กูรูระดับโลกมารวมตัวกันในงาน ‘Metaverse Unlimited’ ฟอรั่มออนไลน์ด้าน Metaverse ระดับโลกครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 15-16 ธันวาคมที่ผ่านมา โดย Translucia Metaverse บริษัท ทีแอนด์บี มีเดีย โกลบอล (ประเทศไทย) จำกัด พร้อมกับร่วมแบ่งปันความรู้ ประสบการณ์และโครงการวิจัยต่างๆ ที่มุ่งขับเคลื่อนอาณาจักรโลกเสมือนให้มาบรรจบกับโลกแห่งความเป็นจริงเพื่อทำให้โลกพัฒนาในทิศทางที่ดีขึ้น
เชื่อมต่อโลกเสมือนสู่โลกแห่งความเป็นจริง
เริ่มต้นที่ พัทน์ ภัทรนุธาพร ผู้ช่วยนักวิจัยและนวัตกรชาวไทยจากสถาบัน MIT Media Lab ระบุว่า ทิศทางการพัฒนาของ Metaverse กำลังก้าวไปสู่จุดที่สามารถประมวลผล ระบุปัญหา หาทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ตลอดจนทำการผลิตสิ่งที่บริโภคได้จริงในโลกความเป็นจริงได้ในอุปกรณ์ชิ้นเดียว
พัทน์ ได้ยกตัวอย่างงานเทคโนโลยีชีวภาพของสถาบัน MIT Media Lab ที่อยู่ระหว่างการวิจัยขณะนี้ว่า เป็นอุปกรณ์อัจฉริยะใช้สวมใส่เพื่อแก้ปัญหาสุขภาพได้อย่างครบวงจร โดยอุปกรณ์นี้เรียกว่า wisdom device สามารถตรวจจับความเจ็บป่วย บ่งชี้การทำงานที่ผิดปกติของอวัยวะต่างๆ ในร่างกายของผู้สวมอุปกรณ์ได้อย่างแม่นยำ สามารถวินิจฉัยโรคพร้อมผลิตยาขึ้นมารักษาอาการดังกล่าวได้ด้วยตัวเอง
พัทน์ ยังกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ในโลกเสมือน ซึ่งสามารถใช้ปฏิวัติระบบการศึกษาได้ ยกตัวอย่างเช่นการใช้ AI สร้างคาแรคเตอร์ในโลกเสมือนเป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ อย่าง อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ หรือตัวละครดังอย่างแฮรี่ พ็อตเตอร์ เป็นครูสอนหนังสือให้กับเด็กๆ แทนที่การใช้ครูจริง “วิธีนี้จะช่วย “เพิ่มแรงจูงใจในการเรียนรู้ออนไลน์” เพราะนักเรียนมีความรู้สึกเชื่อมโยงกับคาแรคเตอร์เหล่านี้
เทคโนโลยี่เสมือนจริงสร้างการเรียนรู้ทางสังคม
ด้าน เจเรมี ไบเลนซัน ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการ Virtual Human Interaction มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด กล่าวเสริมว่า VR ส่งผลดีต่อการพัฒนาเชิงสังคมได้จริง โดยเขายกตัวอย่างการศึกษาของสถาบัน ซึ่งทำการวิจัยโดยให้นักเรียนได้มีปฏิสัมพันธ์กับอวตารของตนเอง ซึ่งอวตารนี้มีวัย เพศ และเชื้อชาติที่ต่างจากตัวตนที่แท้จริง ผลจากการศึกษาพบว่าประสบการณ์นี้ช่วยให้นักเรียนมีความเห็นอกเห็นใจคนที่มีภูมิหลังต่างจากตนเองมากขึ้น
นอกจากนี้ เทคโนโลยี VR ยังช่วยกระตุ้นสำนึกคนให้ร่วมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและใส่ใจปรับปรุงความรู้พื้นฐานที่จำเป็นของตนเองมากขึ้น เพราะ ในโลกเสมือนจริง คนสามารถลงมือทำสิ่งต่างๆ เรียนรู้ประสบการณ์บางอย่างที่ในโลกความจริงคนเราไม่สามารถทำได้
“เทคโนโลยีนี้จะช่วยเปลี่ยนมุมมองที่คุณมีต่อผู้อื่น และเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้คุณเห็นโลกในมุมมองใหม่ได้”
ขณะที่ เดวิด เบร ผู้บริหารสูงสุด องค์กร LeadDoAdapt Ventures และผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบัน Stimson Center และ Atlantic Council ชี้ว่า เทคโนโลยี Metaverse สามารถนำมาประยุกต์ใช้เป็นเครื่องมือในการส่งเสริมสันติภาพและแก้ปัญหาสังคมโดยการเปิดโอกาสให้ผู้ที่อยู่อาศัยในอีกมุมโลกได้ออกเดินทางทำความรู้จักผู้คนต่างถิ่น ต่างวัฒนธรรมทั่วทุกมุมโลกและสามารถมีส่วนร่วมกับพลเมืองท้องถิ่นนั้นๆ ในโลกเสมือนจริงได้โดยไม่ต้องเดินทางไปด้วยตนเอง
เดวิด ย้ำว่า ประสบการณ์เสมือนจริงที่คนได้รับจากโลก Metaverse นี้จะช่วยให้ผู้คนตระหนักรู้ถึงปัญหาข้อขัดแย้ง ความเหลื่อมล้ำ และอคติที่ผู้คนในประเทศเหล่านั้นกำลังเผชิญอยู่ ทำให้มีความเข้าใจกันมากขึ้น
โอกาสใหม่สร้างแบรนด์ ทำการตลาดบน Metaverse
ขณะเดียวกัน วิทยากรเจ้าของฉายา เจ้าแม่โลกเสมือนจริง (Godmother of Metaverse) ในวงการแบรนด์ดิ้งระดับโลก เคธี่ แฮ็กเคิล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานบริหารเมตาเวิส เดอะ ฟิวเจอร์ส อินเทลลิเจนท์กรุ๊ป (The Futures Intelligent Group) ให้นิยาม “Metaverse” ว่า เป็นที่หลอมรวมโลกดิจิทัลกับโลกจริงเข้าไว้ด้วยกัน เป็นที่ที่ทุกสิ่งเป็นไปได้และให้โอกาสไม่มีที่สิ้นสุด
เคธี่ กล่าวว่า Metaverse เป็นโลกใบใหม่ที่เกิดจากการผสานเทคโนโลยีหลากแขนงเข้าไว้ด้วยกัน อาทิเช่น AR, VR, Blockchain, non-fungible tokens (NFT) เป็นต้น ทำให้จักรวาลโลกเสมือนนี้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ในหลายรูปแบบ ไม่ใช่แค่เกมออนไลน์แต่ยังใช้ในอุตสาหกรรมความบันเทิงรูปแบบอื่นๆ รวมถึงการสร้างแบรนด์ การตลาด ให้ก้าวข้ามขีดจำกัดของโลกความจริงได้
Metaverse กับการมีส่วนร่วมของทุกๆ คน
เคธี่มองว่า Metaverse ควรเป็นโลกที่ทุกคนมีส่วนร่วมสร้าง พัฒนาและนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ
“ที่นี่มันไม่ได้มีแค่เทคโนโลยีเดียวและไม่ใช่แค่บริษัทเดียว ในโลกเสมือนนี้ไม่มีใครควรต้องถูกทิ้งไว้ข้างหลัง และในจักรวาล Metaverse พวกเราทุกคนคือผู้ร่วมสรรค์สร้าง”
ขณะเดียวกัน อัลเลน เชสไน ผู้เชี่ยวชาญด้านวิเคราะห์ข้อมูลและงานคอมพิวเตอร์กราฟิก ผู้อยู่เบื้องหลัง Maya 3D ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ใช้สร้างฉากในหนังดัง “Avatar” ระบุว่า Metaverse ไม่ใช่สิ่งใหม่ แท้จริงแล้วมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้ทำการวิจัย พัฒนาเทคโนโลยีนี้มานานกว่า 5 ทศวรรษแล้ว แต่มาเริ่มเป็นที่รู้จักแพร่หลายจากการพัฒนาขึ้นเป็นเกมออนไลน์ ซึ่งเปิดโอกาสให้เกมเมอร์สร้างอวตารของตนเองได้ในโลกเสมือนจริงจึงได้รับความนิยมอย่างสูง จนมีการพัฒนาไปสู่แพลตฟอร์มต่างๆ รวมถึงสร้างชุดอุปกรณ์ล้ำสมัยขึ้นมารองรับความต้องการ
