fbpx
Samyan Mitrtown 2 e1644345709339

เฟรเซอร์สฯ ปิดจ๊อบปี 64 มีรายได้รวม 1.5 หมื่นล้าน ติดลบ 22%

เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ เผยผลประกอบการปี 64 มีรายได้รวมกว่า 1.5 หมื่นล้าน ลดลง 22% กำไร 1,869 ล้านบาท ลดลง 37% ปี 65 พร้อมเดินหน้าขยายฐานลูกค้าในทุกกลุ่มธุรกิจ

นายธนพล ศิริธนชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ผลประกอบการในไตรมาสล่าสุด (ตุลาคม-ธันวาคม 2564) บริษัทมีรายได้รวมจำนวน 4,043 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.4 และมีกำไรสุทธิ 749 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 396 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นการรับรู้กำไรจากการไถ่ถอนหน่วยลงทุนของเงินลงทุนในบริษัทร่วมจำนวน 381 ล้านบาท ขณะที่รายได้รวมตลอดปี 2564 (มกราคม-ธันวาคม 2564) คิดเป็น 15,613 ล้านบาท (ลดลง 22.3% เมื่อเทียบกับปี 2563) และมีกำไรสุทธิ 1,869 ล้านบาท (ลดลง 37.3% เมื่อเทียบกับปี 2563)

นอกจากนี้ บริษัทยังสามารถลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายรวมได้อย่างมีนัยยะสำคัญ ประกอบกับความสามารถในการผสานความร่วมมือระหว่างกลุ่มธุรกิจอสังหาฯ ทั้ง 3 ธุรกิจของบริษัทฯ (Synergy) และการกระจายความเสี่ยง (Diversified) ผ่านแพลตฟอร์มอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร ทำให้บริษัท สามารถสร้างกระแสเงินสดได้อย่างต่อเนื่องและมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง

การระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงและยืดเยื้อ โดยเฉพาะสายพันธุ์ Omicron ที่มีอัตราการแพร่เชื้อที่รวดเร็ว ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีที่ผ่านมา (ตุลาคม-ธันวาคม 2564) ทำให้ไม่สามารถทำกิจกรรมการขายและการตลาดได้อย่างเต็มที่ อีกทั้งหนี้สินครัวเรือนที่ทรงตัวในระดับสูง ส่งผลต่อยอดปฏิเสธสินเชื่อและการตัดสินใจซื้อบ้านของลูกค้าที่ลดลง

ทั้งนี้ ในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา (มกราคม-ธันวาคม 2564) กลุ่มธุรกิจ “เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮม” สามารถบันทึกรายได้รวมจำนวน 11,117 ล้านบาท จากการปรับกลยุทธ์การทำการตลาดออนไลน์ และพัฒนาสินค้าประเภทบ้านเดี่ยวและบ้านแฝดที่เป็นที่ต้องการของตลาด ทำให้สามารถขยายฐานลูกค้ากลุ่มเป้าหมายระดับกลางถึงบนที่มีกำลังซื้อสูง

สำหรับกลุ่มธุรกิจ “เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ อินดัสเทรียล” และ กลุ่มธุรกิจ “เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ คอมเมอร์เชียล” ที่สร้างกระแสรายได้ที่สม่ำเสมอให้แก่บริษัทบันทึกรายได้ที่ 2,178 ล้านบาทในปี 2564 (มกราคม-ธันวาคม) โดยธุรกิจโรงงานและคลังสินค้ายังมีอัตราการเช่ารวมสูงถึงร้อยละ 86

“ธุรกิจโรงงานและคลังสินค้ายังคงมีแนวโน้มความต้องการพื้นที่เช่าที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากการเติบโตของภาคธุรกิจในกลุ่มอีคอมเมิร์ซและอิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจน ได้รับผลบวกจากการที่ผู้ประกอบให้ความสำคัญกับการกระจายความเสี่ยงด้านโลจิสติกส์ และการย้ายฐานการผลิตเข้ามาในประเทศไทย อีกทั้งยังได้รับอานิสงส์ของสถานการณ์โควิด ทำให้มีความต้องการพื้นที่เช่าคลังสินค้าระยะสั้นที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง”

ด้านธุรกิจอาคารสำนักงานให้เช่ายังคงรักษาอัตราการเช่าได้ในระดับสูงกว่าร้อยละ 90 โดยมุ่งให้ความสำคัญกับกลยุทธ์การบริหารสัญญาเช่าอย่างยืดหยุ่น ร่วมกับการให้บริการอาคารสำนักงานเกรดเอคุณภาพสูงในย่านธุรกิจใจกลางเมือง

“สำหรับปี 2565 บริษัทจะเดินหน้าสู่การเป็นแบรนด์อสังหาฯครบวงจรชั้นนำของประเทศ ควบคู่กับการพัฒนานวัตกรรมสินค้าและบริการที่ทันสมัย เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา โดยเตรียมพร้อมที่จะสร้างการเติบโตด้วยการขยายฐานลูกค้าในทุกกลุ่มธุรกิจ” นายธนพล กล่าวเสริม