สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) ชี้เร่งปลดล็อกกฎหมาย ขับเคลื่อนทุนพลังงานสีเขียว ชูภาคอุตสาหกรรมเร่งเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสีเขียว ด้วยแนวคิดความร่วมมือ 3C (Collaborative Mindset-Collaborative Action-Collaborative Value) เดินหน้าต้นแบบเมืองคาร์บอนต่ำ “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์” ร่วมมือระดับโลก หนุนสร้างอุตสาหกรรมไทยแข็งแกร่ง เพิ่มโอกาสแข่งขันระยะยาวเวทีโลก
ดร. ชนะ ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) เปิดเผยในงานสัมมนาวิชาการประจำปี Energy Symposium 2024 จัดโดยสถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในหัวข้อ “การปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมให้สอดคล้องกับแผนพลังงานใหม่เพื่อมุ่งสู่ Carbon Neutrality” ว่า อุตสาหกรรมซีเมนต์ในไทยมีผู้ผลิตปูนซีเมนต์ 7 ราย อยู่ระหว่างเดินหน้าลดคาร์บอนอย่างต่อเนื่อง ตามโรดแมป Thailand 2050 Net Zero Cement and Concrete Roadmap รับรองโดย Global Cement and Concrete Association (GCCA) โดยการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) ก็ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการขับเคลื่อนต้นแบบเมืองคาร์บอนต่ำ “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์” SARABURI SANDBOX LOW CARBON CITY ที่วันนี้ มีความคืบหน้าเป็นอย่างมาก ในขณะเดียวกัน ก็ยังมีประเด็นต่างๆ ให้นำไปสู่การปรับลดข้อจำกัดลง เพื่อผลักดันทุกอย่างให้เดินหน้าตามแผนงานที่วางไว้
ผลักดันพลังงานสีเขียว
ดร.ชนะ กล่าวว่า “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์” ได้บูรณาการความร่วมมือ ภาครัฐ-ภาคเอกชน-ภาคประชาสังคม (Public-Private-People Partnership: PPP) ร่วมกันดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในจังหวัดสระบุรี โดยใช้กลไกหลักของภาครัฐขับเคลื่อน ภาคเอกชนสนับสนุนดำเนินงาน โดยประโยชน์ไปสู่ภาคประชาชน ตัวอย่างเช่น Grid Modernization แนวคิดการพัฒนาระบบส่งและระบบจำหน่ายไฟฟ้าที่ทันสมัย เพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนและการเปลี่ยนผ่านพลังงานไฟฟ้าที่เป็นคาร์บอนต่ำ ซึ่งเริ่มทดลองติดตั้งแผงโซลาเซลล์บนหลังคาอาคารจอดรถ (Solar Carport) ในศาลากลางจังหวัดสระบุรี โดยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเป็นผู้ลงทุน และนำโมเดลธุรกิจจัดการพลังงานไทย (ESCO) มาใช้กับการนำร่องในครั้งนี้
การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ยังมีการใช้เชื้อเพลิงทางเลือก (Alternative Fuels: AF) จากชีวมวล (Biomass) จากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Farm) และการใช้เชื้อเพลิงขยะ (Refuse Derived Fuel: RDF) เป็นต้น พร้อมกับการส่งเสริมการใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก หรือปูนซีเมนต์ลดโลกร้อน ในทุกงานก่อสร้างทั่วประเทศ แทนปูนซีเมนต์แบบเดิมที่ปล่อยคาร์บอนสูง โดยเตรียมยกเลิกการผลิตปูนซีเมนต์แบบเดิมในปี พ.ศ. 2568
ปลดล็อคข้อจำกัดกฎหมาย
ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน (Princeton University) มหาวิทยาลัยเอกชนระดับแนวหน้าในกลุ่ม Ivy League ของสหรัฐอเมริกา มาศึกษาศักยภาพพื้นที่และการใช้พลังงาน พบว่า จังหวัดสระบุรีมีความต้องการใช้พลังงานประมาณ 30,000 เมกะวัตต์ แต่โดยศักยภาพพื้นที่แล้วสามารถผลิตได้ถึง 1 แสน เมกะวัตต์
“วันนี้ อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ทำเรื่องเปลี่ยนผ่านพลังงานสะอาด โดยสมาชิกของ TCMA ซึ่งเป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์ของไทยทุกราย มีการใช้พลังงานทดแทน จากชีวมวล ขยะ RDF ขยะอุตสาหกรรม รวมถึงการรับซื้อหญ้าเนเปียร์มาใช้เป็นพลังงานทดแทน รวมแล้วประมาณ 30% โดยมีเป้าหมายเพิ่มมากกว่านี้ ซึ่งยังต้องการสนับสนุนจากภาครัฐปลดล็อคข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ในการอนุญาตให้ซื้อขายไฟฟ้าระหว่างผู้ผลิตและผู้ใช้งานได้โดยตรง และข้อระเบียบอื่น ๆ จะเป็นตัวเร่งให้การเปลี่ยนผ่านพลังงานสีเขียวขับเคลื่อนไปได้เร็วยิ่งขึ้น ในอนาคตมีความเป็นไปได้ว่า จังหวัดสระบุรีจะไม่ต้องการจัดการขยะ เพราะนำขยะมาผลิตพลังงานทดแทนใช้เองในพื้นที่ ช่วยลดต้นทุนพลังงานลงได้” ดร.ชนะ กล่าว
