กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) เตรียมหารือแบงก์ชาติ แบงก์พาณิชย์ ปล่อยกู้ซอฟต์โลนให้ผู้ประกอบการใช้ลงทุนเพิ่มประสิทธิภาพการประหยัดพลังงานดอกเบี้ย 2 ปีแรก 2%
ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่า การใช้พลังงานภายในประเทศที่ค่อนข้างสูง ส่งผลให้ต้องจ่ายเงินเกี่ยวกับพลังงานเป็นมูลค่ามหาศาล รัฐบาลจึงได้ประกาศให้การลดใช้พลังงานเป็นวาระสำคัญของประเทศ ที่ให้ทุกภาคส่วนลดการใช้พลังงาน ขณะเดียวกัน ทางพพ. ได้มีการเจรจากับธนาคารพาณิชย์ ในการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการอนุรักษ์พลังงานที่เหมาะสม
นอกจากนี้ พพ.ได้เตรียมที่จะหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และธนาคารพาณิชย์ ในการขอจัดสรรวงเงินในกรอบแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจวงเงิน 2.5 แสนล้านบาท เพื่อนำมากระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งวงเงินดังกล่าวมีส่วนที่สามารถนำมาสนับสนุนโครงการอนุรักษ์พลังงานทดแทนได้ โดยธปท.จะปล่อยสินเชื่อผ่านธนาคารพาณิชย์ในอัตราดอกเบี้ยที่ร้อยละ 0.01 และธนาคารปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการ ที่ต้องการเงินทุนไปเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน คิดอัตราดอกเบี้ยต่ำร้อยละ 2 ในช่วง 2 ปีแรก และปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีถัดๆไปแต่ไม่เกินร้อยละ 5
“ขณะนี้หลายๆ ธนาคารก็มีนโยบายปล่อยสินเชื่อพลังงานสะอาด ซึ่งจะทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการลดลง ทางพพ.จะหารือกับธปท.และธนาคารพาณิชย์ในสัปดาห์หน้า และกระบวนการทั้งหมดน่าจะเริ่มชัดเจนในเดือนพฤษภาคมนี้” ดร.ประเสริฐกล่าว
สำหรับมาตรการส่งเสริมการประหยัดพลังงานในระดับธุรกิจ ผ่านกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานนั้น ดร.ประเสริฐ กล่าวว่า ได้มีการใช้งบประมาณรวม 500 ล้านบาท ให้การสนับสนุนเงินลงทุน (20-30%) ในการใช้พลังงานทดแทนเพื่อลดต้นทุน มีผู้เข้าร่วมโครงการกว่า 900 ราย ส่งผลให้เกิดการลงทุนเพิ่มขึ้นเกือบ 3,000 ล้านบาท ประหยัดพลังงาน 84 ktoe หรือกว่า 1,260 ล้านบาทต่อปี โดยผลการดำเนินงานของแต่ละโครงการ ประกอบด้วย
1.โครงการสนับสนุนการลงทุนเพื่อปรับเปลี่ยนปรับปรุงเครื่องจักร อุปกรณ์เพื่อการอนุรักษ์พลังงาน ปี 2564 พพ.เข้าไปสนับสนุนค่าลงทุนบางส่วน 20-30% ให้แก่โรงงาน SMEs, Startup ผู้ประกอบการภาคเกษตร วงเงินสนับสนุนรวม 378 ล้านบาท มีสถานประกอบการได้รับการสนับสนุน 457 ราย ก่อให้เกิดการลงทุนในระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างน้อย 2,095 ล้านบาท ผลประหยัดที่จะเกิดขึ้น 20 ktoe หรือประหยัดได้เกือบ 1,000 ล้านบาท ลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 1.2 แสน tCO2
2.โครงการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานให้กับผู้ประกอบการขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร สนับสนุนค่าลงทุน 30% มีผู้เข้าร่วม 21 ราย วงเงิน 20 ล้านบาท กระตุ้นเงินลงทุนกว่า 72 ล้านบาท
3.โครงการสนับสนุนการใช้พลังงานในภาคครัวเรือน วงเงิน 103 ล้านบาท มีผู้ผ่านการพิจารณา 46 ราย
สำหรับความคืบหน้า อาคารที่เข้าร่วมโครงการอาคารอนุรักษ์พลังงาน มาตรฐาน Building Energy Code (BEC) ซึ่งจะบังคับใช้กับการออกแบบอาคารใหม่ หรือดัดแปลง ขนาดพื้นที่ตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตรขึ้นไปนั้น มีอาคารภาครัฐที่ผ่านการตรวจรับรองจำนวน 369 อาคาร และมีอาคารเอกชนที่สนใจจำนวน 322 อาคาร รูปแบบอาคาร BEC จะกระทบต่อต้นทุนก่อสร้างเฉลี่ยไม่เกิน 5% คืนทุนภายใน 3 ปี เจ้าของอาคารและผู้ใช้อาคารจะจ่ายค่าไฟลดลง และประเทศไทยจะประหยัดพลังงานได้มากกว่า 10% มีเป้าหมายภายใน 20 ปี จะสามารถประหยัดไฟฟ้าได้รวม 13,700 ล้านหน่วย หรือคิดเป็นมูลค่าเท่ากับ 47,000 ล้านบาท