8 หน่วยงานร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ภายใต้โครงการความร่วมมือไทย-เยอรมัน ด้านพลังงาน คมนาคม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (TGC EMC) เพื่อร่วมกันสนับสนุนให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศ ความร่วมมือนี้มุ่งที่จะผนึกกำลังทุกหน่วยงานเพื่อให้ประเทศไทยบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนใน พ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2050) และบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ใน พ.ศ. 2608 (ค.ศ. 2065)
โครงการ TGC EMC ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากแผนงานปกป้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับสากล (IKI) ภายใต้กระทรวงเศรษฐกิจและการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMWK) โดยมีองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ร่วมขับเคลื่อนโครงการกับหน่วยงานดำเนินโครงการภาครัฐของประเทศไทย 7 หน่วยงาน ได้แก่ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) สํานักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) สํานักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) สํานักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) สํานักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) และ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ทั้งนี้ การมีหน่วยงานภาคีจากหลายภาคส่วนทำให้ TGC EMC โดดเด่นด้าน “Sector Coupling” โดยแนวทางนี้ไม่ได้เน้นที่ภาคส่วนใดโดยเฉพาะ แต่มองความท้าทายด้านสภาพภูมิอากาศแบบองค์รวมซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือหลายชั้นในลักษณะข้ามภาคส่วนในการแก้ไข
แนวคิด “Sector Coupling” หรือการบูรณาการภาคส่วนสำคัญเพื่อการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน คือหัวใจสำคัญของการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือและการประชุมเชิงปฏิบัติการที่จัดขึ้น โดยหน่วยงานภาคีไม่เพียงแต่ให้คำมั่นที่จะร่วมมือกันเท่านั้น แต่ยังมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกันแบบข้ามภาคส่วนอีกด้วย เพื่อสร้างกรอบความร่วมมือที่ออกแบบสำหรับขับเคลื่อนเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศของไทยให้ก้าวไปข้างหน้า
หลังพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากหลายภาคส่วนได้ศึกษาแนวคิดและความจำเป็นของความร่วมมือข้ามภาคส่วนเพิ่มเติมในการประชุมเชิงปฏิบัติการ “การยกระดับการบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศผ่านการดำเนินงานร่วมกันของภาคพลังงานทดแทน คมนาคมขนส่ง และอุตสาหกรรม (Sector Coupling)” การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ประกอบด้วยการบรรยายที่สร้างแรงบันดาลใจจากผู้เชี่ยวชาญในภาคขนส่ง พลังงานหมุนเวียน ชีวมวล และอุตสาหกรรม รวมทั้งการอภิปรายกลุ่มเพื่อหาแนวทางที่เป็นไปได้ของ Sector Coupling สำหรับประเทศไทย
งานดังกล่าวจัดขึ้นที่ โรงแรมเมอเวนพิค บีดีเอ็มเอส เวลเนส รีสอร์ท กรุงเทพฯ โดยมีผู้เข้าร่วม 150 คน ซึ่งเป็นตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานร่วมดำเนินงาน และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง
ดร.แอ็นสท์ ไรเชิล เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย กล่าวว่า เยอรมนีมีความมุ่งมั่นอย่างยิ่งต่ออนาคตที่เป็นกลางทางคาร์บอนทั้งในประเทศและผ่านความร่วมมือกับภาคีทั่วโลก TGC EMC ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างไทยและเยอรมัน คือตัวอย่างของแนวทางสหวิทยาการที่นำความชำนาญของทั้งสองประเทศมารวมกัน ความร่วมมือข้ามภาคส่วนที่เป็นเอกลักษณ์นี้ทำหน้าที่เป็นต้นแบบของการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศอย่างครอบคลุมในทุกด้านที่สำคัญ ตั้งแต่พลังงานและการขนส่ง ไปจนถึงอุตสาหกรรมและชีวมวล
“โครงการ TGC EMC จัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศผ่านแนวทางการทำงานร่วมกันแบบข้ามภาคส่วน ครอบคลุม และมุ่งเน้นการแก้ปัญหา การบูรณาการที่ครอบคลุมนี้คือกุญแจสำคัญในการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานและการลดการปล่อยคาร์บอนในภาคส่วนที่มีผลกระทบสูงให้ประสบความสำเร็จ เราจะสร้างเสริมศักยภาพสูงสุดเพื่ออนาคตที่สะอาดและยั่งยืนยิ่งขึ้นได้ด้วยการเชื่อมโยงภาคส่วนเหล่านี้เข้าด้วยกันเท่านั้น” ดร. ไรเซิล กล่าว
ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) กล่าวในระหว่างเปิดงานว่า “พิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง 8 หน่วยงานดำเนินโครงการในวันนี้แสดงถึงความมุ่งมั่นของหน่วยงานดำเนินโครงการทั้ง 8 หน่วยงานในการร่วมกันขับเคลื่อนโครงการ TGC EMC ที่สอดคล้องกับเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศไทย งานในวันนี้มีความหมายยิ่งกับ TGC EMC เนื่องจากโครงการนี้ย้ำถึงความสำคัญของการบูรณาการที่ครอบคลุมหลายภาคส่วน หรือ “Sector Coupling” เพื่อสนับสนุนประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนใน ค.ศ. 2050”
ดร.พิรุณ เน้นว่า TGC-EMC กำลังทำงานอย่างแข็งขันในหลายภาคส่วนเพื่อช่วยประเทศไทยพัฒนาแนวทางการแก้ปัญหาด้วยเทคโนโลยีที่สร้างสรรค์ ปรับปรุงนโยบาย รวมทั้งนำร่องและขยายเส้นทางการเปลี่ยนผ่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กองทุนเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ThaiCI) ซึ่งได้รับงบประมาณเฉพาะ 4 ล้านยูโร (ราว 140 ล้านบาท) จะถูกจัดตั้งเป็นทุนเฉพาะด้านสภาพภูมิอากาศภายใต้กองทุนสิ่งแวดล้อม เพื่อให้การสนับสนุนทางการเงินแก่โครงการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับท้องถิ่นของประเทศไทย
“การที่แต่ละภาคส่วนทุ่มเทความพยายามอย่างเต็มที่ในการลดการปล่อยคาร์บอนนั้นไม่ยังเพียงพอ ถึงเวลาแล้วที่เราต้องก้าวข้ามพรมแดนของภาคส่วนเรา และเริ่มเชื่อมโยงประสานกัน การทำงานร่วมกันอย่างแท้จริงแบบบูรณาการเท่านั้นที่จะทำให้เราใช้ศักยภาพให้เต็มที่และบรรลุเป้าหมายได้” ดร.พิรุณ กล่าว
คุณอินซ่า อิลเก้น ผู้อำนวยการโครงการความร่วมมือไทย-เยอรมันด้านพลังงาน คมนาคม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (TCG EMC) กล่าวว่า โครงการ TGC EMC กับหน่วยงานภาคี มีความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนประเทศไทยตลอดระยะเวลา 3 ปีข้างหน้าในการทำงานสร้างความเปลี่ยนแปลง โดยที่โครงการนี้มีความสอดคล้องกับเป้าหมายความเป็นกลางทางสภาพภูมิอากาศภายใน ค.ศ. 2050 ของรัฐบาลไทย
ในระหว่างการบรรยาย คุณอิลเก้นชี้แจงความหมายของธีม “Sector Coupling” ซึ่งเป็นทั้งศูนย์กลางของงานในครั้งนี้และเป็นความพยายามในการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานทั่วโลก “เพื่อสร้างความแตกต่างอย่างแท้จริง เราให้ความสำคัญกับไฟฟ้าและมุ่งเน้นการเพิ่มการผลิตพลังงานหมุนเวียนเพียงแค่นั้นไม่ได้ เราต้องนำมาตรการด้านประสิทธิภาพพลังงานมาใช้และขยายการใช้พลังงานหมุนเวียนในทุกภาคส่วนด้วย นี่คือ Sector Coupling ที่เราหมายถึง” คุณอิลเก้น กล่าว
คำบรรยายของคุณอิลเก้นนั้น ต่อยอดมาจากปาฐกถาผ่านวิดีโอของคุณฟิลิป เบห์เรนส์ จาก กระทรวงเศรษฐกิจและการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMWK) ซึ่งเน้นย้ำถึงพันธสัญญาและการสนับสนุนที่ไม่หยุดยั้งของกระทรวงฯ ต่อความร่วมมือระหว่างไทยกับเยอรมนีด้านพลังงาน คมนาคม และสภาพภูมิอากาศระหว่างไทย ทั้งนี้ คุณเบห์เรนส์ยังได้ให้ข้อมูลเชิงลึกที่มีประโยชน์เกี่ยวกับ Sector Coupling ในฐานะองค์ประกอบสำคัญในการผลักดันการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานอย่างยั่งยืนอีกด้วย.