fbpx

ก้าวสู่ 23 ปี กรมโยธาธิการและผังเมือง ยึดภารกิจ 4 ด้าน พัฒนาเมืองมั่นคง-ยั่งยืน

กรมโยธาธิการและผังเมืองจัดงานวันคล้ายวันสถาปนากรมโยธาธิการและผังเมือง ครบรอบ 22 ปี สถาปนิกหลวง ช่างของแผ่นดิน ผังเมืองของประชาชน โดยมีว่าที่ร้อยเอก ธีรพงศ์ ครุธดิลกานันท์ รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นประธานในพิธี

ที่ผ่านมากรมโยธาธิการและผังเมืองขับเคลื่อน 4 ภารกิจทั้งการวางผังเมือง การพัฒนาเมือง การอาคาร และการบริการด้านช่าง ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ยังผลให้การวางผังเมืองและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศไทยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการทำงานในภารกิจโครงการพิเศษต่างๆ ยังได้เสริมความเข้มแข็งของชุมชน ทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น กรมโยธาธิการและผังเมืองจะก้าวต่อไปอย่างมั่นคงและยั่งยืน สามารถเป็นองค์กรแกนนำของประเทศในด้านการผังเมือง การพัฒนาเมือง และการอาคาร ให้มีความน่าอยู่ ปลอดภัย รักษาสภาพแวดล้อม ประหยัดพลังงาน มีอัตลักษณ์ และมุ่งมั่นพัฒนาต่อไปเพื่อให้ประเทศไทยก้าวสู่ความยั่งยืนและความเจริญก้าวหน้าในอนาคต เป็นที่พึ่งพาของประชาชน

 
ว่าที่ร้อยเอก ธีรพงศ์ ครุธดิลกานันท์ รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า การก้าวสู่ปีที่ 23 กรมโยธาธิการและผังเมืองขับเคลื่อนภารกิจ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของพี่น้องประชาชน กรมโยธาธิการและผังเมืองได้ปฏิบัติภารกิจในการขับเคลื่อนโครงการต่างๆ ในภารกิจ 4 ด้าน ได้แก่

1. ภารกิจด้านการผังเมือง ดำเนินการตามพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 เพื่อให้การวางและจัดทำผังเมืองในระดับต่างๆ ครอบคลุมทั้งประเทศ โดยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนต้องอยู่บนความตกลงใจของคนในชุมชนในการใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข

2. ภารกิจด้านการพัฒนาเมือง พัฒนาเมืองให้มีความปลอดภัยจากภัยธรรมชาติ มีสภาพแวดล้อมที่ดี มีระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการที่ได้มาตรฐาน โดยมีระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชน ป้องกันการทรุดตัวของตลิ่งริมแม่น้ำ ลำคลอง พัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภค และสาธารณูปการ การจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ โดยมีเป้าหมายผลักดันโครงการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ให้เกิดขึ้นในทุกจังหวัดทั่วประเทศและดำเนินการแก้ไขปัญหาผักตบชวาเพื่อเร่งการระบายน้ำ บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน

3. ภารกิจด้านการอาคาร เพื่อให้อาคาร มั่นคง ปลอดภัย ประหยัดพลังงาน และลดภาวะโลกร้อน โดยการออกกฎหมายควบคุมอาคาร และพัฒนามาตรฐานความปลอดภัยในอาคาร

4. ภารกิจด้านการบริการด้านช่าง ให้บริการด้านการออกแบบอาคาร การให้บริการทดสอบวัสดุ มีการยกระดับหน่วยทดสอบวัสดุเป็นศูนย์ทดสอบวัสดุ และให้คำปรึกษาด้านช่าง โดยมีสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดทั่วประเทศเป็นหน่วยงานให้คำปรึกษาและให้บริการตามภารกิจกรมฯ ให้กับพี่น้องประชาชน

โดยมียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ยุทธศาสตร์กระทรวงมหาดไทย แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และแผนปฏิบัติราชการกรมโยธาธิการและผังเมือง ตลอดจนกฎหมายแม่บทที่สำคัญ ได้แก่ พระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 พระราชบัญญัติการขุดดินและถมดิน พ.ศ. 2543 และพระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ พ.ศ. 2547 เป็นกรอบแนวทางและเครื่องมือในการขับเคลื่อนภารกิจ 4 ด้าน ให้บรรลุผลสัมฤทธิ์และความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งล้วนแต่เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน


 
ปี 2567 กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้รับรางวัล “Special Achievement in GIS (SAG) Award 2024” จากองค์กรเอกชน ประเทศสหรัฐอเมริกา จากการขับเคลื่อนโครงการจัดทำผังภูมิสังคมเพื่อการบริหารจัดการน้ำหมู่บ้าน/ชุมชน แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน (Geo-social Map) และ “รางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2567” ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) ที่ได้คัดเลือกผลงานจากทั้งหมด 1,883 ผลงาน และจำนวนผลงานที่ได้รับรางวัล 229 รางวัล

