แกรนด์ แอสเสท ออกโรงหนุนการนำเข้าวัคซีนทางเลือก และเห็นด้วยกับแนวทางของ “ชมรมแพทย์ชนบท” ในการหยุดการระบาดโควิดให้ตรงจุด โดยการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าทั้งหมดที่กรุงเทพฯและปริมณฑล เผยแนวโน้มธุรกิจโรงแรมจะฟื้นตัวได้เร็วขึ้นหากควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้
นายวิทวัส วิภากุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า แนวโน้มการติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศ โดยเฉพาะกรุงเทพฯและปริมณฑลยังอยู่ในเกณฑ์สูงมีตัวเลขเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยล่าสุด ศบค.ชะลอการผ่อนคลายเปิดสถานประกอบการ 5 ประเภทออกไปอีก 14 วัน ซึ่งสถานการณ์โดยรวมส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจในเขตกรุงเทพฯรวมถึงธุรกิจโรงแรมต่อไปอีก โดยเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาอัตราการเข้าพักของโรงแรมในเขตกรุงเทพเฉลี่ยลดลงเกือบ 50% เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน
“การระบาดระลอกแรกเมื่อต้นปี 2563 หลังจากที่ควบคุมสถานการณ์ได้ ธุรกิจโรงแรมใช้เวลา 3 เดือนในการฟื้นตัว แต่การระบาดระลอก 2 ปลายปี 2563 ใช้ระยะเวลาฟื้นตัวลดลงเหลือเพียง 1 เดือนเท่านั้น การระบาดระลอก 3 ที่เป็นอยู่ขณะนี้ หากสามารถควบคุมได้ คาดว่าจะใช้เวลา 1 เดือนในการฟื้นตัวเช่นกัน
การเร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมจึงเป็นทางออกเดียวที่จะช่วยฟื้นฟูการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งจากชาวไทยและต่างชาติ ยังส่งผลกระจายไปในหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร ร้านค้า ธุรกิจขนส่ง ตลอดจนช่วยลดปัญหาการว่างงานที่เกิดขึ้นตลอดช่วงการแพร่ระบาด
ในฐานะผู้ประกอบการภาคธุรกิจโรงแรม นอกจากวัคซีนที่ทางรัฐบาลจัดหา ยังขอสนับสนุนการนำเข้าวัคซีนทางเลือกป้องกันโควิด-19 ซึ่งขณะนี้มีความชัดเจนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการที่โรงพยาบาลเอกชนมีการสั่งซื้อวัคซีนโมเดอร์นาเข้ามา หรือราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จะนำเข้าวัคซีนซิโนฟาร์มเข้ามา และจะซื้อขายเฉพาะองค์กรเพื่อฉีดให้กับบุคลากรของตนเอง”
อย่างไรก็ดี การจัดหาวัคซีนทางเลือกยังต้องใช้เวลา จึงเห็นด้วยกับแนวทางของ “ชมรมแพทย์ชนบท” ในการหยุดระบาดโควิดให้ตรงจุด โดยการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าทั้งหมดที่กรุงเทพฯและปริมณฑล เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหลังฉีดแข็มแรก เนื่องจากวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าสามารถทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหลังการฉีดเข็มแรกมากกว่า 80% ขณะที่วัคซีนซิโนแวคต้องรอหลังการฉีดเข็มที่ 2 จึงจะเกิดภูมิในระดับที่ใกล้เคียงกัน
ทั้งนี้ จากการระบาดระลอก 3 ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ถึงวันที่ 30 พฤษภาคม 2564 จำนวนผู้ติดเชื้อที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลสูงสุดของประเทศ คิดเป็น 60% ของทั้งประเทศ การระบาดหนักในกรุงเทพฯยังส่งผลกระทบไปทั่วประเทศ ดังนั้นจึงควรเร่งหยุดการระบาดที่กรุงเทพและปริมณฑล โดยทางเลือกหนึ่งเพื่อยุติการระบาดด้วยข้อจำกัดที่วัคซีนมีน้อย “ชมรมแพทย์ชนบท” จึงมีข้อเสนอให้นำวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าทั้งหมด ที่ผลิตได้จากสยามไบโอไซแอนในเดือนมิถุนายนนี้ ฉีดทั้งหมดที่กรุงเทพและปริมณฑล เพื่อช่วยเร่งลดการระบาดลงให้มาก เพราะวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดในการยุติการระบาดในพื้นที่สีแดง
“กระสุนมีจำกัด หยุดระบาดโควิดให้ตรงจุด ถมวัคซีนแอสตร้าหมดหน้าตักลงที่กรุงเทพและปริมณฑล” คือข้อเสนอของชมรมแพทย์ชนบท ที่กลุ่มบริษัทขอให้การสนับสนุน