดับปานกลางขึ้นไป ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีรายได้มากกว่า 50,000 บาท/เดือน โดยจากความพร้อมในการซื้อที่อยู่อาศัยที่มีราคาสูงขึ้นในทำเลที่สะดวก และมีพื้นที่ใช้สอยที่กว้างขวางมากขึ้น จะหนุนให้ความต้องการที่อยู่อาศัยระดับราคาปานกลางขึ้นไป ทั้งคอนโดและแนวราบให้ขยายตัว
ทั้งนี้ ราคายังคงมีผลต่อการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยมากที่สุด โดยกลุ่มที่ให้ความสำคัญกับราคาเป็นลำดับแรก ครึ่งหนึ่งเป็นกลุ่มที่มีรายได้ระดับปานกลางลงมา สะท้อนว่าตลาดผู้มีรายได้ระดับปานกลางลงมายังต้องให้ความสำคัญกับราคาเป็นเรื่องสำคัญ
ขณะที่ทำเลที่มีความใกล้เมืองเริ่มกลับมามีความสำคัญมากกว่าพื้นที่ใช้สอย จากที่ผู้คนกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติหลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยผู้มีรายได้ระดับปานกลางขึ้นไป มีความพร้อมในการซื้อที่อยู่อาศัยที่มีราคาสูงขึ้นในทำเลที่สะดวก และมีพื้นที่ใช้สอยที่กว้างขวาง และส่วนใหญ่มีงบประมาณไม่เกิน 5 ล้านบาท สะท้อนโอกาสของตลาดคอนโด และทาวน์เฮาส์ ที่จะสามารถตอบโจทย์ด้านทำเลในพื้นที่ใกล้เมืองมากขึ้น
นอกจากนี้ คอนโดราคาไม่เกิน 5 ล้านบาทได้รับความนิยมในการซื้อเพื่อการลงทุน/เก็งกำไร/ปล่อยเช่า ซึ่งมีข้อได้เปรียบด้านทำเล และความสะดวกในการเดินทางเข้าเมือง สอดคล้องกับภาพตลาดเช่าที่อยู่อาศัย โดยคอนโดได้รับความนิยมในการเช่ามากที่สุด และส่วนใหญ่มองหาอัตราค่าเช่าไม่เกิน 20,000 บาท/เดือน
ทําเลกรุงเทพฯ ชั้นกลาง อย่างลาดพร้าว จตุจักร ห้วยขวาง พระราม 9 ได้รับความสนใจมากที่สุด ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความเจริญ สิ่งอํานวยความสะดวกครบครัน และการเดินทางสะดวก ทั้งเพื่อการอยู่อาศัยและการลงทุน รองลงมาคือที่อยู่อาศัยในทําเลกรุงเทพฯ ชั้นในที่มีราคาสูงกว่า
ค่านิยมในการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัย ยังหนุนให้ผู้คนนิยมซื้อที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง อย่างไรก็ตาม งบประมาณที่ไม่เพียงพอสำหรับการซื้อที่อยู่อาศัยยังเป็นข้อจำกัดให้ผู้ที่ต้องการที่อยู่อาศัยเลือกเช่าที่อยู่อาศัยแทนการซื้อ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ระดับปานกลางลงมา รวมถึง Gen Y และ Gen Z มีแผนเช่าที่อยู่อาศัยมากกว่าช่วงอายุอื่น ๆ จากเหตุผลต่าง ๆ เช่น สถานภาพทางการเงินยังไม่พร้อมซื้อที่อยู่อาศัย ต้องย้ายที่อยู่อาศัยตามที่ทำงานใหม่ เป็นต้น
นอกจากนี้ ตลาดที่อยู่อาศัยมือสองยังมีโอกาสขยายตัวต่อเนื่อง จากข้อได้เปรียบด้านราคา และการได้ทำเลที่ต้องการ โดยช่วงอายุที่สนใจที่อยู่อาศัยมือสองมากที่สุด ได้แก่