กรมโยธาธิการและผังเมืองได้รับ 2 รางวัล ได้แก่ 1. รางวัลการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทสัมฤทธิ์ผลประชาชนมีส่วนร่วม (Effective Change) ในระดับดี จากผลงาน “โครงการจัดทำผังภูมิสังคมเพื่อการบริหารจัดการน้ำหมู่บ้าน/ชุมชนแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน (Geo-social Map) จังหวัดสุรินทร์” 

การขับเคลื่อนโครงการจัดทำผังภูมิสังคมเพื่อการบริหารจัดการน้ำหมู่บ้าน/ชุมชน แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน (Geo-social Map) โดยกรมเป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคีเครือข่าย ดำเนินโครงการเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและลดความเสี่ยงจากอุทกภัย ด้วยการน้อมนำศาสตร์พระราชามาเป็นกรอบแนวคิดในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และใช้ข้อมูลสภาพความเป็นจริงทางภูมิประเทศ ทั้ง “ภูมิประเทศด้านภูมิศาสตร์” และ “ภูมิประเทศทางสังคมศาสตร์   ในสังคมวิทยา” มาจัดทำข้อมูลในรูปแบบ “ผังภูมิสังคม” ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้ผังภูมิสังคมฯ เป็นข้อมูลสะท้อนปัญหาด้านต่าง ๆ และความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งหน่วยงานภาครัฐสามารถนำไปใช้วางแผนงานและดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ พร้อมทั้งผลักดันให้มีการขับเคลื่อนโครงการ ในทุกจังหวัดให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ การจัดทำฝายชะลอน้ำ การขุดบ่อน้ำ สระน้ำ คลองไส้ไก่ การปรับปรุงห้วย หนอง คู คลอง เป็นต้น

ซึ่งแต่ละพื้นที่สามารถดำเนินโครงการได้ทันที โดยไม่ใช้งบประมาณหรือ   ใช้งบประมาณไม่มาก ผ่านกลไกความร่วมมือและการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายในการพัฒนา เพื่อบรรเทาและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งของประชาชน และพัฒนาคุณภาพชีวิตนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสู่สิ่งที่ดีในทุกมิติ (Change for Good) และ 2. รางวัลการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทเลื่องลือขยายผล (Participation Expanded) ในระดับดีเด่น จากผลงาน “โครงการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่จังหวัดน่าน” โครงการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ เป็นโครงการที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน รางวัลนี้เป็นเครื่องหมายแห่งความสำเร็จในการสร้าง  การพัฒนาเมืองที่ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนของการพัฒนา ตั้งแต่การวางแผนไปจนถึงการดำเนินการ สำหรับโครงการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่จังหวัดน่าน ดำเนินการรวมทั้งสิ้น 3 ระยะ โดยเป็นโครงการที่ได้รับความร่วมมือทั้งจากหน่วยงานในท้องถิ่น ภาคประชาสังคม และประชาชนในเมืองน่าน และดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยสามารถสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในรูปแบบหุ้นส่วนการพัฒนาที่ดิน   ในเมืองระหว่างภาครัฐและประชาชน ในโครงการระยะที่ 1 และระยะที่ 2 จนสามารถส่งต่อรูปแบบการพัฒนาเมืองสู่สมาคมจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่จังหวัดน่าน ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยประชาชนคนเมืองน่านในพื้นที่ที่จะดำเนินการพัฒนา เพื่อเข้ามามีบทบาทในการดำเนินการพัฒนาที่ดินตาบอดที่สาธารณูปโภคเข้าไม่ถึง ให้สามารถใช้ประโยชน์ได้ตามผังเมืองอย่างเป็นรูปธรรม

โครงการมีการระดมทุนจากกระบวนการจัดรูปที่ดินตามพระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ พ.ศ. 2547 ทำให้สามารถก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำหรับเมืองและที่ดินในบริเวณดำเนินการได้ ทั้งถนนตามผังเมือง ถนนโครงข่ายภายในพื้นที่ ระบบระบายน้ำ ไฟฟ้า ประปา ทำให้พื้นที่โครงการได้รับการพัฒนาโดยไม่ต้องรอภาครัฐ ซึ่งโครงการได้เกิดขึ้นจากการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเมืองภายใต้การมีส่วนร่วมของประชาชน โดยสำนักจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ กรมโยธาธิการและผังเมือง และเป็นตัวอย่างของการสร้างความเติบโตให้กับชุมชนท้องถิ่น และการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน