fbpx
ts

ทีเส็บ ชวน ‘วู้ดดี้+ดร.วิทย์’ เสวนา “MICE สร้างงาน สร้างเมืองฯ”

ทีเส็บ จัดเสวนาพิเศษหัวข้อ “MICE สร้างงาน สร้างเมือง ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่สากล” เปิดเวทีบอกเล่าแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์การจัดงาน อนาคตของไมซ์ทั้งด้านการสร้างงานและการสร้างรายได้เข้าประเทศจากการดึงงานใหญ่ๆ มาจัดในไทย และปัจจัยที่จะทำให้ไทยเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวไมซ์

ts

 ‘เฮียวิทย์ 8 Minute History’ เปิดเวทีเล่าประวัติศาสตร์ของไมซ์ใน 8 นาที ตั้งแต่จุดเริ่มต้นที่การประชุมใหญ่แห่งเวียนนา ปี 2357 ไปจนถึงการประชุมและการจัดแสดงสินค้าต่างๆ ในยุโรป ขณะที่ประเทศไทยเริ่มมีการประชุมในรูปแบบไมซ์ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 กระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 4 ไทยจึงได้ไปร่วมงานเอ็กซ์โปที่ยุโรปเป็นครั้งแรก ขณะที่สมัยรัชกาลที่ 5 บ้านเมืองพัฒนาไปอย่างรุดหน้าเพื่อให้มีความทัดเทียมกับอารยประเทศ จนสามารถผ่านยุคล่าอาณานิคมมาได้ และมีการจัดงานเอ็กซ์โปครั้งแรกในงานสมโภชพระนคร 100 ปี เมื่อปี 2425 มาถึงปัจจุบัน ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดงานใหญ่ๆ ระดับนานาชาติมากมาย ไม่ว่าจะเป็นงานเวิลด์แบงก์ การประชุมเอเปค มหกรรมพืชสวนโลก มหกรรมยานยนต์ หรืองานแข่งรถจักรยานยนต์ทางเรียบ โมโตจีพี ฯลฯ ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีความพร้อมในการต้อนรับการประชุมระดับโลก และการรับรองบุคคลสำคัญของโลก ซึ่งไม่ใช่ทุกประเทศจะมีความพร้อมเช่นนี้ 

 นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการทีเส็บ กล่าวว่า ทีเส็บเป็นหน่วยงานพิเศษโดยภาครัฐ ก่อตั้งมาแล้ว 22 ปี หลังสถานการณ์โควิด ทิศทางการทำงานก็ปรับเปลี่ยนไป ทีเส็บเล็งเห็นว่าประเทศไทยมีความพร้อมมากกว่าการจัดประชุม เนื่องจากนักท่องเที่ยวไมซ์ไม่ได้มาประชุมอย่างเดียว แต่มีการใช้จ่ายรวมมากกว่านักท่องเที่ยวทั่วไปถึง 3.5 เท่า รัฐบาลจึงเปลี่ยนบทบาทให้เป็น Bid Agent ดึงงานใหญ่ๆ เข้ามาจัดในประเทศไทย ทีเส็บจึงมองเรื่องแฟนเบส (Fanbase) ซึ่งมีความหลากหลายและมีรายละเอียดมาก เช่น งาน Money 20/20 มหกรรมเทคโนโลยีด้านการเงิน (FinTech) หรืองานประชุมทางการแพทย์สายต่างๆ รวมถึงงานแข่งรถฟอร์มูลาวัน 2027 ซึ่งประเทศไทยยังมีโอกาสที่จะได้เป็นเจ้าภาพ หากได้จัดงานนี้ เราจะได้ถนนที่ดีมาก เกิดเป็น City Change มีการพัฒนาทักษะด้านต่างๆ มีการจ้างงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านรายได้ พร้อมยกตัวอย่างค่าโรงแรมในช่วงที่สิงคโปร์จัดงาน F1 ว่ามีราคาสูงกว่าปกติถึง 3 เท่า ขณะเดียวกัน ทีเส็บยังคงเดินหน้าขยายพื้นที่จัดงานเมกะอีเวนต์ในต่างจังหวัด ได้แก่ งาน Diamond of the Salt Festival ที่เพชรบุรี, งาน Korat Clay Craft Creation 2024 ที่นครราชสีมา รวมถึงมหกรรมพืชสวนโลก 2026 ที่อุดรธานี และ 2029 ที่นครราชสีมา

ts

 วู้ดดี้-วุฒิธร มิลินทจินดา ผู้ริเริ่มจัดงาน S2O เทศกาลดนตรีสาดน้ำช่วงสงกรานต์ ซึ่งถือเป็นอีเวนต์ต้นตำรับสัญชาติไทย จนต่อยอดเป็นงาน EDM Festival ที่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางไปทั่วโลก เล่าถึงแรงบันดาลใจจากการไปเที่ยวงาน Tomorrowlandเทศกาลดนตรี EDM ที่ใหญ่ที่สุดในโลกเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว เลยคิดถึงความสนุกสนานของเทศกาลสงกรานต์ของไทยที่น่าจะไปด้วยกันได้กับเทศกาลดนตรี จึงเป็นที่มาของงาน S20ที่สามารถดึงทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติมาร่วมงานเพิ่มขึ้นๆ ในทุกปี และจากประสบการณ์ด้านการจัดงานเฟสติวัล วู้ดดี้มองว่าเทรนด์ของงานจะเริ่มเป็นกลุ่ม Niche มากขึ้น คือเป็นกลุ่มที่มีความสนใจเฉพาะทาง เช่น กลุ่ม LGBTQ+ ซึ่งปีนี้ประเทศไทยได้จัดเดินพาเหรดไปแล้วอย่างยิ่งใหญ่เมื่อเดือนมิถุนายน แต่ปีหน้าเราอาจจัด River Parade LGBTQ+ โดยใช้แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นโลเคชั่นในช่วงต้นเดือนตุลาคม โดยมีเป้าหมายคือกลุ่มนักท่องเที่ยว LGBTQ+ ชาวจีนที่จะได้เดินทางมาเฉลิมฉลองในช่วงวันหยุดยาวของจีน เป็นต้น

ในช่วงท้าย วู้ดดี้ยังกล่าวชื่นชมภาครัฐที่ให้การสนับสนุนผู้จัดงานในรายละเอียดด้านต่างๆ ขณะเดียวกันก็ฝากถึงคนทำงานด้านนี้ว่าถ้ามีความคิดสร้างสรรค์ มีความมุ่งมั่นที่จะสร้างปรากฏการณ์อย่างจริงใจ สามารถอีเมลหาวู้ดดี้และทีเส็บได้เพื่อที่ทุกฝ่ายจะได้ร่วมกันสร้างคอนเทนต์ต่อไป และด้วยความคิดสร้างสรรค์ของคนไทยที่สามารถจัดงานเฟสติวัลทั่วประเทศมามากกว่า 10,000 งานต่อปี เชื่อว่าอีก 10 ปี ประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางของงานเฟสติวัลอย่างแน่นอน ขณะที่ผู้อำนวยการ ทีเส็บ กล่าวทิ้งท้ายว่าพร้อมเดินหน้าสนับสนุนและทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่ความยั่งยืน