สอดคล้องกับคำกล่าวของนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่ว่า กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการนำแผนไปสู่การปฏิบัติ “รื้อ ลด ปลด สร้าง” จัดการสภาวะปัจจุบันที่เป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนผ่าน และปรับปรุงกฎระเบียบร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงอุตสาหกรรม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การไฟฟ้านครหลวง เป็นต้น เพื่อให้มีความทันสมัย ปลดล็อคกฎระเบียบที่ไม่จำเป็น ลดขั้นตอนให้ผู้ประกอบการ และช่วยอำนวยความสะดวกให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถปรับตัวสู่การเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าสะอาดใช้เอง เพื่อลดค่าใช้จ่ายทางธุรกิจและสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของตนเอง
ผลักดันลงมือทำร่วมกัน เชื่อมต่อระดับโลก
การทำงานในสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ ในรูปแบบ Public-Private-People Partnership (PPP) ส่งผลให้โครงการต้นแบบต่างๆ มีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง นับจากจุดเริ่มต้นที่ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ขับเคลื่อนเชิงพื้นที่ (Area Based) เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2566 นำโดยผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี สภาอุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรีประสานการทำงานในระดับพื้นที่ และ TCMA สนับสนุนเชื่อมโยงไปสู่ระดับประเทศและเวทีระดับโลก
“สระบุรีแซนด์บ็อกซ์เป็นความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน แนวคิดและรูปแบบการทำงานเชิงพื้นที่ก็ได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วน เข้ามาศึกษาและนำไปเป็นต้นแบบดำเนินงาน อย่างไรก็ดี การทำงานของสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ในก้าวต่อจากนี้ จะให้ความสำคัญกับความร่วมมือที่มีการพัฒนาโครงการที่น่าสนใจ และมีความเป็นไปได้ที่จะมาต่อยอด เพื่อผลักดันให้เกิดการลงมือทำร่วมกัน หรือ Collaborative Working ทั้ง Collaborative Mindset,Collaborative Action และ Collaborative Value เพื่อนำร่องไปสู่การพัฒนาที่สามารถใช้ได้จริงในอนาคต” ดร.ชนะ กล่าว
นอกจากนี้ TCMA เตรียมขยายผล นำ “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์” สร้างความร่วมมือในระดับนานาชาติให้มากขึ้นหลังจากที่ได้รับการยอมรับเป็นโมเดลต้นแบบการทำงาน โดยอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ของไทยที่ผสานความร่วมมือกับภาครัฐ-ภาคเอกชน-ภาคประชาสังคม (Public-Private-People Partnership: PPP) ทั้งในการประชุมสุดยอดผู้นำอุตสาหกรรมซีเมนต์และคอนกรีต GCCA CEO Gathering and Leader Conference 2024 ที่จัดขึ้นในประเทศไทย การประชุมด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับโลกที่นิวยอร์ค Climate Week New York City 2024 เมื่อเร็วๆนี้ โดย “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์” ได้รับการตอบรับเข้าร่วมใน Transitioning Industrial Clusters Initiative โดย World Economic Forum นับเป็นคลัสเตอร์กลุ่มอุตสาหกรรมแรกของไทย เป็นลำดับที่ 3 ของอาเซียน และเป็นลำดับที่ 21 ของโลก การทำงานร่วมกับ Global Cement and Concrete Association (GCCA) และการนำเสนอความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องในการประชุม COP นับแต่ครั้งที่ 27 เป็นต้นมา เพื่อเสริมพลังความร่วมมือแห่งการลงมือทำ
“TCMA มีมุมมองเชิงบวกในการทำงานร่วมกับภาคส่วนอื่น ๆ ทั้งกับหน่วยงานในประเทศ และต่างประเทศ การมี Thailand 2050 Net Zero Cement and Concrete Roadmapทำให้ TCMA มีความชัดเจนดำเนินงาน ทั้งด้านนโยบาย ด้านเทคโนโลยี และการแสวงหาเงินทุนสนับสนุน เข้ามาช่วยเร่งการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน สนับสนุนอุตสาหกรรมซีเมนต์ก้าวสู่ Net Zero 2050 และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรม” ดร. ชนะ กล่าว