อัลเลน เสริมว่า ทุกวันนี้ จักรวาลโลกเสมือนได้วิวัฒนาการมาถึงจุดที่ทุกคนต่างต้องมีส่วนเกี่ยวข้องไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ด้วยเหตุนี้ ผู้เล่นรายใหญ่ๆ ในวงการเทคโนโลยี จึงควรยอมรับมาตรฐานการจัดการคอนเทนต์และการใช้งานร่วมกัน
เรียนรู้สถาปัตย์ ส่งต่อวัฒนธรรมผ่านโลกเสมือน
“ในวงการสถาปัตยกรรมก็มีการนำเทคโนโลยีโลกเสมือนมาใช้ในการออกแบบเช่นกัน โดยไม่เพียงแค่ตอบโจทย์เรื่องความสวยงามสนองความต้องการของผู้อยู่ได้ตรงตามความต้องการเท่านั้น ยังช่วยคงคุณค่าเชิงวัฒนธรรมได้อีกด้วย” เศณวี ชาตะเมธีวงศ์ ผู้ก่อตั้ง DesireSynthesis สตูดิโอออกแบบสถาปัตยกรรม กล่าว
เศณวี กล่าวอีกว่า การสร้างงานออกแบบในโลกเสมือนจริงช่วยให้ผู้อยู่อาศัยสามารถเข้ามีส่วนร่วมในการออกแบบบ้านของตนเองได้อย่างแท้จริงและมีความเข้าใจที่ถูกต้องผ่านประสบการณ์ที่ได้รับในโลกเสมือน อีกทั้งยังช่วยให้คนทำงานมีความเข้าใจตรงกันตลอดทั้งกระบวนการตั้งแต่ผู้ออกแบบ ผู้ก่อสร้าง ผู้อยู่อาศัย จึงลดโอกาสที่จะเกิดปัญหาและความสูญเสียได้อย่างมีนัยยะสำคัญ
นอกจากนี้ เทคโนโลยีนี้ยังช่วยให้เขาสร้างผลงานออกแบบที่ผสมผสานองค์ประกอบของสถาปัตยกรรมไทยเดิมให้เข้ากับงานแนวโมเดิร์นได้อย่างลงตัว เขามองว่าในอนาคต คนไทยจะสามารถเก็บรักษามรดกงานฝีมือแบบไทยเดิมไว้ในจักรวาลโลกเสมือน ซึ่งจะช่วยให้คนรุ่นต่อไปเข้าใจประวัติศาสตร์วัฒนธรรมของไทยได้ดียิ่งขึ้น
เมืองในฝันที่จะกลายเป็นความจริง
ชาเจย์ บูซาน กรรมการบริหาร จากบริษัทออกแบบชื่อดัง Zaha Hadid Architects เสริมว่า การใช้ Metaverse ในงานออกแบบจะแปลงสภาพเมืองใหญ่ที่แออัดด้วยรถราและเครื่องจักรให้กลายเป็นเมืองที่เป็นมิตรกับผู้คนได้ สร้างชุมชนเมืองให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และประชากรจำนวนมากสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ชาเจย์ เสนอไอเดียว่า นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์สามารถใช้ประโยชน์จากชุมชนเกมออนไลน์ที่มีคนอยู่ร่วม 3 พันล้านคนให้เข้ามีส่วนร่วมแบ่งปันความคิดและมุมมองเกี่ยวเมืองที่น่าอยู่สำหรับผู้คนควรมีองค์ประกอบอย่างไรบ้าง เขาย้ำว่าวิธีการนี้จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการออกแบบสถาปัตยกรรมอย่างมีความรับผิดชอบอีกด้วย
Metaverse ด้านมืด การสร้างอคติเชิงลบที่ต้องระวัง!
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้การพัฒนาเทคโนโลยีสุดล้ำจะนำมาซึ่งคุณประโยชน์มหาศาล ผู้ใช้งานควรใช้งานอย่างระมัดระวัง และอยู่ภายใต้กรอบกติกาที่ดีงามร่วมกัน มีความรับผิดชอบต่อสังคมเพื่อป้องกันระวังภัยคุกคามจากเทคโนโลยี
ดี.ฟ็อก แฮร์เรล ผู้อำนวยการสถาบัน MIT Center for Advanced Virtuality กล่าวในฟอรั่มว่า เทคโนโลยี AI มีคุณอนันต์และสามารถเป็นภัยคุกคามได้เช่นกัน โดยเขายกตัวอย่างงานวิจัยในสถาบัน เกี่ยวกับอคติของผู้คนในสังคม ทั้งเรื่องเชื้อชาติ สีผิวและเพศ ที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในเกมออนไลน์และโซเชี่ยลมีเดีย
“อคติเชิงลบสามารถแฝงตัวเข้าสู่จักรวาลโลกเสมือนได้ หากผู้ใช้ขาดความระมัดระวัง” ดี.ฟ็อก แฮร์เรล อ้างอิงถึงผลการศึกษาของเขา ซึ่งพบว่า ผู้เล่นเกมออนไลน์สามารถเผยอคติของตนในเรื่องเชื้อชาติและเพศเข้าไปสู่ชุมชนเกมออนไลน์ ส่งผลเสียต่อพัฒนาการของเด็กซึ่งเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ในชุมชนดังกล่าว
แอสลีย์ คาโซแวน กรรมการบริหารของ Responsible AI Institute องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ส่งเสริมการใช้ “AI อย่างมีความรับผิดชอบ” ย้ำประเด็นปัญหาเกี่ยวกับผู้ใช้เทคโนโลยีว่า มีการเผยแพร่อคติเชิงลบเข้าไปสู่โลกเสมือนจริงเช่นกัน อย่างกรณีการใช้เทคโนโลยีเสมือนจริงจำแนกผู้ใช้งานเรื่องรสนิยมทางเพศ สีผิว และตั้งโปรแกรมวิธีการทำงานที่แสดงอคติของตนเอง ส่งผลให้เกิดการปฏิบัติต่อกันอย่างไม่เท่าเทียมผ่านเทคโนโลยี เกิดการจำกัดการเข้าถึงบริการพื้นฐาน รวมถึงมีการสร้างความขัดแย้งด้วย Chatbots ที่ถูกโปรแกรมให้ใช้คำพูดที่แสดงความเกลียดชัง
แอสลีย์ จึงเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันใช้งาน Metaverse อย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมอยู่ร่วมกันภายใต้มาตรฐาน และการกำกับดูแลที่เหมาะสม เพื่อให้แน่ใจว่าจักรวาลโลกเสมือนจะเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยสำหรับผู้ใช้อย่างเท่าเทียมและทั่วถึงกัน
Translucia Metaverse สะพานเชื่อม 2 โลก
ขณะเดียวกัน วิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ จีน ลิม ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท BeingAI และเป็นหนึ่งในผู้สร้างสรรค์หุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ชื่อดัง “โซเฟีย” ระบุว่า ความกังวลเกี่ยวกับหุ่นยนต์ AI ว่าจะเป็นภัยต่อมนุษย์นั้นเป็นเพราะขาดความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับ AI ในทางตรงกันข้าม สิ่งที่ควรคำนึงถึงคือการนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
ด้านดร.การดี เลียวไพโรจน์ ผู้อำนวยการบริหาร ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ บริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า ด้วยองค์ความรู้ที่วิทยากรทุกท่านนำมาร่วมแบ่งปันกันในครั้งนี้พิสูจน์ให้เห็นว่า วิสัยทัศน์ของดร.ชวัลวัฒน์ อริยวรารมย์ ประธานกรรมการบริหารและผู้ก่อตั้งบริษัททีแอนด์บี มีเดีย โกลบอล (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ก่อตั้ง Translucia Metaverse นั้นเป็นจริงได้ โดยดร.ชวัลวัฒน์ ตั้งเป้าสร้างอาณาจักรโลกเสมือนจริงให้เป็นสะพานเชื่อมต่อระหว่างโลกแห่งความจริงและโลกเสมือนจริง เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาการสร้างความสุขอันยั่งยืนด้วยการสร้างสมดุลให้กับสังคมและเศรษฐกิจ
“องค์ความรู้และไอเดียต่างๆ จากงานฟอรั่มนี้ได้ร่วมสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนทั่วโลกเข้าร่วมโครงการ Metaverse ของเรา ที่ Translucia Metaverse แห่งนี้ จินตนาการจะกลายเป็นจริง” ดร.การดี กล่าวสรุปในตอนท้าย