fbpx
ACMECS Opportunities in the SEamless Connection

“ภาคเอกชนไทย” หนุนความร่วมมือ ACMECS ขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาคเติบโตอย่างยั่งยืน

“ภาคธุรกิจไทย” หนุนขับเคลื่อนความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง เชื่อมโยงภูมิภาคสู่การพัฒนาอย่างเท่าเทียมแบบไร้รอยต่อในระดับอนุภูมิภาค สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจจากระดับภูมิภาคไปสู่ระดับโลก พร้อมพัฒนานวัตกรรม มุ่งสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน

เวทีสัมมนา “Towards The Prosperous ACMECS” ที่จัดโดยสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (Thailand Management Association : TMA) ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) โดยเป็นส่วนหนึ่งของงาน 60 YEARS OF EXCELLENCE  ภาคธุรกิจเอกชนไทย หนุนให้ภาครัฐเร่งขับเคลื่อนความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง หรือ ACMECS (Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) ประกอบด้วย ประเทศไทย เมียนมาร์ ลาว กัมพูชา และเวียดนาม เพื่อสร้างความเติบโตอย่างเท่าเทียมกันในระดับอนุภูมิภาคพร้อมขยายการเติบโตทางเศรษฐกิจไปในระดับโลก

ดร.พสุ โลหารชุน ประธานกรรมการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) กล่าวเปิดการสัมมนาว่า ACMECS เป็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจในระดับอนุภูมิภาคที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลา 21 ปี เป็นเวทีสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับอนุภูมิภาคของทั้ง 5 ประเทศสมาชิก ที่จะมีส่วนร่วมกันในการพัฒนาพื้นที่และสร้างอัตราการเติบโตอย่างยั่งยืนในระดับภูมิภาคท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี ภูมิรัฐศาสตร์ โครงสร้างประชากร รวมไปถึงสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ที่ส่งผลกระทบต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาคอย่าง ACMECS เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพในการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้กับประเทศสมาชิก

ACMECS Oppotrunities in the Seamless Connection ()

ในขณะที่นายมนตรี เดชาสกุลสม รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาค ACMECS ว่า เป้าหมายสำหรับในการขับเคลื่อนความร่วมมือของ ACMECS คือ การเพิ่มขีดความสามารถในด้านการค้า การลงทุนของทั้ง 5 ประเทศสมาชิกที่มีประชากรรวมกันมากกว่า 230 ล้านคน โดยที่ผ่านมาได้มีความร่วมมือและข้อตกลงในการพัฒนาศักยภาพของทั้ง 5 ประเทศ โดยมีการจัดทำแผนแม่บทระยะ 5 ปี หรือ Master Plan ระหว่างปี 2562-2566 ในการประชุมที่กรุงเทพฯ เมื่อปี 2561 โดยมี 3 เป้าหมายหลักในการพัฒนาคือ การเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อในอนุภูมิภาค (Seamless Connectivity), การสอดประสานด้านเศรษฐกิจ (Synchronized ACMECS) และ การพัฒนาภูมิภาคอย่างยั่งยืนและมีนวัตกรรม (Smart and Sustainable ACMECS)

ด้านการเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อในอนุภูมิภาค นายมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลไทยโดยกระทรวงคมนาคมได้มีการเสริมสร้างการเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อ โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเชื่อมโยงการคมนาคมระหว่างประเทศสมาชิกทั้งทางบก น้ำ และอากาศ เพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างกัน โดยไทยมีการลงทุนพัฒนาระบบรางอย่าง รถไฟรางคู่ เพื่อเชื่อมต่อทางเหนือของไทยเส้นทาง เด่นชัย-เชียงของ 167 กิโลเมตร เส้นทางฉะเชิงเทรา-แก่งคอย 106 กิโลเมตร, เส้นทาง จิระ-ขอนแก่น 157 กิโลเมตร, เส้นทางนครปฐม-หัวหิน 169 กิโลเมตร, เส้นทางลพบุรี-ปากน้ำโพ 148 กิโลเมตร รวมถึงการลงทุนรถไฟความเร็วสูง 253 กิโลเมตรจากกรุงเทพฯ ไปนครราชสีมา และจากนครราชสีมา ไปหนองคาย 356 กิโลเมตร รวมไปถึงการลงทุนรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน แต่ละเส้นทางเชื่อมการคมนาคมขนส่งในประเทศไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน 

นอกจากการพัฒนาระบบรางแล้ว กระทรวงคมนาคมยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบการขนส่งทางน้ำ การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังมูลค่า 114,000 ล้านบาท รวมถึงการพัฒนาการขนส่งทางบก สร้างโครงข่ายถนนเพื่อเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน และพัฒนาสนามบินในประเทศเพื่อรองรับกับการเติบโตของการเดินทาง ถือเป็นการสร้างการเชื่อมโยงเพื่อให้เกิดการค้าและการลงทุนในระดับอนุภูมิภาคมีการเติบโตเพิ่มขึ้น นายมนตรี กล่าว

“การลงทุนระบบการคมนาคมภายในประเทศ หลายเส้นทางเป็นการเชื่อมโยงต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้านทั้ง ลาว เมียนมาร์ กัมพูชา และ เวียดนาม เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อ เพราะโครงสร้างคมนาคมขนส่งในทุกระบบ เป็นส่วนหนึ่งของการกระตุ้นให้เกิดการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ” รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าว 

“ภาคเอกชนไทย” รุกลงทุนใน ACMECS หนุนการเชื่อมโยงระดับอนุภูมิภาค

ในขณะเดียวกัน นายนฤชา ฤชุพันธุ์ รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (Board of Investment : BOI หรือ บีโอไอ)  กล่าวว่า ACMECS เปิดโอกาสสำหรับการลงทุนของภาคธุรกิจไทยในประเทศสมาชิกของ ACMECS มากขึ้น  ในส่วนของ บีโอไอ ปัจจุบัน นอกจากสนับสนุนให้ภาคธุรกิจต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศไทยแล้ว ยังมีการสนับสนุนให้ภาคธุรกิจไทยเข้าไปลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศในระดับอนุภูมิภาค ACMECS โดยมีการเปิดอบรมหลักสูตรให้นักลงทุนไทยไปลงทุนในต่างประเทศ โดยมีผู้เข้ารับการอบรมจากบีโอไอ เข้าไปลงทุนในกลุ่มประเทศ ACMECS มากกว่า 300 ราย

“การขยายการลงทุนจากไทยไปในกลุ่มประเทศระดับอนุภูมิภาค เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค ให้มีความแข็งแกร่งและเติบโตไปพร้อมกัน เป็นส่วนหนึ่งของการลดช่องว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ไม่เท่าเทียมกัน เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างการสอดประสานด้านเศรษฐกิจ (Synchronized ACMECS) และ การพัฒนาภูมิภาคอย่างยั่งยืนและมีนวัตกรรม (Smart and Sustainable ACMECS)” นายนฤชา กล่าว 

นายเวทิต โชควัฒนา รองประธานและประธานสายงานอาเซียน และ โลจิสติกส์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและหอการค้าไทย และกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงความสำคัญของ ACMECS ต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับอนุภูมิภาคว่า ACMECS มีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน ก่อนที่จะไปสู่อาเซียน ACMECS เป็นส่วนสำคัญที่จะสร้างความแข็งแกร่งในระดับอนุภูมิภาคก่อนที่จะก้าวไปสู่ในระดับภูมิภาค

“จริงๆ เรามีความร่วมมือนี้มานานถึง 20 ปี แต่การขับเคลื่อนของ ACMECS ขาดการทำงานร่วมกันและนำไปปฏิบัติ อย่างไรก็ตามเมื่อ 6 ปีที่แล้ว ที่เริ่มมีการทำกรอบการทำงานร่วมกันอย่างจริงจัง เราได้มีการตั้งกองทุนของ ACMECS วงเงิน 500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อพัฒนาและสนับสนุนการลงทุนของกลุ่มประเทศ ACMECS ซึ่งผมมองว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ในการขับเคลื่อน ACMECS ให้สามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม” นายเวทิต กล่าว 

ในส่วนของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายเวทิต กล่าวว่า สภาอุตสาหกรรมฯ ให้ความสำคัญกับความร่วมมือด้านการลงทุนร่วมกันในกลุ่มประเทศ ACMECS โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาฝีมือแรงงาน และบุคลากร รวมไปถึงเรื่องของการลงทุน ซึ่งเราพร้อมสนับสนุนให้กลุ่มประเทศ ACMECS เติบโตไปพร้อมกัน 

นายแพทย์ตนุพล วิรุฬหการุญ ประธานคณะผู้บริหาร บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก และ บีดีเอ็มเอส เวลเนส รีสอร์ท บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า กลุ่มประเทศสมาชิก ACMECS มีประชากรรวมกันกว่า 230 ล้านคน เป็นโอกาสที่ดีในการพัฒนาธุรกิจร่วมกันโดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Wellness ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีอัตราการเติบโตทั่วโลกเฉลี่ย 9% ต่อปี มีมูลค่าตลาดสูงถึง 6.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี พ.ศ. 2567 และคาดว่าจะแตะ 8.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในปีพ.ศ. 2570  และเมื่อคำนวณเฉพาะ Wellness Tourism คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 651,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี พ.ศ. 2567 

การเติบโตของ Wellness Tourism เป็นโอกาสสำหรับอนุภูมิภาค ACMECS เนื่องจากกลุ่มประเทศ ACMECS มีองค์ประกอบสำคัญในการพัฒนา Wellness Tourism ร่วมกันประกอบด้วย การมีธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสำหรับการพักผ่อน, อาหารเพื่อสุขภาพจากสมุนไพรที่หลากหลาย, มีความสามารถในกการให้บริการ และ Hospitality, มีวัฒนธรรม, และ มีการให้บริการทางการแพทย์ที่ดี เมื่อรวมทุกองค์ประกอบแล้ว ถ้าเราสามารถขับเคลื่อน ACMECS ให้เป็นศูนย์กลางในการพัฒนา Wellness Tourism ก็จะเป็นโอกาสสำหรับการเติบโตในภูมิภาค นายแพทย์ตนุพล กล่าว

อย่างไรก็ตาม นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้ความเห็นว่า ความร่วมมือระดับอนุภูมิภาค ACMECS นอกจากจะคำนึงถึงเรื่องของเศรษฐกิจแล้ว สิ่งสำคัญต้องคำนึงถึงความร่วมมือกันในด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม 

“จุดเริ่มต้นของ ACMECS มาจากแนวคิดที่ว่า เราจะลดความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศในอนุภูมิภาคได้อย่างไร ความเหลื่อมล้ำไม่ได้มีแค่เรื่องเศรษฐกิจ แต่รวมไปถึงความเหลื่อมล้ำในเรื่องของการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ความรู้ นวัตกรรม ดังนั้นเมื่อพูดถึงความร่วมมือการเชื่อมโยงกันอย่างไร้รอยต่อ การสอดประสานด้านเศรษฐกิจ และ การพัฒนาภูมิภาคอย่างยั่งยืนและมีนวัตกรรม เราต้องให้ความสำคัญกับความร่วมมือในการรับมือกับเรื่องของภัยพิบัติที่เกิดขึ้นร่วมกัน อย่าง ปัจจุบันมีปัญหาเรื่องน้ำท่วม ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในไทย แต่ยังเกิดขึ้นกับประเทศในกลุ่มอนุภูมิภาค ACMECS เราต้องคำนึงถึงความร่วมมือร่วมกันในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นร่วมกัน นายวีระศักดิ์ กล่าว 

ต่อยอดความเชื่อมโยง สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

รองศาสตราจารย์ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการบริหาร มูลนิธิอาเซียน กล่าวถึงความสำคัญของ ACMECS ว่า เป็นส่วนหนึ่งของการเร่งให้เกิดการเจริญเติบโต ลดความเหลื่อมล้ำของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับอนุภูมิภาคที่สำคัญ ถึงแม้ ACMECS จะก่อตั้งมา 21 ปี แต่เพิ่งจะมีการวางกรอบการทำงานที่ชัดเจนในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา มีแผนการทำงานครั้งแรกในการประชุมเมื่อปี 2561 จนเกิดแผนแม่บทในการพัฒนา 5 ปี ตั้งแต่ปี 2562-2566 มีการลงทุนเพื่อเชื่อมโยงระบบการคมนาคม ระหว่างกลุ่มประเทศสมาชิก มีการพูดถึงการพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกัน เนื่องจากปัจจุบันความขัดแย้งในระดับภูมิรัฐศาสตร์มีมากขึ้น และนำไปสู่ความขัดแย้งทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค ที่เห็นได้ชัดคือความขัดแย้งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจระหว่าง จีน กับ สหรัฐอเมริกา เริ่มมีการปฏิเสธแนวคิดในเรื่องของการค้าเสรี มาสู่การกีดกันทางการค้ามากขึ้น ความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาคอย่าง ACMECS จะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความแข็งแกร่งในระดับภูมิภาค

“แนวคิดในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในโลกปัจจุบันต้องให้ความสำคัญกับการประหยัดจากขนาด (Economy of Scale) เพื่อดึงดูดการค้าการลงทุนกลับเข้ามา รวมไปถึงความเร็วในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (Economy of Speed) ไปจนถึงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยคำนึงถึงขอบเขตในการทำธุรกิจ (Economy of Scopes) ระบบที่มีการตัดพ่อค้าคนกลาง การวางระบบ Supply Chain ที่เหมาะสม ไปจนถึงการคำนึงถึงเรื่องของสภาพแวดล้อม จริยธรรมและธรรมาภิบาลในการทำธุรกิจ ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้ คือองค์ประกอบสำคัญในการขับเคลื่อน ACMECS สู่การเป็นความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาคที่เชื่อมโยง และเติบโตไปพร้อมกันอย่างยั่งยืน” ผู้อำนวยการบริหาร มูลนิธิอาเซียน กล่าว 

ในขณะที่ นายบรรณ เกษมทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัท เอสซีจี เจดับเบิ้ลยูดี โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับอนุภูมิภาค ACMECS ว่า ปัจจุบันโลกธุรกิจก้าวเข้าสู่ De-Globalization มีแนวคิดเรื่องของการกีดกันทางการค้ากันมากขึ้น ทำให้การทำธุรกิจในปัจจุบันต้องปรับตัวรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยการนำนวัตกรรม มาใช้และพัฒนาไปพร้อมกับเรื่องของความยั่งยืน 

“ความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาคACMECS ในส่วนของธุรกิจ logistics เราต้องให้ความสำคัญในการพัฒนา Green Logistics โดยการนำนวัตกรรมมาใช้ในการพัฒนาการให้บริการแก่ลูกค้า ลดมลภาวะในการดำเนินธุรกิจ รวมไปถึงการสร้างธุรกิจที่ยั่งยืนร่วมกันในระดับอนุภูมิภาค ความร่วมมือที่เกิดขึ้นในระดับอนุภูมิภาค ผมมองว่า เป็นสิ่งที่ดีต่อการพัฒนาระบบ logistics ของไทยและในระดับอนุภูมิภาค ที่รัฐบาลต้องขับเคลื่อนให้สามารถดำเนินการได้ในทางปฏิบัติต่อไปโดยเฉพาะความร่วมมือในการสร้าง Green Logistics” นายบรรณ กล่าว 

ด้านนายวริษฐ์ รัตนชื่น ผู้ช่วยผู้ว่าการ วิจัย นวัตกรรม และ พัฒนาธุรกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGAT) กล่าวว่า ปัจจุบัน EGAT เข้าไปลงทุนในลาว เมียมมาร์ ในการพัฒนา พลังงานทางเลือก หรือ พลังงานสีเขียว โดยการเข้าไปลงทุน EGAT จะให้ความสำคัญกับเรื่องของการพัฒนาและการเติบโตไปด้วยกัน และ คำนึงถึงการพัฒนาที่แตกต่างกันของสมาชิกในระดับภูมิภาค เวลาที่เข้าไปลงทุนในแต่ละประเทศ EGAT จะออกแบบการลงทุนให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน ต้องเข้าใจบริบทของประเทศเพื่อนบ้าน พร้อมทั้งค่อยๆ พัฒนาประเทศเพื่อนบ้านไปพร้อมๆ กัน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และทำให้เกิดการพัฒนาที่เท่าเทียมกันได้ในอนาคต 

นายวสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบัน เบทาโกร เข้าไปลงทุนใน เมียนมาร์ ลาว โดยมีเป้าหมายในการสร้างการลงทุนอย่างยั่งยืนในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน รวมไปถึงการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืนทั้งในประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้านที่เข้าไปลงทุน การมีกรอบความร่วมมือ ACMECS มีส่วนช่วยในการขยายและสร้างตลาดในระดับอนุภูมิภาค ที่มีประชากรมากกว่า 230 ล้านคน 

“แนวทางการสร้างการเกษตรยั่งยืนในประเทศไทยและในระดับอนุภูมิภาคที่สำคัญคือ การพัฒนาระบบชลประทานที่ดี การมีกลุ่มเกษตรกร หรือ สหกรณ์การเกษตรที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพในการบริหารและจัดการกระบวนการทำการเกษตรที่มีคุณภาพ และ การมีตลาดกลางที่ดีในการบริหารจัดการ เมื่อมีทั้งสามส่วนนี้จะขับเคลื่อนให้เกิดเกษตรที่ยั่งยืนได้ทั้งในไทยและในกลุ่มอนุภูมิภาค ACMECS เป็นกรอบความร่วมมือที่ดีที่จะสร้างการเกษตรที่ยั่งยืนร่วมกัน” นายวสิษฐ กล่าว 

ดร.เบญจรงค์ สุวรรณคีรี รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กลุ่มประเทศอนุภูมิภาค ACMECS ถือเป็นกลุ่มประเทศที่สำคัญ โดยมีการค้ากับไทยคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 9% จากมูลค่าการค้าต่อปีของไทย ความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาค ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างการเติบโตร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก ทั้งการเติบโตด้านเศรษฐกิจ สังคม และ สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ที่ต้องทำงานร่วมกันในระดับภูมิภาค ท่ามกลางภาวะที่เผชิญกับภาวะโลกร้อน กันทั่วโลก

“ปัจจุบันธนาคารฯ ปล่อยกู้ให้กับหลายโครงการที่ลงทุนอยู่ใน ACMECS ประเทศไทยถือเป็นแหล่งตลาดเงินที่สำคัญของประเทศสมาชิกในอนุภูมิภาค ซึ่งต้องพัฒนาร่วมกันต่อไป โดยเฉพาะระบบการใช้จ่ายเงินระหว่างประเทศสมาชิก โดยเฉพาะการพัฒนา QR Code Payment ระหว่างประเทศ เพื่อให้การพัฒนาระบบการเงินระหว่างประเทศอยู่ในมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งจะทำให้การพัฒนาระบบของประเทศสมาชิกมีอัตราการเติบโตและพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกัน” ดร.เบญจรงค์ กล่าว