ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมทั้งเรื่องของภาวะโลกร้อน และฝุ่น PM 2.5 ทำให้ร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ในเวอร์ชั่นล่าสุด ต้องปรับปรุงข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อรองรับเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง โดยการเพิ่มที่ว่างและพื้นที่สีเขียวให้กับเมืองมากยิ่งขึ้น
ในส่วนของการกำหนดพื้นที่ว่างต่อพื้นที่อาคารรวม หรือ OSR ได้มีการปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากผังเมืองรวมกทม.ที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งข้อกำหนด OSR จะช่วยเปิดที่ว่างของอาคาร โดยจะเห็นได้ว่าพื้นที่พาณิชยกรรมในเขตเมืองหลายแห่งได้มีการเปิดพื้นที่ว่างตามข้อกำหนดผังเมือง สามารถนำมาใช้ประโยชน์ เพื่อสาธารณะ เช่น เป็นลานกิจกรรมต่างๆ รวมถึงเป็นพื้นที่สำหรับเปลี่ยนถ่ายการสัญจรต่างๆ
ที่สำคัญการมีพื้นที่ว่างรอบอาคารที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลให้การระบายกาศได้ดียิ่งขึ้น ลดอุณหภูมิในพื้นที่กลางเมือง ที่เรียกว่าปรากฏการณ์ Urban heat Island รวมถึงจะทำให้เกิดการถ่ายเทอากาศได้ดีขึ้นช่วยลดปัญหา PM 2.5 ในพื้นที่เมืองชั้นในได้มากยิ่งขึ้น
ในร่างผังเมืองกทม.ล่าสุดจึงได้มีการปรับค่า OSR เพิ่มขึ้นจากผังกทม.ปัจจุบัน ดังนี้
-ที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย (ย.1 – ย.5) จาก OSR 10-40% ของพื้นที่อาคารรวม เพิ่มเป็น 12.5-50%
-ที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (ย.6 – ย.10) จาก OSR 6.5-8.5 % ของพื้นที่อาคารรวม เพิ่มเป็น 7.5-10%
-ที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก (ย.11 – ย.15) จาก OSR 4-5% ของพื้นที่อาคารรวม เพิ่มเป็น 5-7%
-พาณิชยกรรม (พ.1 – พ.8) จาก OSR 3-10% ของพื้นที่อาคารรวม เพิ่มเป็น 3.5-12.5%
-อุตสาหกรรม (อ.1 และ อ.2) จาก OSR 15-20% ของพื้นที่อาคารรวม เพิ่มเป็น 20-25%
-คลังสินค้า (อ.3) จาก OSR 40% ของพื้นที่อาคารรวม เพิ่มเป็น 50%
-อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม (ก.1) จาก OSR 100% ของพื้นที่อาคารรวม เพิ่มเป็น 125%
-ชนบทและเกษตรกรรม (ก.2 และ ก.3) จาก OSR 40% ของพื้นที่อาคารรวม เพิ่มเป็น 60-80%
ทั้งนี้ที่ดินแต่ละประเภทจะต้องมีอัตราส่วนพื้นที่น้ำซึมผ่านได้ไม่น้อยกว่า 50% ของพื้นที่ว่าง
ในขณะเดียวกันได้มีข้อกำหนดในการเพิ่มพื้นที่สีเขียว เพื่อรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และเป็นไปตามนโยบายของผู้ว่ากทม.ที่ต้องการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้เมือง โดยร่างผังเมืองรวมกทม.เวอร์ชั่นล่าสุดจึงมีข้อกำหนดใหม่เพิ่มขึ้นมาอีก 1 ข้อ ก็คือ ข้อกำหนดอัตราส่วนพื้นที่สีเขียวต่อพื้นที่ดิน หรือ Green Area Ratio: GAR ลงในข้อกำหนดอัตราส่วนพื้นที่ว่างต่อพื้นที่อาคารรวม เป็นการกำหนดให้การใช้ประโยชน์ที่ดินแต่ละประเภทจะต้องจัดให้มีอัตราส่วนของพื้นที่สีเขียวสอดคล้องกับพื้นที่อาคารรวม ยิ่งพัฒนาพื้นที่อาคารมากเท่าไหร่ก็จะต้องมีพื้นที่สีเขียวเพิ่มตามไปด้วย
พื้นที่สีเขียวที่กำหนดใน GAR จะมีทั้งพื้นที่สีเขียวบนพื้นดิน พื้นที่สีเขียวบนผนังอาคาร พื้นที่สีเขียวบนหลังคา เพื่อทำให้เมืองมีพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น ช่วยลดความร้อนในพื้นที่เมือง ช่วยดูดซับคาร์บอน และ PM 2.5 เป็นมาตรการสำหรับการรับมือการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน โดยมีข้อกำหนดดังนี้
-ที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย (ย.1-ย.5) GAR 60%
-ที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (ย.6-ย.10) GAR 50%
-ที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก (ย.11-ย.15) GAR 40%
-พาณิชยกรรม (พ.3-พ.8) GAR 30%
สำหรับพื้นที่สีเขียวแต่ละประเภทจะมีค่าสัมประสิทธิ์ที่แตกต่างกันดังนี้
-พื้นที่สีเขียวบนพื้นดิน ค่าสัมประสิทธิ์เท่ากับ 1
-พื้นที่สีเขียวบนผนังอาคาร ค่าสัมประสิทธิ์เท่ากับ 0.3
-พื้นที่สีเขียวบนหลังคา ค่าสัมประสิทธิ์เท่ากับ 0.5
แน่นอนว่าการเพิ่มพื้นที่ว่างและพื้นที่สีเขียวในอาคารต่างๆ ย่อมส่งผลกระทบต่อต้นทุนการก่อสร้างอยู่บ้างไม่มากก็น้อย แต่แลกกับการมีสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้นก็คือว่าคุ้มค่า ประกอบกับ พฤติกรรมการเลือกซื้อที่อยู่อาศัยของคนรุ่นใหม่ก็พร้อมจะยอมจ่ายเพิ่มถ้าได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีกว่าและยังได้ช่วยรักษ์โลก ก็หวังว่ามาตรการนี้จะช่วยลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมทำให้กทม.น่าอยู่มากขึ้นครับ
อ่านเพิ่มเติม…เปิดร่างผังเมืองกทม.เวอร์ชั่นใหม่ Upgrade 9 โซน รองรับรถไฟฟ้า