ภาวะเงินเฟ้อ ค่าครองชีพพุ่งสูง การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย กระทบต่อกำลังซื้อและความเชื่อมั่นต่อการซื้อที่อยู่อาศัยของกลุ่มผู้บริโภคระดับกลาง-ล่างอย่างหนัก ประกอบกับ ปัญหาห่วงโซ่อุปทานซึ่งมีผลกระทบต่อการส่งมอบบ้าน ทำให้ยอดขายในไตรมาส 3 ปี 2565 ของบริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีฐานที่มั่นอยู่ในตลาดกลาง-ล่าง ตกลงถึง 52% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2564 และ 55% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2565 โดยมียอดขายเพียง 2,858 ล้านบาท ขณะที่ในไตรมาส 2 มียอดขาย 6,342 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม รายได้ซึ่งเกิดจากการโอนบ้าน-คอนโดมิเนียมในไตรมาสที่ 3 ปรับตัวดีขึ้น โดยมีรายได้อยู่ที่ 6,430 ล้านบาท เติบโต 26% จากไตรมาสก่อน หรือเติบโต 8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
“บ้านระดับพรีเมี่ยมมีการเติบโตด้านยอดขายที่ดีขึ้น ขณะที่ระดับกลาง-ล่างได้รับผลกระทบจากปัญหาเงินเฟ้อ การปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ย ความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ทำให้ชะลอการตัดสินใจซื้อออกไปจำนวนมาก แต่มั่นใจว่าในไตรมาสที่ 4 สถานการณ์จะกลับคืนสู่ภาวะปกติได้ เนื่องจากเป็นโอกาสของการซื้อบ้านก่อนที่จะหมดมาตรการผ่อนคลาย LTV และปรับดอกเบี้ยที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า” นายอุเทน โลหชิตพิทักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท พฤกษา โฮลดิ้งกล่าว
สำหรับทิศทางของตลาดอสังหาริมทรัพย์โดยรวมนายอุเทน มองว่า ภาวะเงินเฟ้อ ค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น อัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจของยุโรปและสหรัฐ สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังไม่จบ เป็นปัจจัยลบที่สร้างความผันผวนในตลาดได้ค่อนข้างสูง แต่ถ้ามองเฉพาะในประเทศภาวะเศรษฐกิจของไทยขยายตัวดีขึ้น เนื่องจากค่าเงินบาทที่อ่อนตัว และการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว ขณะที่ความต้องการที่อยู่อาศัยยังคงดีอยู่พอสมควร โดยเฉพาะโครงการที่อยู่อาศัยแนวราบในเซ็กเมนต์พรีเมี่ยม นอกจากนี้มาตรการผ่อนคลาย LTV ที่จะหมดอายุลงในสิ้นปี และการปรับขึ้นดอกเบี้ยจะช่วยกระตุ้นตลาดในไตรมาส 4 ให้ดียิ่งขึ้น
สำหรับผลการดำเนินงาน ในไตรมาส 3 ปี 2565 ของ พฤกษา โฮลดิ้ง มีรายได้รวม 6,832 ล้านบาท เติบโต 27% จากไตรมาสที่ผ่านมา และเติบโต 12% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีกำไรสุทธิที่ 619 ล้านบาท เติบโต 44% จากไตรมาสที่ผ่านมา และเติบโต 87% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีอัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 30.9% และมีอัตราหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อทุนต่ำ (Net Gearing Ratio) ที่ 0.34 เท่า ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสสองที่ 0.39 เท่า ซึ่งเป็นผลจากการเติบโตของทั้ง 2 ธุรกิจหลัก ทั้งอสังหาริมทรัพย์ และ ธุรกิจเฮลท์แคร์
สำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในไตรมาส 3 ทำรายได้ 6,430 ล้านบาท เติบโต 26% จากไตรมาสก่อน หรือเติบโต 8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากความต้องการที่สูงขึ้นของโครงการแนวราบในเซ็กเมนต์พรีเมี่ยม และรายได้จากการโอนคอนโดมิเนียม 3 โครงการในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา โดยยอดขายรอโอน (Backlog) เตรียมแปลงเป็นรายได้ในอนาคต ที่ราว 13,300 ล้านบาท โดยกว่า 50% จะเป็นรายได้ในไตรมาส 4 ซึ่งจะมีการส่งมอบคอนโดมิเนียมอีก 4 โครงการ มูลค่ารวมประมาณ 6,300 ล้านบาท และ มีแผนเปิดโครงการใหม่ในไตรมาส 4 รวม 7,800 ล้านบาท ได้แก่ ทาวน์เฮาส์ 7 โครงการ มูลค่า 3,600 ล้านบาท บ้านเดี่ยว 3 โครงการ มูลค่า 2,700 ล้านบาท และ คอนโดมิเนียม 1 โครงการ มูลค่า 1,500 ล้านบาท
ขณะที่ธุรกิจด้านสุขภาพ (Healthcare Business) ในไตรมาส 3 มีรายได้ 330 ล้านบาท เติบโต 63% จากไตรมาสก่อน หรือเติบโต 276% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สร้างรายได้จากบริการทางการแพทย์ในกลุ่มโรคที่ไม่เกี่ยวกับโควิดได้สูงสุดเป็น New High นับจากเริ่มดำเนินกิจการเมื่อปีที่ผ่านมา และมีการขยายบริการไปยังกลุ่มคนไข้ใหม่ และจากการจัดตั้งแผนกให้บริการผู้ป่วยต่างชาติโดยเฉพาะ ทำให้มีสัดส่วนคนไข้ต่างชาติที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 23% ในขณะที่ทิศทางธุรกิจในอนาคต โรงพยาบาลวิมุตมีแผนเพิ่มเตียงสำหรับผู้ป่วยจาก 100 เตียง เป็น 125 เตียงภายในสิ้นปี 2565 เพื่อรองรับความต้องการที่มากขึ้น
ด้านการลงทุนในธุรกิจใหม่ เพื่อต่อยอดพันธกิจด้านนวัตกรรม ทางบริษัทได้มีการร่วมลงทุนกับ Pathology Asia Holdings ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำให้บริการด้านการวินิจฉัยทางการแพทย์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีแผนการนำโนฮาวด้านการวินิจฉัยทางการแพทย์ Genomics และระบบการบริหารแล็ปที่ทันสมัย มุ่งขยายกิจการในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นการนำนวัตกรรมด้านการแพทย์ระดับโลกมาสนับสนุนและเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการด้านสุขภาพของกลุ่มธุรกิจเฮลท์แคร์
นอกจากธุรกิจด้านสุขภาพ พฤกษา โฮลดิ้ง ยังเล็งเห็นศักยภาพการเติบโตของธุรกิจโซเชียล คอมเมิร์ส จึงได้ลงทุนในสตาร์ทอัพ PUNDAI – ปันได้ เครื่องมือ Affiliate Marketing Network ช่วยขายออนไลน์ ที่มาพร้อมฟังก์ชัน การใช้งานที่ง่าย ครบ จบในที่เดียว เป็นเครื่องมือช่วยตอบโจทย์การขายผ่านทุกช่องทางออนไลน์ ให้กับผู้ประกอบการและบุคคลทั่วไปให้เติบโตในโลกอีคอมเมิร์ซและเป็นฟันเฟืองสำคัญในการช่วยสร้างงานสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลได้อีกทางหนึ่ง