สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกันสรุปประเด็น “บทบาท สอวช. ในเวทีระดับโลก COP29” หรือ การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 29
ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวว่า สอวช. เป็นตัวแทนประเทศไทย เข้าร่วมประชุมในเวทีระดับโลก ในฐานะนักเจรจาในประเด็นการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) มาตั้งแต่การประชุม COP15 (ค.ศ. 2009) ที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ในสมัยที่ยังเป็นสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็น สอวช. เมื่อ 5 ปีที่แล้ว โดยการเจรจาจะเป็นรูปแบบทวิภาคี มีผู้แทนจากประเทศต่าง ๆ หลายร้อยคน ถกกันในประเด็นปัญหาของแต่ละประเทศจนตกผลึกเป็นข้อกำหนดที่ใช้ร่วมกันได้ ซึ่ง สอวช. ได้อยู่ในเวทีดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
ดร.สุรชัย กล่าวว่า สำหรับประเด็นหลักในการเจรจาคือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อมอีกต่อไป แต่เชื่อมโยงในทุกมิติ ทั้งภัยพิบัติ เศรษฐกิจ ปากท้อง ภาษี การเงิน ฯลฯ ดังนั้น บทบาทของ สอวช. ที่ดูแลนโยบายทางด้านอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย ตลอดจนเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ จึงเกี่ยวข้องโดยตรงและเป็นเรื่องที่ต้องขับเคลื่อนอย่างจริงจัง ทั้งเวทีในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังมองว่าเรื่อง Climate Change ควรอยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอน ที่ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจอย่างมาก โดยเฉพาะเกี่ยวข้องกับการดำรงอยู่ของอุตสาหกรรมที่ต้องปรับตัวตามกติกาโลกในการใช้เทคโนโลยีสีเขียวในกระบวนการผลิต
ดร.สุรชัย กล่าวอีกว่า สอวช. ยังทำหน้าที่เป็นหน่วยประสานงานกลางด้านการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย (National Designated Entity: NDE Thailand) จากประเทศพัฒนาแล้วมาสู่ประเทศไทย โดยตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมา เราเป็นประเทศได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีภายใต้กลไกลนี้ ถึงกว่า 10 โครงการ ติดอันดับต้น ๆ ของโลก ขณะเดียวกันในปัจจุบันได้รับการสนับสนุนงบประมาณถ่ายทอดเทคโนโลยีจากกลไกนี้ ในการทำยุทธศาสตร์ไฮโดรเจน และขอการสนับสนุนเรื่องการประกันภัยพืชผลทางการเกษตร โดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาช่วย
“สิ่งที่ สอวช. ต้องการทำในอนาคต คือการขอทุนสนับสนุนจากกองทุนภูมิอากาศสีเขียว (Green Climate fund: GCF) ซี่งกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วกำหนดเป้าหมายใหม่ในการระดมทุน ในรอบ 15 ปี จากเดิม 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ปรับเป็น 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ภายในปี ค.ศ. 2035 รวมถึงการปลดล๊อคการระดมทุน 1,300,000ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี จากภาครัฐและภาคเอกชน ดังนั้น จึงต้องกลับมาดูว่า เรามีศักยภาพเพียงพอหรือไม่ ที่จะเอาเงินมาลงทุนทางด้านเทคโนโลยี แต่สิ่งที่ฝันก็คือ เราอยากได้เงิน 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มาลงทุนด้านเทคโนโลยีการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การใช้ประโยชน์และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture Utilization and Storage: CCUS) รวมถึงลงทุนด้านไฮโดรเจน ด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์ที่มีความปลอดภัยสูง (SMR) และเทคโนโลยีนิวเคลียร์แบบโมดูลาร์ขนาดเล็ก (MMR) ที่เราพยายามทำอยู่ เป็นต้น” ดร.สุรชัย กล่าว
ด้าน ดร.ศรวณีย์ กล่าวว่า ใน COP29 สอวช. ได้มีโอกาสทำหลายบทบาทอาทิ ร่วมเสวนาในกิจกรรมคู่ขนาน ร่วมกับนักวิชาการ ผู้แทนรัฐบาล องค์กรเอกชน และองค์กรระหว่างประเทศด้าน Climate Change จำนวน 3 เวทีเสวนา เพื่อสะท้อน แลกเปลี่ยน สื่อสารภารกิจและการขับเคลื่อนของ สอวช. ในการบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ โดยเฉพาะการนำนวัตกรรมเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาประยุกต์ใช้เพื่อส่งเสริมและเชื่อมโยงบทบาทของภาคเอกชน ที่ต้องปรับตัวตามกติกาโลก และเชื่อมต่อระดับนานาชาติ โดยได้นำเสนอโปรแกรมที่ สอวช. ดำเนินการอยู่คือ Net Zero Campus, National Innovation System ที่มีความพยายามขับเคลื่อน Climate Technology ในเชิงพาณิชย์ต่อไป และการพัฒนาพลังงานไฮโดรเจน นอกจากนี้ สอวช. ยังได้ร่วมกับ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ออกแบบการนำเสนอความก้าวหน้าในนวัตกรรมของภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการลดก๊าซเรือนกระจกของภาคส่วนต่าง ๆ ใน Innovation zone ภายใต้พื้นที่ Thai pavilion ที่แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจและเอาจริงเอาจังของประเทศไทย ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากหลายประเทศทั่วโลก ขณะเดียวกัน สอวช. ยังได้เป็นผู้เจรจาในการประชุมคณะกรรมาธิการย่อยด้านการนำไปปฏิบัติ(Subsidiary Body for Implementation: SBI) โดย สอวช. ติดตามในประเด็นด้านการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี (Technology Development and Transfer) ซึ่งมีหลายประเด็นที่เป็นการดำเนินงานภายใต้ข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งเป็นกรอบแนวทางที่มีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ โดยเนื้อหาสำคัญเสนอถึงความก้าวหน้าในความร่วมมือของแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกลไกเทคโนโลยี กิจกรรมและความพยายามในการดำเนินงานร่วมกัน
ดร.ศรวณีย์ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ สอวช. มีโปรแกรมใหญ่ที่ได้เข้าไปช่วยคือ “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์” ที่ทำงานร่วมกับ สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) บริษัทปูนซีเมนต์ไทย (SCG) สภาอุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรี และ จังหวัดสระบุรี ในการสร้างเมืองต้นแบบคาร์บอนต่ำ นอกจากนี้ ยังได้ดูเรื่อง CCU ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมในการลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และกำลังดูว่าเราจะเปลี่ยนผ่านห่วงโซ่อุปทานสีเขียวนี้ได้อย่างไร ขณะเดียวกันเราได้ทำเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่ สอวช. มีต้นทุนด้านวิชาการเชิงระบบที่แข็งแรง โดยร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) และกำลังดูว่าเราจะทำนโยบายนวัตกรรมอย่างไรให้เกิดการจับคู่ระหว่างธุรกิจขนาดใหญ่กับเอสเอ็มอีเพื่อการเปลี่ยนผ่านธุรกิจ นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) พัฒนา BCG Indicator ต่อยอดเป็น GEI (Green Enterprise Indicator) พัฒนาสู่มาตรฐานแห่งชาติ ร่วมกับสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) และสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ (สรอ.) เพื่อช่วยให้เอสเอ็มอีปรับตัว โดยการใช้นวัตกรรมสีเขียว (Green Innovation) ด้วย ทั้งนี้ทุกๆ การดำเนินงานจะต้องมีแพลตฟอร์มที่ชัดเจน ซึ่งมีระบบนิเวศที่เอื้อต่อการทำงานเชิงระบบอาทิ การได้รับงบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐ กฎระเบียบและตัวชี้วัดของแต่ละหน่วยงานที่เอื้อต่อการทำงานร่วมกัน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นกับภาพรวมของประเทศต่อไป