Gen X อีกทั้ง การประกาศยกเลิกมาตรการผ่อนคลาย LTV ที่มีผลตั้งแต่ต้นปี 2023 อาจส่งผลให้ผู้ลงทุนชะลอซื้อที่อยู่อาศัยเพื่อการลงทุน/เก็งกำไร/ปล่อยเช่า เนื่องจากกำหนดให้ผู้ทำสัญญาสินเชื่อที่อยู่อาศัยหลังที่ 2 ขึ้นไปต้องวางเงินดาวน์ 10-30%
SCB EIC มองว่า ผู้ประกอบการยังเผชิญความท้าทายในการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย จากปัจจัยเศรษฐกิจที่ยังคงกดดันการฟื้นตัวของกำลังซื้อ ต้นทุนการพัฒนาโครงการที่ยังอยู่ในระดับสูง รวมถึงพฤติกรรมของผู้ซื้อที่อยู่อาศัยที่เปลี่ยนแปลงไป โดยแนวทางการปรับกลยุทธ์ของผู้ประกอบการ มีดังนี้
-บริหารจัดการต้นทุนการพัฒนาโครงการ เพื่อรักษาอัตรากําไร โดยต้นทุนการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยที่ยังอยู่ในระดับสูงเป็นแรงกดดันให้ผู้ประกอบการต้องให้ความสําคัญกับการบริหารจัดการต้นทุน เพื่อรักษาอัตรากําไร ทั้งการสร้างความร่วมมือกับผู้รับเหมาก่อสร้าง ในการจัดหาวัสดุก่อสร้าง และแรงงาน รวมถึงการนําเทคโนโลยีการก่อสร้างมาใช้
-เปิดโครงการใหม่อย่างระมัดระวัง เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะ Oversupply โดยความท้าทายต่าง ๆ ทั้งปัจจัยทางเศรษฐกิจ การแข่งขันจากตลาดที่อยู่อาศัยมือสอง รวมถึงการประกาศยกเลิกมาตรการผ่อนคลาย LTV ที่มีผลตั้งแต่ต้นปี 2566 ยังเป็นแรงกดดันต่อกําลังซื้อในตลาดที่อยู่อาศัย และส่งผลให้การเปิดโครงการใหม่ของผู้ประกอบการยังต้องเป็นไปอย่างระมัดระวัง
-เข้าใจ Customer journey ของผู้ซื้อที่อยู่อาศัย ในขั้นตอนต่าง ๆ ทั้งกลุ่ม Real demand และผู้ลงทุนที่มีความแตกต่างกัน เพื่อนํามาสู่การเพิ่มโอกาสในการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย และการให้บริการได้อย่างครบวงจร
Customer journey ในการซื้อที่อยู่อาศัยแต่ละขั้นตอนมีความแตกต่างกัน อย่างการค้นหาข้อมูล พบว่า ช่องทางออนไลน์เป็นช่องทางหลักสำหรับการค้นหาที่อยู่อาศัยและข้อมูลสินเชื่อ ขณะที่การทำประกันที่อยู่อาศัยยังเป็นการติดต่อสาขาธนาคาร หรือบริษัทประกันเป็นหลัก อีกทั้ง ผู้ซื้อที่อยู่อาศัยยังมีความต้องการในการขอสินเชื่อที่แตกต่างกัน เช่น กลุ่มผู้ลงทุนสนใจการผ่อนระยะสั้นไม่เกิน 10 ปี มากกว่ากลุ่ม Real demand
-ให้ความสำคัญกับเทรนด์ ESG ตั้งแต่การก่อสร้าง ไปจนถึงการอยู่อาศัย เช่น ร่วมมือกับผู้รับเหมาก่อสร้างใช้วัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ใช้เทคโนโลยีก่อสร้างเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พัฒนาโครงการที่ตอบโจทย์การประหยัดพลังงาน เป็นต้น
บทวิเคราะห์โดย : เชษฐวัฒก์ ทรงประเสริฐ นักวิเคราะห์ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC)