fbpx
CFP news scaled

ยิปซัมตราช้าง มุ่งรักษาสิ่งแวดล้อม ชูธุรกิจยิปซัมคาร์บอนต่ำ ล่าสุดคว้าฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ผลิตภัณฑ์

ในปัจจุบันภาวะโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยังคงเป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคธุรกิจ จากรายงาน IPCC (Intergovernmental Panel on Climate Change) ชี้ให้เห็นว่าแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจก มาจากภาคพลังงาน ร้อยละ 35 รองลงมาคือภาคอุตสาหกรรม คิดเป็นร้อยละ 18 รวมถึงภาคอาคารวัสดุก่อสร้างคิดเป็นร้อยละ 8

ยิปซัมตราช้าง ผู้นำด้านผลิตภัณฑ์แผ่นยิปซัม และนวัตกรรมระบบฝ้าเพดานและผนังยิปซัมในประเทศไทยตระหนักถึงความสำคัญของ “ธุรกิจคาร์บอนต่ำ” และพร้อมเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยภาคธุรกิจลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ด้วยการขึ้นทะเบียนฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ผลิตภัณฑ์ จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก.

ธุรกิจคาร์บอนต่ำคืออะไร
คุณจรุง กาญจนภูมิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามอุตสาหกรรมยิปซัม (สระบุรี) จำกัด เผยเทรนด์การทำธุรกิจว่า ขณะนี้โลกกำลังมุ่งสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ ภาคธุรกิจก็เช่นเดียวกัน ที่ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น โดย ยิปซัมตราช้าง กำลังเดินหน้าเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ต่ำที่สุดและต้องทำอย่างต่อเนื่อง

“ปัจจุบันเราเป็นบริษัทผู้ผลิตแผ่นยิปซัมรายแรกในประเทศไทยที่ได้รับฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ผลิตภัณฑ์ ซึ่งมั่นใจได้ว่าตัวผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิต การใช้งาน ตลอดจนการกำจัดเศษซากจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลง”

สร้างมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจ ใส่ใจตลอดห่วงโซ่อุปทาน
คุณจรุง กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ปัจจุบันกฎหมายจะไม่ได้บังคับใช้ในเรื่องฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ แต่เราเข้าใจและตระหนักดีถึงความสำคัญและยังคงเดินหน้าสร้างโมเมนตัมผลักดันให้ภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันธุรกิจเองจะได้รับผลพลอยได้จากการดำเนินงานเรื่องนี้ในเชิงการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองแล้ว ได้แก่ แผ่นยิปซัมมาตรฐาน ตราช้าง พลัส ความหนา 9 มม. แผ่นยิปซัมทนชื้น ตราช้าง พลัส ความหนา 9 มม. และแผ่นยิปซัมทนไฟ ตราช้าง ความหนา 15 มม.

“เราใส่ใจทุกกระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำจนปลายน้ำ เริ่มตั้งแต่วัตถุดิบ ขั้นตอนการผลิตจากฐานผลิตหลักที่จังหวัดสระบุรี การกระจายสินค้า และการใช้ประโยชน์ ตลอดจนการกำจัดซากที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้”

นอกจากนี้การเลือกใช้ฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ผลิตภัณฑ์ เป็นส่วนหนึ่งของเกณฑ์การประเมินอาคารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ได้แก่ มาตรฐาน TREES (Thai’s Rating of Energy and Environmental Sustainability) โดยสถาบันอาคารเขียวไทย (TGBI) รวมถึงการประเมินมาตรฐานอาคารเขียว หรือ LEED (Leadership in Energy & Environmental Design) ซึ่งเป็นระบบการรับรองอาคารที่ยั่งยืนที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ซึ่งถือเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ภาคธุรกิจ

ด้านคุณยุทธศักดิ์ นฤชัยปราโมทย์ ผู้อำนวยการฝ่ายสถาปัตยกรรม บริษัท สยามอุตสาหกรรมยิปซัม (สระบุรี) จำกัด อธิบายถึงความสำคัญของฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ผลิตภัณฑ์ ที่ช่วยประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมขององค์กร นำไปสู่การหาแนวทางในการลดก๊าซเรือนกระจก ตลอดจนยังสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และลูกค้าด้วย

“ประโยชน์สำหรับเจ้าของโครงการคือ การสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่โครงการนั้น ๆ และยังตอกย้ำความตั้งใจที่จะรับผิดชอบต่อสังคม ขณะที่ลูกค้าตรงของโครงการ หรือเจ้าของบ้าน จะมั่นใจได้ว่าเขาอยู่ในอาคารที่มีวัสดุก่อสร้างผ่านเกณฑ์มาตรฐานฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ในขณะที่กลุ่มนักออกแบบหรือสถาปนิก จะมั่นใจได้ว่างานที่ออกแบบมีการสเปกงานจากผลิตภัณฑ์เพื่ออุตสาหกรรมเชิงนิเวศ”

เกณฑ์ในการประเมิน
คุณยุทธศักดิ์ สรุปหลักง่าย ๆ ว่าการพิจารณามาจากการคิดค่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของช่วงวัฏจักรชีวิตแต่ละผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ การผลิต การกระจายสินค้า การใช้ประโยชน์และการกำจัดซาก โดยผลิตภัณฑ์ที่ผ่านเกณฑ์มี 3 รุ่น ได้แก่ แผ่นยิปซัมมาตรฐาน ตราช้าง พลัส ความหนา 9 มม. ได้ค่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์ที่ 3.43 ในขณะที่แผ่นยิปซัมทนชื้น ตราช้าง พลัส ความหนา 9 มม. ได้ 3.35 และ แผ่นยิปซัมทนไฟ ตราช้าง ความหนา 15 มม. ได้ 7.98

คุณจรุง ปิดท้ายว่า การขอฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ผลิตภัณฑ์ สอดคล้องกับนโยบายการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนของเราที่มีมายาวนานกว่า 10 ปี นอกจากนี้ ยิปซัมตราช้าง ได้รับรางวัลต่างๆ มากมายด้านสิ่งแวดล้อม เช่น รางวัลโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Factory) รวมถึงการดำเนินการเรื่องการประเมินวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ หรือ LCA (Life Cycle Assessment) ตลอดจนมาตรฐานสิ่งแวดล้อม EPD (Environmental Product Declaration) ที่เราได้ทำมาตลอด และยังมุ่งมั่นเดินหน้ายกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างไทยให้เติบโตเพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ดูแลสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน