fbpx
รูปภาพ

กทม. ขีดเส้นตายอาคารชุดย่านจตุจักร เร่งแก้ปัญหาคุณภาพน้ำ

กทม. แจกแจงการเข้าตรวจสอบคุณภาพน้ำในอาคารชุดพื้นที่เขตจตุจักร หลังมีผู้ป่วยเป็นโรคเยื่อตาอักเสบเป็นจำนวนมาก โดยได้ออกหนังสือคำแนะนำให้ปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องไปเมื่อวันที่ 4 ก.ค. 67 และจะลงพื้นที่ตรวจซ้ำในวันที่ 11 ก.ค.นี้ หากยังไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำจะดำเนินคดีกับนิติบุคคลอาคารชุดต่อไป

นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีมีผู้พักอาศัยภายในอาคารชุดแห่งหนึ่งที่อยู่ในพื้นที่เขตจตุจักร เกิดโรคเยื่อบุตาอักเสบจำนวนหลายรายจากการใช้น้ำภายในอาคารชุด โดยกล่าวว่า เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 67 สำนักงานเขตจตุจักรร่วมกับศูนย์บริการสาธารณสุข 51 จตุจักร เข้าสอบสวนโรค พบผู้ป่วยด้วยโรคตาแดง ที่มีอาการ ตาแดง ตาอักเสบ สะสมรวม 90 คน

โรคเยื้อบุตาอักเสบในคอนโด

เบื้องต้นเจ้าหน้าที่การประปานครหลวงได้ตรวจวัดคลอรีนอิสระตกค้างในน้ำจากการประปานครหลวง (จุดก่อนเข้าถังพักใต้ดิน) วัดได้ 1 พีพีเอ็ม ส่วนน้ำจากถังพักใต้ดินและบนดิน ไม่พบค่าคลอรีน (ค่ามาตรฐานน้ำปลายท่ออยู่ที่ 0.2-0.5 ppm.) เจ้าหน้าที่จึงได้ตรวจคลอรีนตกค้างอิสระ (Residual Free Chlorine) ในถังพักน้ำใต้ดิน ถังพักน้ำบนดาดฟ้า ผลปรากฏไม่พบคลอรีนตกค้าง (น้อยกว่า 0.2 ppm) ซึ่งไม่เป็นไปตามมาตรฐานน้ำประปา

ทางนิติบุคคลแจ้งว่าได้ส่งน้ำตรวจวิเคราะห์หาเชื้อก่อโรคเยื่อบุตาอักเสบ ได้แก่ น้ำประปาก่อนเข้าโครงการ น้ำจากถังพักน้ำใต้ดิน น้ำจากถังพักน้ำบนดาดฟ้า น้ำจากห้องของลูกบ้านที่ป่วย โดยส่งตรวจที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และโรงพยาบาลศิริราช ทางเจ้าหน้าที่ได้แนะนำให้เจ้าหน้าที่นิติบุคคลเติมคลอรีนในบ่อพักน้ำ และรักษาระดับคลอรีนให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน พร้อมทั้งเพิ่มความถี่ในการทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วม ได้แก่ ลิฟต์ พื้นที่ส่วนกลาง และห้ามไม่ให้ใช้สระว่ายน้ำ ซึ่งทางนิติบุคคลก็ได้รับปากว่าจะดำเนินการแก้ไขให้เรียบร้อย ทางเจ้าหน้าที่จึงยังไม่ได้ออกเอกสารคำแนะนำเป็นลายลักษณ์อักษร

โรคเยื้อบุตาอักเสบในคอนโด

ต่อมาในวันที่ 21 มิ.ย. 67 สำนักงานเขตได้เข้าตรวจสอบติดตามผลร่วมกับศูนย์บริการสาธารณสุข 51 จตุจักร โดยได้ส่งเอกสารข้อแนะนำ แนวทางการจัดการคุณภาพน้ำในอาคารสูงให้ทางนิติรับทราบ โดยได้เร่งรัดให้นิติบุคคล ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคฯ วันที่ 22 มิ.ย. 67 ฝ่ายอาคารสถานที่ของอาคารชุดฯ ได้เริ่มมีการเติมคลอรีนเพื่อฆ่าเชื้อ วันที่ 25 มิ.ย. 67 ผลตรวจวิเคราะห์น้ำพบว่าน้ำประปาจากบ่อพักน้ำชั้นใต้ดิน และน้ำประปาจากห้องลูกบ้าน จำนวน 5 ห้อง พบเชื้อก่อโรคตาแดง Acanthamoeba spp., trophozoites และฝ่ายอาคารได้ทำการล้างถังพักน้ำชั้นใต้ดินและเติมคลอรีนเพื่อให้ได้มาตรฐาน วันที่ 26 มิ.ย. 67 เจ้าหน้าที่จากศูนย์บริการสาธารณสุข ได้รับแจ้งว่ามีผู้ป่วยด้วยโรคเยื่อตาอักเสบเพิ่มขึ้น โดยพบว่ามีผู้ป่วยสะสม จำนวน 200 ราย

ทั้งนี้ วันที่ 1-2 ก.ค. 67 ลูกบ้านได้ร้องเรียนไปยังกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร ผ่านระบบ Traffy Fondue ขอให้เข้าตรวจสอบการแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคเยื่อบุตาอักเสบภายในอาคารชุด รวมถึงติดตามการบริหารงานของนิติบุคคลอาคารชุด ให้เป็นไปตามที่มาตรฐานหรือหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด เพื่อป้องกันการเกิดโรคระบาดและความเสียหายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน

วันที่ 3 ก.ค. 67 สำนักงานเขตจตุจักร ร่วมกับกลุ่มเฝ้าระวังและตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กองควบคุมโรคติดต่อ และศูนย์บริการสาธารณสุข 51 จตุจักร กรุงเทพมหานคร ได้ลงพื้นที่ร่วมติดตามผลการแก้ไขปัญหา ซึ่งจากการติดตามผลพบว่าทางอาคารชุด ได้มีการล้างทำความสะอาดถังพักน้ำและเช็คระบบท่อน้ำใช้ภายในอาคารประจำปี เมื่อเดือนธันวาคม 2566 และได้มีการล้างถังพักน้ำใต้ดิน มีการตรวจสอบบริเวณรอยรั่ว และมีการเติมคลอรีน

โรคเยื้อบุตาอักเสบในคอนโด

แต่คณะทำงานยังพบข้อบกพร่องด้านสุขลักษณะ โดยพบว่าถังพักน้ำอีก 3 บ่อ ยังไม่ได้รับการล้างและทำลายเชื้อด้วยวิธี Chlorine shock จึงไม่เป็นไปตามข้อปฏิบัติตามแนวทางการจัดการคุณภาพน้ำในอาคารสูง ของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข คณะทำงานจึงได้แนะนำให้มีมาตรการเป็นไปตามแนวทางการจัดการคุณภาพน้ำในอาคารสูง และแนวทางการบริหารจัดการป้องกันและควบคุมการปนเปื้อนเชื้อก่อโรคในระบบน้ำอุปโภคบริโภค

ทั้งนี้คณะทำงานได้สุ่มตรวจน้ำจากก๊อกห้องน้ำด้านล่างอาคารชุด ผลไม่พบคลอรีนอิสระตกค้าง จากนั้นวันที่ 4 กรกฎาคม 2567 สำนักงานเขตจตุจักร จึงได้มีหนังสือคำแนะนำให้ปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องด้านสุขลักษณะสถานที่ แก่นิติบุคคลอาคารชุด ดำเนินการ โดยให้รายงานผลการปฏิบัติการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคให้สำนักงานเขตจตุจักรทราบ เพื่อเป็นการกำกับติดตามและเฝ้าระวังการเกิดโรคระบาดฯ

ทั้งนี้ ในวันที่ 11 ก.ค.67 จะมีการลงพื้นที่ตรวจติดตามผลอีกครั้ง หากพบว่านิติบุคคลอาคารชุดดังกล่าวไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำที่ได้รับจะมีการออกคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นแก่นิติบุคคลอาคารชุดดังกล่าว และติดตามผลการดำเนินการต่อไป หากไม่ปฏิบัติตามคำสั่งฯ จะดำเนินการส่งแจ้งความดำเนินคดีแก่นิติบุคคลอาคารชุดตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข 2535 ต่อไป